ศาลปกครองกลางพิพากษา เพิกถอนใบสั่ง-กำหนดค่าปรับจราจรของตำรวจ

ใบสั่ง-ค่าปรับ
ภาพจาก AFP

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เพิกถอนใบสั่ง-กำหนดค่าปรับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ ก.ค. 2563 “ชี้เป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หลังมีผู้ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับ ผบ.ตร. “บิ๊กโจ๊ก” เตรียมอุทธรณ์คำพิพากษา แจ้งตำรวจแจกใบสั่งแบบเดิมไปก่อน

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 เพจ “ทนายเจมส์ LK” โพสต์ข้อความระบุว่า “ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่ง

เจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2563 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว และยกฟ้องในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1

คอยติดตามครับว่า จะมีฝ่ายใดอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นหรือไม่ และคดีนี้จะจบลงอย่างไร

ที่สำคัญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับค่าปรับที่รับเงินจากประชาชนไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 อย่างไร ใบสั่งที่ออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีการชำระค่าปรับจะต้องทำอย่างไร และหลังจากที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาแล้ว สตช.จะยังคงออกใบสั่งโดยอาศัยประกาศฉบับดังกล่าวอีกหรือไม่”

นอกจากนี้ ทนายเจมส์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “รอสำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงข่าวอย่างเป็นทางการนะครับเกี่ยวกับใบสั่งที่ส่งไปรษณีย์มาให้ประชาชนจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และที่ประชาชนชำระเงินไปแล้วจะทำอย่างไร เรียกคืนได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ที่ออกใบสั่งมีผลประโยชน์จากค่าปรับหรือไม่ และหากมีจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2563 โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (นางสุภา โชติงาม) ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของรถยนต์และผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 20 ก.ค. 2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 20 ก.ค. 2563 ที่ออก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ADVERTISMENT

เนื่องจากประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญานั้น การลงโทษผู้กระทำความผิดได้ จะต้องปราศจากข้อสงสัย

แต่ปรากฏว่ารูปแบบใบสั่งที่กำหนดขึ้นใหม่ตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 ได้ตัดสาระสำคัญในส่วนของการปฏิเสธการกระทำความผิดตามใบสั่ง บันทึกของผู้ต้องหา และบันทึกของพนักงานสอบสวน กำหนดไว้เพียงวิธีการชำระค่าปรับด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมทำให้ผู้รับใบสั่งเข้าใจว่า ตนมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับเท่านั้น ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานที่สำคัญทางอาญา และขัดต่อมาตรา 26 และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการออกกฎที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้งคัดค้าน อีกทั้งทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการพิจารณาโทษตามข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แห่งการกระทำ

นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ผบ.ตร.) มีการเสนอกฎหมายเชื่อมโยงการชำระค่าปรับกับการชำระภาษีรถประจำปี โดยหากเจ้าของรถไม่ชำระค่าปรับ เมื่อไปชำระภาษีประจำปีจะได้รับเพียงเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีชั่วคราว 30 วัน เมื่อพ้น 30 วัน หากไม่ชำระค่าปรับและนำรถไปใช้ ก็จะมีความผิดฐานใช้รถที่ไม่ติดเครื่องหมายที่นายทะเบียนออกให้

โดยหลักการการชำระภาษีรถเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวรถ แต่การกระทำผิดจราจรเป็นเรื่องของบุคคล การนำ 2 เรื่องมาเชื่อมโยงกันจึงไม่ถูกต้อง เป็นการบังคับทางอ้อมให้เจ้าของรถต้องยินยอมชำระค่าปรับ เห็นได้จากบทบัญญัติมาตรา 160 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดค่าปรับนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถไว้ 5 เท่าของค่าปรับสูงสุดที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น

ผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่า มาตรา 160 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2566 ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 26 และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ

หลังจากทนายเจมส์โพสต์ไปไม่นาน มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ต่างสงสัยว่าผู้ที่ได้ใบสั่งต้องทำอย่างไร ควรจะจ่ายค่าปรับได้หรือไม่ ?

เพจ “ทนายเจมส์ LK”

บิ๊กโจ๊กส่งหนังสือด่วน ตำรวจแจกใบสั่งแบบเดิม อยู่ระหว่างอุทธรณ์

มติชน รายงาน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง ผบช.น.ภาค 1-9 ก.และ สยศ.ตร. ระบุว่า การปฏิบัติงานจราจรในการออกใบสั่ง การใช้เกณฑ์จำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบและการใช้งานระบบ PTM ให้ทุกหน่วยถือปฏิบัติตามเดิมจนกว่าจะมีกฎ ระเบียบ คำสั่ง กำหนดเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

บิ๊กโจ๊กส่งหนังสือด่วน