ทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกปีละ 5 แสนล้านใบ ไหลลงทะเลไทย 13 ล้านตัน คนกรุงสร้างขยะ 3 กก./คน/วัน

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นประธานในงานวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ประจำปี 2561 ตามแนวคิดการรณรงค์ “รักษ์โลก เลิกพลาสติก” โดยพล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นวิกฤติสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่นานาชาติให้ความสำคัญและถูกหยิบยกขึ้นมาหารือควบคู่กันในการประชุมระดับนานาชาติ จากหลักฐานที่ปรากฏชัดมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ทั้งภาพแพขยะในมหาสมุทร ภาพผลกระทบของขยะพลาสติกที่มีต่อนกทะเล และสัตว์ทะเล แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขยะพลาสติกกำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในปี 2559 ประเทศไทยมีขยะมากถึง 27 ล้านตัน มีขยะพลาสติกเฉลี่ยประมาณ 3.2 ล้านตัน อีกทั้งข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ และครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ช้อม ส้อม แก้วน้ำพลาสติก นอกจากนี้แต่ละปี มีปริมาณขยะพลาสติกกว่า 13 ล้านตันไหลลงสู่ทะเล

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจกับประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในการบริหารจัดการ ร่วมกันดูแล รักษา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ทส. จึงได้ใช้วาระเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน นี้ เชิญทุกกระทรวงร่วมประกาศเจตนารมณ์ การลดใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้วและโฟม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐควรจะเป็นต้นแบบที่ดีในการรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติกและงดใช้โฟมของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะร่วมกันสร้างวินัยเพื่อนำไปสู่การจัดการขยะถุงพลาสติกแบบหูหิ้วและโฟมอย่างยั่งยืนในประเทศไทยต่อไป คนกรุงสร้างขยะต่อคนวันละ 3 กิโลฯ กทม.ใช้เงินกำจัด 7 พันล้าน อีกหน่อยมนุษย์จะตายเพราะพลาสติกแทนปลาวาฬ

วันเดียวกันที่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ องค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด จัดโครงการรณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้หัวข้อ “รักษ์โลก ลดพลาสติก (Beat Plastic Pollution)” พร้อมคำขวัญ “ถ้าใช้ซ้ำไม่ได้ ก็ควรเลิกใช้ (If you can’t reuse it, refuse it) มี นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นางขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) น.ส.เข็มอัปสร สิริสุขะ ดารานักแสดงชื่อดังและผู้แทนกลุ่ม Little Help และนายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ สำนักสิ่งแวดล้อมกทม. ร่วมเป็นวิทยากร

นายธรณ์ กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ขยะทางทะเลย่ำแย่มากที่สุด ปัจจุบันทั่วโลกเริ่มเห็นความสำคัญของปัญหาขยะพลาสติกในท้องทะเล เพราะทำลายสัตว์น้ำและสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะไมโครพลาสติกกลายเป็นอาหารสัตว์น้ำและเป็นอาหารของมนุษย์ ตัวอย่างความเลวร้ายจากข่าว วาฬตายจากขยะพลาสติกที่จ.สงขลา อาจกล่าวได้ว่าเรื่องขยะทะเลถูกพูดคุยมา 20 กว่าปีแล้ว และควรเลิกคุยถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะซับซ้อนมากกว่านั้น ปัจจุบันไทยเป็นประเทศทิ้งขยะสู่ท้องทะเลติดอันดับหกของโลก ดังนั้น อาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ การส่งออกอาหารทะเลและภาพลักษณ์อุตสาหกรรมของไทย หากไทยยังไม่ทำอะไรกับขยะทะเล 25 ตัน อนาคตขยะพลาสติกจะมีปริมาณมากกว่าปลาในท้องทะเล จึงอยากให้การทำดีเพื่อโลกเป็นเทรนด์ใหม่

นายปริญญา กล่าวว่า ปัญหาปัจจุบันคือจะสื่อสารกับคนทิ้งขยะได้อย่างไร เพราะต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนมากทิ้งขยะลงแม่น้ำคูคลอง ซึ่งเหล่านี้ล้วนออกสู่ทะเลทั้งสิ้น ดังนั้น การเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชิน ได้แก่ การปฎิเสธรับช้อนส้อม หลอดและถุงพลาสติก จากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ซุเปอร์มาร์เก็ตและตลาดนัด ถือเป็นการช่วยลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นตอ ประกอบกับภาวะโลกร้อนปัจจุบันที่สามารถสัมผัสได้ด้วยตนเอง ทั้งอากาศ ระดับน้ำในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ยิ่งทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วง ขณะเดียวกัน มธ.เองได้ดำเนินโครงการธรรมศาสตร์โมเดล อาทิ แจกกระบอกน้ำ ถุงผ้า ลดค่าเครื่องดื่ม 2 บาทหากนำแก้วน้ำมาเอง ฯลฯ โดยการงดแจกถุงพลาสติกหรือวัสดุใช้ครั้งเดียวภายในสถานศึกษา และเห็นผลของการลดใช้พลาสติกชัดเจน อย่างไรก็ตาม เกรงว่าอีกหน่อยปัญหาขยะพลาสติกคงไม่ใช่แค่ปลาวาฬที่ตายแต่จะเป็นมนุษย์

นายภาณุวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุ คนกทม.สร้างขยะวันละ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งขณะนี้กทม.มีค่ากำจัดขยะ 7,000 ล้านบาทต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้เพียง 700 ล้านบาทต่อปี

 

ที่มา:มติชนออนไลน์