นโยบาย Social Distancing หรือ การรักษาระยะห่างทางสังคม อาจใช้ได้กับประชาชนบางกลุ่ม แต่ในบางสังคม ที่ไม่อาจรักษาระยะห่างได้ อาจมีความตึงเครียด ถึงขนาดเกิดการ “จราจล”
เหมือนกับเหตุการที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 ในเรือนจำ จ.บุรีรัมย์ ที่มีรายงานว่า กลุ่มนักโทษ 100 ราย ได้รวมตัวกันประท้วง เนื่องจากวิตกกังวลเรื่องไวรัสโควิด-19
เหตุการณ์ครั้งนี้ นายกิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เสนอแนะความคิดเห็น โดยสรุปว่า
มีกลุ่มนักโทษที่ควรได้รับการปล่อยชั่วคราว (ให้ประกันตัว) หรือ ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในการปล่อยตัว หรือปล่อยก่อนกำหนด หรือพักโทษ หรือใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง เช่น สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความแออัดของเรือนจำ ภายใต้การพิจารณาร่วมกันของกรมราชทัณฑ์และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
กลุ่มนักโทษ ดังกล่าวประกอบด้วย
1. นักโทษเด็ดขาด (หมายถึงคดีถึงที่สุดแล้ว) ที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี กลุ่มนี้มีจำนวน 72,000 คน
2. “ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา” ซึ่งหมายถึงผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี ต้องถูกคุมขังทั้งๆ ที่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะไม่ได้รับประกันตัว รวมทั้งมีบางรายถูกกักขังแทนค่าปรับ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ กลุ่มนี้มีราวๆ 67,000 คน เป็นสถิติที่สูงมากแห่งหนึ่งของโลก
3. ผู้ต้องขังสูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิตหากโควิดระบาด ทุกเรือนจำมีผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปีที่คดีถึงที่สุดแล้วรวมกันราวๆ 5,800 คน
4. กลุ่มผู้ต้องขังคดีลหุโทษ หรือความผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ กระทำผิด พ.ร.บ.การพนัน หรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลุ่มนี้มีอีก 9,000 คน ซึ่งเป็นสถิติติดอันดับโลกเช่นเดียวกัน
ณ วันที่ 23 มีนาคม 2563 กรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ทั่วประเทศมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งสิ้น 377,834 ราย เป็นชาย 329,850 ราย หญิง 47,984 ราย นักโทษเด็ดขาดชายที่คดีถึงที่สุดแล้ว 270,515 ราย หญิง 40,022 ราย
เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ ฎีกา เป็นชาย 26,538 ราย หญิง 3,634 ราย และประเภทอื่นๆ เช่น ผู้ต้องกักกัน และผู้ต้องขังระหว่างการไต่สวน และสอบสวน เป็นชาย 3,2797 ราย หญิง 4,319 ราย ผู้ต้องขังในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 37,158 ราย
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคู่มือ-มาตรการสำหรับกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 “กรณีเกิดการระบาดในเรือนจำ และทัณฑสถาน” ไว้ดังนี้
- เป้าหมายของการตรวจจับ สอบสวนและควบคุมการระบาด
- เพื่อตรวจจับ ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคในพื้นที่เรือนจำ
- เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อในเรือนจำ
- เพื่อป้องกันการเสียชีวิต
- นิยามเหตุการณ์การระบาด หมายถึง เมื่อพบผู้ป่วยยืนยันอย่างน้อย 1 ราย ที่คิดว่าอาจมีการแพร่เชื้อในเรือนจำ
- นิยามผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ต้องสอบสวน (PUI) หมายถึง ผู้ที่มีประวัติไข้ หรือวัดอุณหภูมิกายได้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง (ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็วหรือหายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก) และมีประวัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
- สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ
- มีประวัติเดินทางไปยัง หรือมาจาก หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีการรายงานการระบาดต่อเนื่องของโรค
- เป็นผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว
- เป็นผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว ที่มีจากพื้นที่ที่มีการรายงานการระบาดต่อเนื่องของโลก
- ผู้ป่วยยืนยัน หมายถึง ผู้ที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019
- ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง (High risk contact) หมายเหตุ ผู้สัมผัสใกล้ชิดตามลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
- ผู้ที่นอนร่วมห้อง ผู้ที่กิจกรรมใกล้ชิดกัน หรือเพื่อนสนิทที่คลุกคลีกัน
- ผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร นานกว่า 5 นาที หือถูกไอ จาม รดจากผู้ป่วย โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย
- ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิดไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ใช้ห้องปรับอากาศร่วมกับผู้ป่วย และอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน
- ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ (Low risk contact) หมายถึง ผู้ที่ทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกับผู้ป่วย แต่ไม่เข้าเกณฑ์ความเสี่ยงสูง
- ผู้ไม่ได้สัมผัส หมายถึง ผู้ที่อยู่ในเรือนจำ แต่ไม่มีกิจกรรมหรือพบผู้ป่วยในช่วง 14 วัน ก่อนป่วย
- ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง (Underlying condition) หมายถึง ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีโรคประจำตัว หรือผู้สูงอายุ
คำแนะนำก่อนเกิดการระบาด-เกณฑ์สอบสวนโรค
1. ควรกำหนดให้เรือนพยาบาลและเจ้าหน้าที่พยาบาล รับผิดชอบในการดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
2.ควรเพิ่มขั้นตอนการซักประวัติ (ตามนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวน และผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงในขั้นตอนการรับผู้ต้องขังรายใหม่ หรือการรับย้ายผู้ต้องขังจากทัณฑสถานอื่น
3.ห้องพยาบาลประจำเรือนจำควรมีการปรับปรุงแนวทางให้เป็นปัจจุบัน (Update) และปฏิบัติตามแนวทางต่าง ๆ ที่กรมควบคุมโรคประกาศ (สามารถติดตามได้จากหน้า web site)
4.บันทึกรายชื่อ หมายเลขห้อง และอาการของผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยด้วยอาการไข้ และ/หรือ มีอาการทางเดินหายใจ แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหากมีการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ
5.ฝึกอบรมความรู้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และทักษะการป้องกันตนเอง รวมทั้งการใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันตน แก่เจ้าหน้าที่ห้องพยาบาล และอาสาสมัครในเรือนจำ (อสรจ.)
6.จัดเตรียมสถานที่/แดนแรกรับ สำหรับผู้ต้องขังใหม่ เพื่อให้ผู้ต้องขังใหม่อยู่ในแดนนี้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ในกรณีที่มีความสงสัยเป็นผู้มีอาการ
7.จัดเตรียมพื้นที่ สำหรับพยาบาลสนามไว้สำหรับรองรับในกรณีที่พบผู้ต้องขับป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ปริมาณมาก (ทัณฑสถานแต่ละแห่ง ต้องกำหนดจำนวนให้เหมาะสมกับศักยภาพของตน)
8.จัดเตรียมพื้นที่แดนกักตัว สำหรับแยกผู้ที่เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง แต่ยังไม่มีอาการ (high risk contact)
9.จัดเตรียมกระบวนการและอุปกรณ์ในการคัดกรองอาการผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปกรณ์ป้องกันตนสำหรับเจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขัง อย่างเพียงพอ
10.ประสานและกำหนดแนวทาง (แบบละเอียด) ร่วมกันกับโรงพยาบาลในพื้นที่ ให้ครอบคลุม การแจ้งเหต การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือผู้ป่วยสงสัย และการขอรับคำปรึกษา
11.แนะนำเจ้าหน้าที่ ผู้คุม และผู้ต้องขังหากเริ่มมีอาการป่วยให้แจ้งห้องพยาบาลภายในเรือนจำหรือทัณฑสถาน และรีบแยกผู้ป่วยสงสัยออกจากบุคคลอื่น
12.ให้เจ้าหน้าที่ของเรือนจำ ทัณฑสถาน ที่มีอาการป่วย มีไข้ ร่วมกับอาการทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็วหรือหายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน นับจากวันเริ่มป่วย หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ
13.หากพบผู้ต้องขัง หรือเจ้าหน้าที่ป่วยพร้อมกันจำนวนมากอย่างผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป
คำแนะนำกรณีเกิดการระบาด
1.ทำการคัดกรองผู้ต้องขังทุกวัน และควรมีการคัดกรองก่อนการปล่อยผู้ต้องขัง (exit screening) หากพบมีอาการไข้ อาการระบบทางเดินหายใจ ร่วมกับประวัติเสี่ยง ตามเกณฑ์การเฝ้าระวังให้ประสานโรงพยาบาลเพื่อพิจารณาความจำเป็นในการกักตัวและติดตาม
2.คัดแยกผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) (เจ้าหน้าที่/พยาบาลห้องพยาบาล สามารถติดตามและศึกษาได้จาก website กรมควบคุมโรค) : http://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/guidelines.php)
3.งดการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการย้ายไปเรือนจำ ทัณฑสถานอื่น
4.จัดให้มีพื้นที่รองรับผู้ต้องขังใหม่ที่มีอาการไข้ หรืออาการทางเดินหายใจ และประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ
5.จัดห้องหรือห้องโถงแยกสำหรับเป็นบริเวณผู้ป่วยไว้ใกล้เคียงกันให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อ) และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ โดยมิให้ย้ายไปมาระหว่างแดนขังหรืออาคารต่าง ๆ
6.พิจารณางดการเยี่ยมผู้ต้องขัง หรือจัดให้มีวิธีการเยี่ยมอย่างเหมาะสม
7.สำรวจคัดกรองผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่เรือนจำ และบุคลากร
– หากพบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ให้เก็บตัวอย่าง NP swab ทุกคนเพื่อตรวจหาเชื้อ
– ผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ที่มีโรคประจำตัว หรือสูงอายุ พิจารณาส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล
– ผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ที่สุขภาพแข็งแรง ให้รักษาที่สถานพยาบาลในเรือนจำ หรือโรงพยาบาลสนาม
– ผู้ที่ไม่มีอาการแต่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย (High risk contact) และมีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ให้แยกอยู่ในแดนกักตัว
– ทุกกรณี ให้มีการพัฒนาแผนร่วมกัน กับหน่วยงานด้านการแพทย์ในพื้นที่ ทั้ง สสจ. และ รพ.
8.ควรให้การดูแลเป็นพิเศษแก่ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว
9.ในการคัดกรองผู้ต้องขังทุกวัน ควรดำเนินการตามรูปที่ 1 จนกว่าจะไม่พบผู้ต้องขังเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ติดต่อกัน 14 วัน
10.หากเรือนจำ หรือทัณฑสถานใด พบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ควรให้
– ยกเลิกหรือเลื่อนกิจกรรมภายใน ที่มีการรวมตัวกันหมู่มากออกไปก่อน
– จัดแบ่งช่วงเวลาการรับประทานอาหารเป็นกลุ่มให้เหลื่อมเวลากัน และ
– พิจารณาปรับการเข้าเยี่ยมของญาติตามความเหมาะสม
คำแนะนำเพื่อลดการแพร่เชื้อในเรือนจำ
1.คัดกรองญาติที่จะมาเยี่ยม หากผู้ใดมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ควรแจกหน้ากากอนามัย และแนะนำการปฏิบัติตัวในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในระหว่างที่เข้าเยี่ยม หรืออาจพิจารณางดการเข้าเยี่ยม
2.คัดกรองผู้ต้องขังใหม่ หากผู้มาใหม่ใดมีอาการป่วย มีไข้ ร่วมกับอาการทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หรือหายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ ให้แยกไว้ก่อน มิให้เข้ามาอยู่รวมกับผู้ต้องขังคนอื่น
3.เจ้าหน้าที่ทุกคน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ประจำห้องพยาบาล ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย และทำความสะอาดมือด้วย alcohol gel อย่างสม่ำเสมv
การทำความสะอาดและจัดการสิ่งปนเปื้อน
1.ของใช้ที่เป็นผ้า สามารถต้มด้วยความร้อนมากก่า 65 องศาเซลเซียส หรือซักในเครื่องซักผ้าที่ใช้น้ำอุ่น 60-90 องศาเซลเซียส ด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้าที่ใช้ปกติ
2.มูลฝอยที่คาดว่าจะมีการปนเปื้อนเชื้อ เช่น กระดาษทิชชู หน้ากากอนามัย ให้ทิ้งในถังที่มีน้ำสะอาดผสมสารละลายไฮโปคลอไรด์เข้มข้นสูงขนาด 5,000 ppm โดยตวงน้ำยา 10% โซเดียมไฮโปคลอไรด์ปริมาณ 50 cc ผสมน้ำสะอาด 950 cc โดยกำจัดขยะและเปลี่ยนน้ำทุก 12 ชั่วโมง
3.พื้นผิวที่ต้องใช้งานต่อเนื่อง เช่น โต๊ะ เตียง ลูกบิดประตู ให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70% โดยฉีดพ่นแอลกอฮอล์ลงบนผ้า จากนั้นนำผ้าไปเช็ดพื้นผิว (ให้ความครอบคลุมที่ดีกว่าการฉีดพ่นสเปรย์ลงพื้นผิวโดยตรง)
4.การทำความสะอาดพื้นห้อง
– ห้องนอน ที่ไม่มีการปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่ง เช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดผสมสารละลายไฮโปคลอไรด์เข้มข้นต่ำขนาด 500 ppm โดยตวงน้ำยา 10% โซเดียมไฮโปคลอไรด์ ปริมาณ 5 cc ผสมน้ำสะอาด 995 cc
– ห้องน้ำหรือห้องที่มีการปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่ง เช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดผสมสารละลายไฮโปคลอไรด์เข้มข้นสูงขนาด 5,000 ppm โดยตวงน้ำยา 10% โซเดียมไฮโปคลอไรด์ปริมาณ 50 cc ผสมน้ำสะอาด 950 cc
– ควรมีการทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือทันทีที่มีการปนเปื้อน
แนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ในเรือนจำ
1.การเลือกสถานที่ ควรพิจารณาคุณสมบัติ ดังนี้
– อากาศโปร่ง และเป็นสถานที่ที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี
– ไม่ควรอยู่ใกล้อาคารที่พักอื่น หรือที่ที่มีความแออัด
– มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านสาธารณูปโภคที่สำคัญในการดำเนินงาน
2.การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ตลอดจนการกำกับดูแลการทำงานของบุคลากร
3.ระบบการดูแลการรักษาผู้ป่วยให้เป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุข
4.ระบบการบริหารจัดการหน่วย หอผู้ป่วย การจัดเวร ประเมินความเพียงพอของการให้บริการ
5.ระบบการขนส่งต่าง ๆ รวมถึง ระบบการส่งต่อผู้ป่วย การขนส่งวัสดุ วัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ขยะติดเชื้อและการจัดการและการเคลื่อนย้ายศพ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยและการป้องกันทางแพร่กระจายเชื้อ
6.ระบบการเชื่อมโยงหรือ การบันทึกทางการแพทย์/การพยาบาล เช่น ระบบเวชระเบียน, การติดต่อสื่อสารทั่วไป ระหว่างโรงพยาบาลสนามกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาลแม่ข่าย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค
7.คำนึงถึงมิติสุขภาพจิตทั้งของเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังให้มีความเหมาะสม