อีก 500 เมตร หน่วยซีลถึงหาดพัทยา แพทย์ซ้อมหน้าถ้ำพรึ่บ หมอภาคย์พร้อม

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 1 กรกฎาคม ที่บริเวณปากทางเข้าถ้ำหลวง ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีรายงานว่าหลังจากที่หน่วยซีลสามารถดำน้ำเข้าไปตั้งฐานปฏิบัติการได้ที่บริเวณโถง 3 ภายในถ้ำขุนหลวงได้ ล่าสุดมีรายงานว่าหน่วยซีลเข้าใกล้หาดพัทยา จุดที่สันนิษฐานว่าทั้ง 13 ชีวิตติดอยู่ภายในเข้าไปทุกที โดยดำน้ำเข้าไปห่างจากหาดพัทยาเพียง 500 เมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นการเข้าใกล้จุดเป้าหมายมากที่สุดนับแต่มีปฏิบัติการค้นหามาจนถึงวันที่ 9

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในช่วงเวลาเดียวกันที่บริเวณปากทางเข้าถ้ำหลวงด้านใน มีความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่แพทย์ทหาร อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีการส่งกำลังเข้าไปในบริเวณถ้ำ ก่อนกลับออกมา มีการเตรียมเปลเคลื่อนย้าย และส่งสิ่งของคล้ายการซักซ้อม พร้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ทำให้สื่อมวลชนที่ปักหลักนำเสนอข่าวให้ความสนใจและรอคอยข่าวดี ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเตรียมพร้อมช่วยเหลือปฐมพยาบาลทั้งในถ้ำ หน้าถ้ำ และจุดโรงพยาบาลสนาม ทางเข้าวนอุทยานฯ

ขณะที่ ที่โรงพยาบาลสนาม บริเวณหน้าปากทางเข้าถ้ำหลวง เจ้าหน้าที่มีการปรับเปลี่ยนแผนการปฐมพยาบาล ในกรณีหน่วยซีลส่งสัญญาณว่าสามารถช่วยเหลือทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตได้แล้ว จะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1.หน่วยเตรียมขนส่ง จะต้องนำผู้ประสบภัยให้อยู่บนบอร์ดลำเลียง และประเมินการตอบสนองของผู้ป่วยเบื้องต้น ก่อนนำผู้ป่วยลำเลียงออกจากปากถ้ำ ก่อนขึ้นบันไดมาที่รถพยาบาล

2.หน่วยให้การรักษาเบื้องต้น หากทีมพบเจอผู้ประสบภัยแล้วจะมีการประเมินอาการว่าอยู่ในระดับใด หากอยู่ในระดับที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก็จะนำออกมาบริเวณหน้าถ้ำ และขึ้นรถพยาบาลทันที แต่หากผู้ประสบภัยอยู่ในอาการวิกฤตทางทีมแพทย์จะปฐมพยาบาลเบื้องต้นภายในถ้ำเลย หากอาการดีขึ้น ถึงจะนำออกมาขึ้นรถพยาบาลทันที

3.หน่วยลำเลียงผู้ป่วยขึ้นรถพยาบาลไปยังโรงพยาบาลสนาม ลักษณะเป็นห้องผ่าตัดแบบเร่งด่วน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้ปากทางเข้าวนอุทยาน ติดถนนใหญ่ใกล้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงฯ

4.หน่วย Triage and Resuscitation หรือหน่วยแพทย์ที่วิเคราะห์อาการตามความรุนแรง ความจริงถ้าจะมีการทำการคัดแยกอาการของผู้ประสบภัยตามความรุนแรง และความเร่งด่วนของผู้ประสบภัยให้การรักษาการตัดสินใจวิธีการในการส่งต่อโดยคำนึงถึงความเร่งด่วน หากผู้ป่วยที่มีอาการเร่งด่วนอาจจะต้องรักษาที่โรงพยาบาลสนาม

5.หน่วยขนส่งผู้ป่วยไปยังท่าอากาศยาน หากทีมแพทย์วิเคราะห์อาการแล้ว พบว่าสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายได้ ก็จะรีบลำเลียงผู้ป่วยขึ้นรถพยาบาลไปลานบินจักกะผัก

6.หน่วยดูแลผู้ป่วย ขณะส่งทางอากาศ ทางทีมแพทย์ Sky Doctor 2 นาย จะปฐมพยาบาลผู้ป่วยบนเฮลิคอปเตอร์ โดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจและทหารจะรับผิดชอบในการเป็นแพทย์ดูแลขณะขนส่งทางอากาศ

7.หน่วยดูแลผู้ประสบภัยที่ลานบินเป้าหมาย จะมีทีมแพทย์ดูแลผู้ประสบภัยจากสนามเก่าไปยังโรงพยาบาลเชียงราย

8. หน่วยดูแลผู้ประสบภัยที่โรงพยาบาลเชียงรายราชประชานุเคราะห์ เมื่อได้มีการประเมินผู้ป่วยเบื้องต้นที่โรงพยาบาลสนามแล้วไม่มีการสื่อสารมาแจ้งให้ทีมแพทย์ที่โรงพยาบาลเชียงรายเพื่อเตรียมการรักษา

อย่างไรก็ตามขั้นตอนของการปฐมพยาบาล จะทำภายใน 30 นาที

พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน หรือ หมอภาคย์

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน หรือ หมอภาคย์ จากกองพันเสนารักษ์ที่ 3 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแพทย์ที่สามารถดำน้ำได้ เดินทางถึงบริเวณถ้ำหลวง และลงไปทำแผนซ้อมการปฐมพยาบาล พร้อมกับอบอุ่นร่างกายแล้ว ซึ่ง พ.ท.นพ.ภาคย์ จะเป็นผู้ประสานงานการทำงาน ระหว่างหน่วยซีล กับทางทีมแพทย์ เพื่อให้ทำงานสะดวกขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากช่วงเช้า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายระบุว่า เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งตอนนี้คือการวางแผน วางบุคลากรที่มีความสามารถในการลำเลียงผู้ที่ติดภายในออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัย โดยมีทีมแพทย์ที่สามารถดำน้ำได้จาก ทบ. ทร.เป็นหลัก ทำให้ความเคลื่อนไหวในตอนนี้เป็นที่คาดการณ์ว่าเป็นข่าวดี

 


ที่มา : มติชนออนไลน์