กรมการแพทย์ได้ข้อสรุปภาระงานหมอ-พยาบาล 60% ทำงานเกิน 80 ชม.ต่อสัปดาห์

กรมการแพทย์ได้ข้อสรุปภาระงานหมอ-พยาบาล 60% ทำงานเกิน 80 ชม.ต่อสัปดาห์ อีก 90% ต้องขึ้นเวรทั้งที่ป่วย อธิบดีกรมฯ เตรียมเสนอ “รมว.-ปลัด สธ.” สัปดาห์หน้าหาทางออกบุคลากรสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 7 มกราคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการสำรวจภาระงานบุคลากรสาธารณสุข ว่าที่ผ่านมาปัญหาภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขถูกตั้งคำถามจำนวนมาก เพื่อให้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ กรมการแพทย์ จึงได้มอบหมายให้ทาง นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายทางการแพทย์ กรมการแพทย์ ทำการสำรวจการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานขึ้นเวรในโรงพยาบาล หลักๆ มี 5 วิชาชีพ คือ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ และรังสีเทคนิค โดยเป็นกลุ่มทำงานเวรดึก โดยผลการสำรวจจะนำมาพิจารณาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เบื้องต้นจะหาทางออกภายในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 31 แห่งจากทั่วประเทศก่อน ซึ่งบุคลากรในกรมการแพทย์สำหรับสายวิชาชีพน่าจะประมาณร้อยละ 70 จากทั้งหมดประมาณ 18,000 คน

“กรมฯ จะมีการหารือและสรุปผลทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นผมจะนำเรียนต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงสัปดาห์หน้า” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

ผู้สื่อข่าวถามว่าผลสรุปเบื้องต้นเป็นอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากมอบหมายให้ นพ.เมธี ทำการสำรวจเมื่อช่วงปลายปี 2561 ซึ่งทราบว่า ใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือนก็ทราบผลเบื้องต้น โดยได้สำรวจบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่ที่มาตอบจะเป็นสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยพบว่า ในส่วนของแพทย์ที่มาตอบคำถามประมาณกว่าพันคน พบร้อยละ 60 ทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินกว่าที่แพทยสภาเคยกำหนดไว้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาหลายๆ อย่าง โดยขอให้มีการหารือกันก่อนและจะมีการสรุป พร้อมหาทางออกต่อไป

ด้าน นพ.เมธี กล่าวภายหลังโพสต์เฟซบุ๊ก Methee Wong ถึงภาระงานบุคลากรสาธารณสุข ว่าหลังจากได้รับมอบหมายก็มีการสำรวจทั้ง 5 วิชาชีพที่ขึ้นเวรดึก ซึ่งในส่วนของแพทย์ที่ทำการสำรวจกว่าพันคนนั้น พบว่า กว่าร้อยละ 60 มีการทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เกินกว่าเวลาที่แพทยสภาเคยประกาศไว้ว่าไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้น การทำงานถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จึงเป็นการทำงานเกินเวลาที่แพทยสภาประกาศถึง 2 เท่า และยังพบว่าอีกว่ากว่าร้อยละ 30 แพทย์ทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินกว่า 3 เท่า ที่สำคัญยังพบว่าแพทย์ร้อยละ 15 ต้องอยู่เวรทั้งสัปดาห์ และแพทย์กว่าร้อยละ 90 มีประสบการณ์ต้องทำงานและขึ้นเวรทั้งๆ ที่ตนเองป่วย เพราะหาคนทำแทนไม่ได้ และโดนบังคับให้ทำ

“นอกจากนี้ ยังพบว่า แพทย์ 70% มีประสบการณ์ต้องทำงานและขึ้นเวรทั้งๆ ที่ญาติพี่น้อง ทั้งบิดามารดา สามีภรรยา บุตร ป่วย แต่ไม่สามารถไปดูแลได้ และมากกว่า 50% ต้องรับผิดชอบคนไข้นอก มากกว่า 100 รายต่อวัน ซึ่งจริงๆ มาตรฐานการตรวจผู้ป่วยรายใหม่ คนหนึ่งควรใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10-15 นาที รายเก่า 5 นาที อีกทั้งแพทย์มากกว่า 55% ต้องรับผิดชอบคนไข้ห้องฉุกเฉินเกือบ 70 รายต่อวัน รวมถึงแพทย์ 90% ยอมรับว่าเกิดความผิดพลาดในการรักษา เพราะภาระงานที่มากเกินไปและอดนอน แพทย์ 70% ยอมรับว่าป่วยก่อนวัยอันควรและมีปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งซึมเศร้า เบื่องาน นอนไม่หลับ ต้องใช้ยานอนหลับ ดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลัง แพทย์ 65% ไม่มีความสุขกับการทำงานในวิชาชีพแพทย์” นพ.เมธี กล่าว

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์