
กรมอุตุฯเผย “พายุพระพิรุณ” ทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรงแล้ว กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่จีนตอนใต้ คาดสลายตัวบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ส่วนพายุโซนร้อน “แคมี (GAEMI)” ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนทางด้านตะวันออก เตือนไทยยังมีฝนฟ้าคะนองและตกหนัก 60-70% ของพื้นที่ อิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
วันที่ 22 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ประกอบกับพายุโซนร้อน “พระพิรุณ” ปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ยและเกาะไหหลำ
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
อนึ่ง พายุโซนร้อน “พระพิรุณ” ปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย และเกาะไหหลำ ประเทศจีน คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 22-23 ก.ค. 67 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย

กรมอุตุนิยมวิทยายังอัพเดตภาพถ่ายดาวเทียม ความกดอากาศ ลมที่ระดับ 925hPa และสถานการณ์พายุ เย็นวันนี้ (22/7/67) เพิ่มเติมว่า
1.พายุโซนร้อน “พระพิรุณ (PRAPIROON)” ได้เคลื่อนตัวผ่านเกาะไหลหลำ ประเทศจีนแล้ว เมื่อพายุนี้เคลื่อนตัวลงสู่อ่าวตังเกี๋ย แรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนรุนแรง และเมื่อเคลื่อนขึ้นฝั่งจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ และเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศจีนตอนใต้ และสลายตัวบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน เตือนผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าว ต้องตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง
2.พายุโซนร้อน “แคมี (GAEMI)” ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีกำลังแรงขึ้นจากพายุโซนร้อนรุนแรง เป็นพายุไต้ฝุ่น กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันออกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ (ไปทางตะวันออกของเกาะไต้หวัน) และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนทางด้านตะวันออกต่อไป
พายุทั้ง 2 ลูกไม่มีผลกระทบกับประเทศ แต่ฝนที่ตกอยู่ในขณะนี้มาจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมฝน) ที่พัดปกคลุม (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)

พยากรณ์อากาศเวลา 18.00 น.วันนี้ ถึง 18.00 น.วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน ตาก และเพชรบูณ์
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา
กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
กรุงเทพฯและปริมณฑล
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ออกประกาศ 22 กรกฎาคม 2567