ศบค.แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 136 ราย สะสม 1,524 ราย ตจว.เพิ่มกว่ากทม.แล้ว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. (แฟ้มภาพ)

วันที่ 30 มีนาคม 2563 เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 ) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ประจำวัน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 136 ราย ยังทรงตัว ผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย ยังเพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิตสะสม 7 ราย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรียังมีผู้ติดเชื้อสูง และกระจุกตัวที่ชลบุรี ยะลา ปัตตานี  ภูเก็ต กระบี่ สระแก้ว อุบลราชธานี เปรียบเทียบกับประเทศอื่นยังมีแนวโน้มทะยานขึ้น

“หากมองการกระจายของผู้ป่วยในช่วง 7 วันล่าสุด คือช่วงวันที่ 23-29 มี.ค.2563 พบว่า มีการติดกระจายในพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งภูเก็ต กระบี่ พบในคนประกอบอาชีพคนทำงานในสถานบันเทิง ร้านอาหาร โรงแรม ขับรถรับจ้าง ยะลา ปัตตานี จากพิธีศาสนาที่มาเลเซีย ขณะที่ชลบุรี จะมาจากชาวต่างชาติ นั่งร้านเหล้า มาจากกรุงเทพฯ ส่วนสระแก้ว ทำงานที่ปอยเปต อุบลราชธานี เป็นผู้สัมผัสกับเซียนมวยจากรุงเทพฯ คนทำงานที่ปอยเปต ฯลฯ

ทั้งนี้จากข้อมูลที่รวบรวบพบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในต่างจังหวัดมากกว่าในกทม. ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2563 ดังนั้น มาตรการในการควบคุมป้องกันโรคยังต้องเข้มข้น และยังต้องขอความร่วมมือประชาชนในการเว้นระยะห่าง ป้องกันโรคต่อไป”

ของดถ่ายทอดชกมวย-กิจกรรมสังสรรค์ ชี้วินมอไซค์จุดล่อแหลม

ทางด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการทบทวนมาตรการต่างๆตั้งแต่ได้ประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดเป็นต้นมาว่า ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ และตัวเลขผู้ป่วย หรือตัวเลขผู้เสียชีวิต แต่ยังไม่พอใจเต็มที่เนื่องจากยังมีกรณีส่วนน้อยที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม จึงขอฝากประชาสัมพันธ์เข้มงวดกวดขันให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งต้องไปสู่มาตรการบังคับที่รุนแรงคือขอให้เข้มงวดกับมาตรการอยู่กับบ้าน เพราะจะเห็นว่าเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมายังมีรถออกมาวิ่งบนถนนกันเป็นจำนวนมาก

กิจกรรมสังสรรค์ควรงดได้แล้ว และในวันเดียวกันนี้ได้ ประสานไปยังสถานีโทรทัศน์ทุกช่องว่า อย่างน้อยเดือนเมษายนนี้ จะต้องยกเลิกถ่ายทอดการชกมวย เพราะการมีเวทีชกมวย ถือเป็นความเสี่ยงของคนชก แม้จะไม่มีคนดูก็ตาม หรือแม้แต่คนเชียร์มวยบางครั้งไม่ดูอย่างเดียวแต่มีการดื่มไปด้วย จึงขอให้งดถ่ายทอดโทรทัศน์ หรือรายการชกมวยต่างๆหรือแม้แต่กิจกรรมที่ให้เว้นระยะห่างระหว่างกัน เพราะยังมีกิจกรรมเล็ดลอดออกมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะยังมีการร้องเรียนเข้ามาที่ศูนย์ฯ

นอกจากนี้ในส่วนของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นจุดล่อแหลมและอันตรายมากเพราะไม่สวมหน้ากากอนามัยแต่มีผู้โดยสารซ้อนท้าย , ถึงแม้จะมีการสวมหน้ากากอนามัยแต่มีการติดต่อสื่อสารกับผู้โดยสารที่นั่งซ้อนท้ายไปข้างหลัง

บางจังหวัดในชายแดนภาคอีสานชาวบ้านยังใช้ธรรมเนียมเดิมที่เคยปฏิบัติ คือ ใส่บาตร ถือเป็นจุดอันตรายทั้งผู้ใส่และพระ เพราะเอามือจกข้าวเหนียวใส่บาตร ซึ่งเป็นการแพร่เชื้อโรคได้อย่างน่ากลัวมาก

การทำวัตรเช้าวัตรเย็นของพระ ถือเป็นศาสนกิจปกติแต่มีพระจำนวนมากก็ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง , หรือกองถ่ายภาพยนต์ละคร ที่มีคนจำนวนมากไปรวมตัวกัน ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง หรือเพิ่มมาตรการป้องกัน อย่าชะล่าใจ

สธ.แจงแผนกระจายหน้ากากอนามัย-อุปกรณ์ทางการแพทย์

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการจัดสรรทรัพยากรของกระทรวงสาธารณสุขว่า  ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การระบาดเป็นไปทั่วโลก สหรัฐอเมริกา ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของเรา หรือยุโรป ที่เคยผลิตเครื่องมือต่างๆกัน ก็มีปัญหามากกว่าเรา ทำให้ทรัพยากรต่างๆลดลง ท่านนายกฯ​และ รมว.สธ.​ ได้มีการวางแผนต่างๆ โดย ได้จัดเตรียมหน้ากากอนามัยที่ผลิตในประเทศ จากตอนแรกที่กำลังผลิตยังไม่มาก ก็ผลิตได้ที่ 500,000 ชิ้น ต่อมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันผลิตได้ 1,300,000 ชิ้นแล้ว

“ตั้งแต่วันที่ 7-28 มีนาคมนี้ เราได้จัดสรรหน้ากากอนามัยไปแล้ว 19,590,000 ชิ้น แบ่งให้กับรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 10,350,000 ชิ้น รพ.ในสังกัดกระทรวงอื่นๆ ประมาณ 5 แสนชิ้น รพ.นอกสังกัด 770,000 ชิ้น รพ.สังกัดมหาดไทย 2,480,000 ชิ้น รพ.เอกชน 4,280,000 ชิ้น และรพ.สังกัดกทม. 1,150,000 ชิ้น อย่างไรก็ดี หลังจากได้พิจารณาความต้องการ ก็ได้เพิ่มจำนวนการจัดสรรหน้ากากขึ้น เป็น 1,300,000 ชิ้นต่อวัน ประกอบด้วย รพ.ในสังกัดสธ. 800,000 ชิ้น ,รพ.นอกสังกัด สธ. 100,000 ชิ้น , รพ.มหาวิทยาลัย 150,000 ชิ้น ,​รพ.เอกชน 150,000 ชิ้น และรพ.สังกัดกทม. 100,000 ชิ้น โดยร่วมกับไปรษณีย์จัดส่งไปยังโรงพยาบาลต่างๆของรัฐ ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งมีระบบติดตามต่างๆ” นพ.สุขุมกล่าว

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งข้อกังวลเรื่องการขาดแคลนหน้ากากอนามัย n95 ที่ใช้ในห้องฉุกเฉิน ไอซียู คนไข้ป่วยหนัก และผู้ป่วยโควิดนั้น เราจำเป็นต้องซื้อจากบริษัท 3 เอ็ม ที่ต้องนำเข้าจากสหรัฐ​อเมริกา ในไทยมีการผลิตเพื่อการส่งออกโดยมี บริษัท สยามโทเค็น จำกัด ที่ผลิตส่งออกประเทศญี่ปุ่น ในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมานี้ ทำให้เราต้องจัดสรรหน้ากากเป็นการเฉพาะให้กับผู้ป่วยโควิด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ทั่วไปของโรงพยาบาล กำหนดว่าผู้ป่วย 1 คน ต้องใช้ n95 ต้องใช้หน้ากาก รวมทั้งชุดพีพีอี 15 ชุดต่อวัน และสำหรับผู้ป่วยที่ต้องติดตามอาการ 5 ชุดต่อวัน โดยตั้งแต่วันที่ 7-28 มีนาคม ได้จัดสรรหน้ากากอนามัยไปแล้ว 183,910 ชิ้น แบ่งเป็น รพ.ในสังกัดสธ. 117,950 ชิ้น , รพ.นอกสังกัด สธ. 3,230 ชิ้น , รพ.มหาวิทยาลัย 2,690 ชิ้น ,​รพ.เอกชน 14,410 ชิ้น และรพ.สังกัดกทม. 1,570 ชิ้น

“หากคาดคะเนว่ามีผู้ป่วย 10,000 คน เราต้องใช้ 500,000 ชิ้น หรือ 17,000 ชิ้นต่อวัน ทำให้มีการติดต่อหาแหล่งที่มา ก็ติดต่อ 3 เอ็ม นำเข้า 200,000 ชิ้น ในช่วงเมษายน ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะได้ตามจำนวนที่สั่งซื้อไป และซื้อจาก ออกโดยมี บริษัท สยามโทเค็น จำกัด เดือนละ 100,000 ชิ้น นำเข้าจากจีน 400,000 ชิ้น ซึ่งจะส่งมอบให้องค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคงคลังในรพ.สังกัดสป.อยู่ 172,556 ชิ้น และที่องค์การเภสัชกรรม 53,995 ชิ้น”

“สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับมอบจากประเทศจีนนั้นได้แก่ 1. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 100,000 ชิ้น ได้กระจายไปสู่โรงพยาบาลต่างๆแล้ว​ 2.ชุดตรวจ จำนวน 20,000 ชุด ส่งมอบให้กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 หน้ากาก N95 จำนวน 10,000 ชุด และ 4.ชุด ppe จำนวน 2,000 ชุด กระจายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในวันที่ 31 มีนาคมนี้”

นพ. สุขุม กล่าวว่า ขณะที่ของบริจาคจากอาลีบาบา นั้น แบ่งเป็น หน้ากากกันฝุ่น ที่จะกระจายให้กับภาคเหนือที่มีปัญหาฝุ่นละออง รวมทั้งชุดต่างๆ และหน้ากากอนามัย จะกระจายไปตามที่ต่างๆ และสามจังหวัดชายแดนใต้ ในวันที่ 31 มีนาคม และส่วนของยาฟาวิทิลาเวีย หรือยาต้านไวรัส มีความต้องการอยู่ที่ 100,000 เม็ด โดยจะจัดหาจากประเทศญี่ปุ่น 240,000 เม็ด เบื้องต้นจะเข้าถึงไทยในวันที่ 30 มีนาคมนี้ จำนวน 40,000 เม็ด และจากประเทศจีน 100,000 เม็ด จำนวน โดยมีคงคลังอยู่ 23,910 เม็ด กระจายทั่วประเทศไทย ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ