
เปิดตัวเลขผู้เป็นหนี้ กยศ. ยอดผิดนัดชำระ และชำระหนี้เสร็จสิ้น ปี 2568 หลังรัฐบาลขยายเวลาตัดยอดปรับโครงสร้างหนี้ถึง 24 พ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงาน กยศ.ได้เดินหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 สาระสำคัญ คือ การตัดลำดับการชำระหนี้ใหม่เป็น “เงินต้น-ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ” แทนแบบเดิม พร้อมลดอัตราเบี้ยปรับ
จากสูงสุดร้อยละ 18 เหลือเพียงร้อยละ 0.5 ยืนยันผู้กู้ทุกคนจะเห็นยอดหนี้ลดลงทันที การคำนวณหนี้แบบใหม่นี้ครอบคลุมผู้กู้ประมาณ 3.5 ล้านราย โดยขณะนี้ กยศ.ดำเนินการได้แล้ว กว่า 2.3 ล้านราย หรือประมาณร้อยละ 70 ซึ่งผู้กู้สามารถตรวจสอบยอดหนี้ใหม่ได้ผ่านเว็บไซต์ www.studentloan.or.th สำหรับผู้กู้ที่เคยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ก่อนการคำนวณหนี้แบบใหม่ แม้อาจเห็นยอดหนี้สูงขึ้นในช่วงแรก แต่ระบบจะปรับยอดหนี้ให้อัตโนมัติหลังจากระบบใหม่แล้วเสร็จ
สำหรับระบบการหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้างที่ผ่านมา กยศ.ได้หักเฉพาะยอดหนี้ปีปัจจุบัน ไม่รวมยอดหนี้ค้างในปีก่อนหน้า ซึ่งบางรายจะมียอดหนี้ค้างเก่าทำให้ในเดือนเมษายน 2568 มีผู้กู้ที่ถูกหักเงินเดือน
เพื่อชำระยอดหนี้ค้างเก่า จำนวน 490,225 ราย (510,716 บัญชี) และในเดือนพฤษภาคมอีก จำนวน 251,083 ราย (258,151 บัญชี) ในส่วนของการรองรับผู้กู้ที่ได้รับผลกระทบจากการหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาทต่อบัญชี
กยศ.มีแนวทางดูแล 2 กลุ่ม
1.ผู้กู้ยืมเงินที่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ. ในเดือนพฤษภาคม 2568 จะต้องชำระตามยอดหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ในงวดแรกด้วยตนเอง และต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเพื่อจะได้ไม่ถูกหักเงินเดือนเพิ่มอีก 3,000 บาท ในเดือนนั้น ซึ่งนายจ้างจะเริ่มหักเงินเดือนตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่งวดที่ 2 เป็นต้นไป
2.ผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และยังคงมียอดหนี้ค้างชำระ หากผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถให้หักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2568 จะต้องยื่นขอปรับลดจำนวนการหักเงินเดือนทางเว็บไซต์ กยศ. ภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 (เดิมวันที่ 17 พ.ค. 68) ซึ่งจะมีผลปรับลดจำนวน
หักเงินเดือนเฉพาะเดือนพฤษภาคมนี้เท่านั้น หากดำเนินการไม่ทัน สามารถยื่นขอปรับลดการหักเงินเดือนได้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2568 โดยจะต้องยื่นขอปรับลดจำนวนการหักเงินเดือน ภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2568 และ
กยศ.จะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้กู้ยืมเงินทราบทาง SMS พร้อมแจ้งให้นายจ้างทราบในระบบ e-PaySLF ต่อไป
ด้านความคืบหน้าในการคืนเงินให้ผู้กู้ที่จ่ายเกิน หลังคำนวณหนี้ตามกฎหมายใหม่นั้น ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 มีบัญชีที่มียอดชำระเกิน 286,362 บัญชี เป็นเงิน 3,399.13 ล้านบาท กยศ.คืนแล้ว 2,528 บัญชี เป็นเงิน 73.81 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคม 2568 จะคืนเงินเพิ่มเติมอีก 1,215 บัญชี เป็นเงิน 2.95 ล้านบาท และจะทยอยคืนทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2569
อย่างไรก็ตาม หากผู้กู้ยืมเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทั้งแบบสัญญากระดาษ และแบบออนไลน์จะได้รับสิทธิพิเศษโดยการปลดภาระผู้ค้ำประกันทันที พร้อมทั้งให้ผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนได้นานถึง 15 ปี หรือไม่เกินอายุ 65 ปี นอกจากนี้ ผู้กู้ยืมจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อผู้กู้ชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้น
แต่หากผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้สะสมเกิน 6 งวด จะถือว่าสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สิ้นสุดลงและผู้กู้ยืมจะไม่ได้รับส่วนลดเบี้ยปรับดังกล่าว
นอกจากนี้ กยศ.ยังมีมาตรการลดหย่อนหนี้เพื่อจูงใจให้ผู้กู้ยืมชำระเงินคืน เพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างระยะเวลาปลอดหนี้ และผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ที่ กยศ.ยังไม่ฟ้องคดี โดยจะได้รับส่วนลดต้นเงินร้อยละ 5-10 และส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว โดยผู้กู้ยืมสามารถตรวจรายละเอียดและลงทะเบียนขอรับสิทธิได้ที่ www.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2568
ขยายเวลาตัดยอด ปรับโครงสร้างหนี้ถึง 24 พ.ค.นี้
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดภาระของผู้กู้ และเปิดโอกาสให้สามารถชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสม โดยมาตรการใหม่นี้
ถูกออกแบบให้เป็นผลดีต่อผู้กู้ยืมทุกคน ทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ และเงื่อนไขการผ่อนชำระ ซึ่งพบว่ายังมีผู้กู้จำนวนมากที่ยังไม่เข้ามาลงทะเบียนหรือดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตามสิทธิที่ได้รับ ส่งผลให้บางรายอาจต้องรับภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น หากไม่ได้เข้าระบบตามเวลาที่กำหนด
กยศ.ได้ประกาศขยายระยะเวลาในการตัดยอดประจำเดือนพฤษภาคม 2568 จากเดิมวันที่ 17 เป็นวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กู้ที่ยังไม่ลงทะเบียน ได้เข้าระบบลงทะเบียนเพื่อขอคืนเงิน และปรับยอดหนี้ก่อนต้องจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มหรือเกิดค่าปรับในอนาคต หากผู้กู้ยืมไม่ชำระเงินคืนตามกำหนดจะทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและเกิดเบี้ยปรับจากการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงอาจถูกฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายอีกด้วย
กยศ.เปิดทางช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบจากการหักเงินเดือนเป็นการชั่วคราว
ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า จากการที่ กยศ.ได้หักเงินเดือนเพิ่มเติม 3,000 บาท กับผู้กู้ยืมที่มียอดค้างชำระ ซึ่งก่อนหน้านี้ กยศ.ได้ติดตามหนี้ครอบคลุมผู้กู้ยืมทุกคน รวมถึงผู้ที่ถูกหักเงินเดือนให้ไปชำระยอดค้างส่วนนี้ด้วยตนเอง แต่เนื่องจากผู้กู้ยืมส่วนหนึ่งไม่ชำระยอดที่ค้าง ทำให้ กยศ.จำเป็นต้องเพิ่มวงเงินหักรายเดือนอีก 3,000 บาทต่อบัญชี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 โดย กยศ.ได้แจ้งทั้งผู้กู้และนายจ้างแล้วนั้น
หากผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถให้หักเงินเดือนได้ตามที่ กยศ.แจ้ง ให้ติดต่อขอทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อเริ่มต้นการผ่อนชำระใหม่ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เป็นรายเดือนในอัตราที่ลดลง ซึ่งในปัจจุบันมีผู้กู้ยืมเงินดังกล่าวได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ. แล้วกว่า 200,000 ราย
สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังคงมียอดค้างชำระ และยังไม่ได้ติดต่อขอทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ยังคงต้องแจ้งให้หักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาทต่อบัญชี ในเดือนพฤษภาคม 2568 และเดือนต่อไปจนกว่าจะไม่มียอดค้างชำระ ดังนั้น กยศ.ขอให้ผู้กู้ยืมชำระยอดหนี้ที่ค้างหรือติดต่อขอทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์โดยเร็วภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระของงวดปี 2568
ตัวเลขคนเป็นหนี้ กยศ.กี่คน
สถิติข้อมูล กยศ. วันที่ 31 มกราคม 2568 มีผู้ยืมเงินกองทุน 7,157,291 ราย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,583,941 ราย 51% อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,536,081 ราย 21% ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น : 1,962,779 ราย 27% ผู้กู้ที่เสียชีวิต/ทุพพลภาพ : 74,490 ราย 1%