วาฟ-รอม ไขคำตอบ ทำไมอากาศถึงร้อนนัก ?

แฟ้มภาพ

แบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศน้ำ(สสก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ตอบคำถามในเรื่องความเดือดร้อนรำคาญ ว่าด้วยอากาศร้อนมากของชาวบ้านทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองว่า ความจริงแล้ว สภาพอากาศร้อนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ถือเป็นอุณหภูมิของฤดูร้อนตามปกติ ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งก็เป็นไปตามการคาดการ และประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

“แต่จะสังเกตว่า ปีนี้กรุงเทพมหานคร(กทม.)จะไม่ค่อยมีฝนตก โดยตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา มีฝนตกในกรุงเทพแค่ 2 ครั้ง เท่านั้น ขณะที่ปี 2560 และ 2561 มีฝนตกจากพายุฤดูร้อนบ่อยกว่านี้มาก จึงแทบจะไม่มีพื้นที่ใดมีภาวะภัยแล้งเลย แต่ปีนี้ความกดอากาศสูงไม่มีความแรงมากพอ รวมทั้งกระแสลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้ ก็ไม่มีกำลังแรงมากนัก จึงมีปัจจัยไม่เพียงพอที่จะส่งให้พายุฤดูร้อนมาถึงกรุงเทพมหานครได้ พายุฤดูร้อนปีนี้ส่วนใหญ่จึงเกิดในแถบภาคอีสานลงมาไม่ถึงภาคกลางเท่าใดนัก ทั้งนี้แม้บางวันจะเห็นท้องฟ้าครึ้ม ในพื้นที่ กทม. คล้ายๆฝนกำลังจะตก แต่แล้วก็ไม่ตก เป็นเพราะ พื้นที่ในเมืองมีความร้อนค่อนข้างสูง ความชื้นจึงลอยตัวขึ้นสูงเร็วขึ้นและเคลื่อนที่ข้ามไปอยู่บริเวณ จ.ปทุมธานีหมด ฝนจึงยังไม่ตกในกรุงเทพฯและคาดว่าตลอดทั้งเดือนเมษายนนี้ พื้นที่กรุงเทพมหานครโอกาสที่จะมีฝนตกทั่วพื้นที่ยังมีน้อย หากเกิดฝนก็จะเป็นหย่อมๆบางพื้นที่เท่านั้น หากจะมีฝนได้บ้างก็ในวันที่ 27 เมษายน นี้ “วาฟ ระบุ

ความร้อนที่คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิงคนกรุงเทพเผชิญอยู่ในเวลานี้ เรียกว่าเป็น คลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ หรือไม่ วาฟให้คำตอบว่า ไม่ใช่แน่นอน เพราะคลื่นความร้อนนั้นจะต้องมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิปกติตั้งแต่ 5 องศาเซลเซียสขึ้นไป และจะต้องเกิดติดต่อกันตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป แต่ความร้อนที่หลายๆเผชิญอยู่เวลานี้เป็นเรื่องของอุณหภูมิของฤดูร้อนปกติ ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติแค่ 1-2 องศาเซลเซียสเท่านั้น

 


ที่มา:มติชนออนไลน์