นิติกรท้องถิ่นร้อง พ.ร.บ.จัดตั้ง อปท.ฉบับใหม่ ส่อขัดรัฐธรรมนูญจากการใช้อำนาจจัดซื้อจัดจ้าง

นายบรรณ แก้วฉ่ำ นิติกรชำนาญการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) พระนครศรีอยุธยา อดีตกรรมการยกร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รวบรวมประเด็นข้อกฎหมาย เสนอผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกรองท้องถิ่น (กก.ถ.) นำไปพิจารณา หลังจากพบว่ากฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น ( อปท.) ฉบับใหม่ ขัดแย้งกับมาตรา 6 ในพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ซึ่งบัญญัติให้ท้องถิ่นนำมาตรา 6 ใช้บังคับ แต่ พ.ร.บ.อบจ. มาตรา 76 พ.ร.บ.เทศบาล มาตรา 69 และ พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) มาตรา 88 ที่กำหนดในกฎหมายใหม่บัญญัติให้ปฏิบัติตามระเบียบที่ มท.กำหนด ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดหลักการให้ อปท.มีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ โดยเฉพาะด้านการเงินและการคลัง

“ กฎหมายจัดตั้ง อปท. มีเพียงท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเฉพาะ กทม.และเมืองพัทยาเท่านั้น ที่มีกฎหมายจัดตั้งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยสามารถตราข้อบัญญัติด้านการคลัง งบประมาณ การเงิน บริหารทรัพย์สินได้ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม.มาตรา 97(4) และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา มาตรา 70 (5) แต่กรณี อบจ.เทศบาล และ อบต. บัญญัติห้ามตราเป็นข้อบัญญัติใช้เอง และต้องรอให้ มท.ออกเป็นระเบียบให้ ดังนั้นที่ผ่านมาการใช้จ่ายเงินเพื่อจัดบริการสาธารณะให้ประชาชนในพื้นที่ตนเองของท้องถิ่น เช่น การซื้อหน้ากากกันฝุ่นมลพิษ pm 2.5 ให้ประชาชนในท้องถิ่นเพียงชิ้นเดียว ก็ต้องเสนอให้ มท.แก้ไขระเบียบ จึงจะเบิกจ่ายได้ หาก มท.ไม่ออกระเบียบให้ หรือเพิ่มรายการในระเบียบล่าช้า ก็ใช้จ่ายเงินไม่ได้” นายบรรณ กล่าว

นายบรรณ กล่าวว่า นอกจากนั้น มท.ได้ออกระเบียบตัดความเป็นอิสระของท้องถิ่นกำหนดให้ อปท.จะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือหนังสือสั่งการที่ มท.กำหนดไว้ กรณีท้องถิ่นมีความจำเป็นต้องทำโครงการต่างๆ เพื่อจัดบริการสาธารณะ และมีรายจ่ายที่จำเป็น แต่ มท.คาดไม่ถึงว่าบางพื้นที่จะต้องมีรายการใช้จ่ายในเรื่องนั้น ก็จะถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.)ทักท้วงให้คืนเงิน และมีการตั้งข้อสังเกตเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ( สถ.)ที่ทำหน้าที่ออกระเบียบ ไม่เคยทำงานใน อบจ.เทศบาล หรือ อบต. แต่ทำหน้าที่ออกระเบียบให้ท้องถิ่นนำไปใช้ดังนั้นระเบียบจำนวนมากจึงไม่สอดคล้องทางปฏิบัติ

“ การจัดบริการสาธารณะของแต่ละ อปท. จะต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งมีความหลากหลายแต่กฎหมายจัดตั้ง และระเบียบ มท. ออกแบบให้จัดบริการเหมือนกันทั่วประเทศ การใช้จ่ายเงินจะต้องมีรายการใช้จ่ายที่เหมือนกัน โดยใช้ระเบียบ มท.เท่านั้น ทั้งที่ท้องถิ่นทุกรูปแบบมีสภาท้องถิ่นที่สามารถตราข้อบัญญัติในเรื่องการใช้จ่ายเงินได้ แต่ไม่ยอมให้ท้องถิ่นตราข้อบัญญัติใช้แทนระเบียบ มท. จึงทำให้ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สถานะของ อบจ.เทศบาล และ อบต.เป็นเพียงส่วนราชการที่ทำงานเท่าที่ มท. กำหนดให้ทำได้เท่านั้น สำหรับการแก้ไขกฎหมายจัดตั้งล่าสุด ท้องถิ่นทุกแห่งคาดหวังว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข แต่ปรากฎว่านอกจากไม่ได้แก้ไขบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเพิ่มอำนาจ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นเหมือนผู้บังคับบัญชา ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่กำกับดูแล”นายบรรณ กล่าว

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์