“เจ้าสัวซีพี” ตอบจดหมายนายกฯ ควัก 700 ล้าน ชงช่วยเกษตรกร

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ทำจดหมายตอบกลับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีเนื้อหาดังนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ทำหนังสือลงวันที่ 20 เม.ย.2563 ส่งถึงบรรดามหาเศรษฐีไทยทั้งที่ติดอันดับ 1 ใน 20 พร้อมระบุส่งจดหมายหาเจ้าสัวในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม และซาบซึ้งใจที่หลายท่านได้ลงมือช่วยเหลือประชาชนไปแล้วหลายเรื่อง แต่ผมต้องการขอให้ทุกท่านทำเพิ่มเติม โดยใช้ศักยภาพของท่านมาทำให้เกิดการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนคนไทยที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผมจึงได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือตอบรับนายกฯ โดยระบุในหนังสือตอบรับว่า “ผมถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำเพื่อประเทศโดยเฉพาะในยามวิกฤต เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ และขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการนำประเทศชาติ ก้าวผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลกในครั้งนี้ และขอยกย่องในความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ถือเป็นนักรบแนวหน้าในการรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนไทย ทำให้วันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลถึงวันที่ 30 เมษายน 2563)

นอกจากนี้ทุกครั้งที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยจากทุกภาคส่วน ออกมาให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเสมอมา เช่นเดียวกับวิกฤตในครั้งนี้ ที่จะเห็นได้ว่า ทุกภาคส่วนได้ออกมาร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่ของตนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนไทยอย่างดีมาโดยตลอด พร้อมทั้งเสนอสิ่งที่ผมและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ดำเนินการแล้ว รวมยอดกว่า 700 ล้านบาท พร้อมเสนอโครงการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป”

 

ปัจจุบัน เครือซีพีและบริษัทในเครือได้ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน พนักงาน และอีกหลายภาคส่วนแล้วหลายโครงการ ซึ่งจะยังคงดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้งบประมาณรวมในโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 701.6 ล้านบาท

ส่วนที่ 1 : ระยะแรก

การให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์

  • ดำเนินการสร้าง “โรงงานงานซีพีหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์” ใช้งบประมาณ 175ล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน โดยผลิตและส่งมอบหน้ากากอนามัยฟรี 3,000,000 ชิ้นต่อเดือน โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นผู้จัดสรรให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลทั่วประเทศ
  • บริจาคชุดป้องกัน Tyvek 400 Tychem 2000 หน้ากาก N95 แว่นตานิรภัย ถุงคลุมเท้า ชุดคลุมป้องกันเชื้อชนิดคลุมทั้งตัว (Coverall) และ หน้ากากป้องกันเชื้อ (Face shield) ให้บุคลากรทางการแพทย์
  • สนับสนุน Antibody test kit จำนวน 110,000 ชิ้น มูลค่ารวม 20 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • บริจาคห้อง Conference System จำนวน 2 ชุด มูลค่า 5 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • มอบเงินสนับสนุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น
  • มอบเงิน 77 ล้าน ให้กับ 77 โรงพยาบาล ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศภายใต้โครงการ“คนไทยไม่ทิ้งกัน” (ถึงปัจจุบันขยายเพิ่มอีก 5 โรงพยาบาล) มอบชุด PPE จำนวน 94,830 ชุด หน้ากากอนามัย KN95 จำนวน 75,480 ชิ้น แอลกอฮอล์ 3,670 ลิตร และอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค (เครื่องช่วยหายใจ เครื่อง Monitor หัวใจ เครื่อง Monitor สำหรับผู้ป่วย เตียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ)ดำเนินการโดยซีพีออลล์
  • สนับสนุนอาหารให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 120 แห่งทั่วประเทศ (เริ่ม 1 มีนาคม2563) และยังคงส่งมอบให้กับทุกโรงพยาบาลในโครงการอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • สนับสนุนอาหารให้ครอบครัวบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 30,000 ครอบครัว (เริ่ม 9 เมษายน 2563 และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง) โดยส่งอาหารถึงบ้านให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของรัฐที่มีส่วนช่วยดูแลสถานการณ์ โควิด-19ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • สนับสนุนแท็บเล็ต และโทรศัพท์วิทยุสื่อสารจำนวนกว่า 500 เครื่อง พร้อมซิมทรูมูฟ เอช ที่ไม่จำกัดปริมาณ
    การใช้งานแก่โรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19รวม 50 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการโดยกลุ่มทรู
  • มอบซิมแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้อินเตอร์เน็ตไม่จำกัด พร้อมโทรฟรีทุกเครือข่าย นาน 90 วัน จำนวน 2,000 ซิม ดำเนินการโดยกลุ่มทรู
  • มอบข้าวสารสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ โดยข้าวตราฉัตร

การให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชน และแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ

  • ดูแลผู้เฝ้าระวังตนที่กลับจากต่างประเทศ ผ่านโครงการ “มอบอาหารจากใจ ต้านภัย COVID ส่งอาหารถึงบ้าน” ให้กับผู้เฝ้าระวังตนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 โดยมอบให้กว่า 20,000 ราย (จบโครงการแล้ว) ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • มอบไข่ไก่เพื่อทำอาหารปรุงสุกพร้อมทานแจกจ่ายผู้ยากไร้และว่างงานดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • “โครงการลดจริง…ไม่ทิ้งกัน” โดยช่วยแบ่งเบาค่าครองชีพประชาชนในช่วงโควิด-19 โดยจำหน่ายอาหารพร้อมทานในราคา 20 บาท จำนวน 1,000,000 ถาด ที่ร้านซีพีเฟรชมาร์ท ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • “โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ร่วมด้วยช่วยค่าครองชีพ” สนับสนุนข้าวกล่องจำนวน 13 ล้านกล่อง จำหน่ายในราคา 20 บาทดำเนินการโดยซีพีออลล์

การให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จากปัญหาการตกงาน หรือ ขาดรายได้

  • เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศนโยบายไม่ปลดพนักงานจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อรักษางาน นอกจากนี้
    ยังสร้างงานเพิ่มโดย ซีพี ออลล์ มีการประกาศจ้างงานเพิ่ม 20,000 อัตรา และซีพีเอฟมีการประกาศจ้างงานเพิ่ม 5,000 อัตรา เริ่มตั้งแต่ มีนาคม 2563

การให้ความช่วยเหลือพนักงานกว่า 300,000 คนในประเทศไทย

  • ในช่วงเวลาการระบาดของโควิด-19เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความมั่นใจแก่เพื่อนพนักงานทุกคนว่า
    เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือฯ ไม่มีนโยบายเลิกจ้างอันเนื่องมาจากผลกระทบของสถานการณ์นี้ สร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน และการดำรงชีพและปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไป
  • หากพนักงานได้รับเชื้อโควิด-19เครือเจริญโภคภัณฑ์มีนโยบายดูแลพนักงานโดยรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล
  • สำหรับบุคคลในครอบครัวของพนักงานได้แก่ คู่สมรสและบุตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เช่น
    ถูกเลิกจ้าง หรือ ไม่ได้รับค่าจ้างอันเนื่องจากการปิดงาน หรือปิดกิจการร้านค้าของตนเอง จนไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ไหว เครือเจริญโภคภัณฑ์จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้วยการมอบคูปองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปซื้ออาหารและเครื่องดื่ม
  • ให้ความช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนของบุตรธิดาของพนักงานที่เดือดร้อนเช่น การขอกู้ยืมเงินฉุกเฉินระยะสั้นการติดต่อกับสถาบันการเงิน เป็นต้นโดยจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณีไป

การให้ความต่อเนื่องกับภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการรายย่อย และภาคการศึกษา

  • ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร SME นำร่องกว่า 50 ร้านค้าพันธมิตรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
    ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผลักดันเข้าสู่ตลาดออนไลน์ และสนับสนุนพื้นที่สื่อโฆษณาทุกช่องทางให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ โดยในอนาคต มีแผนจะขยายพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร
    ให้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ดำเนินการโดยซีพีอินเตอร์เทรด
  • มอบ “ซิมสามัญประจำบ้าน แจกฟรีที่ 7-Eleven ทั่วประเทศ” โดยสามารถใช้แพลตฟอร์ม True Virtual World เพื่อเรียนทางไกลและทำงานที่บ้าน โดยไม่เสียค่าอินเทอร์เน็ต โทรฟรีสายด่วนสำคัญช่วงสถานการณ์โควิด-19 ดำเนินการโดยกลุ่มทรู
  • ให้ความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาในการเข้าถึงองค์ความรู้โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม True Virtual World เพื่อสนับสนุนการเรียนทางไกล ดำเนินการโดยกลุ่มทรู

การให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์

  • ถวายปัจจัยสมทบทุนช่วยเหลือพระสงฆ์ทั่วประเทศที่ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 จำนวน 500 วัด ผ่านทางสำนักเลขาฯสมเด็จพระสังฆราช เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่พระสงฆ์ สามเณร ที่ไม่สามารถออกมารับอาหารบิณฑบาตและกิจนิมนต์ต่างๆ ของประชาชนได้ดำเนินการโดยซีพีออลล์

การให้ความช่วยเหลือชุมชน

  • “โครงการกองทัพภาคที่ 1 ร่วมกับ CPFส่งอาหารจากใจสู่ชุมชน” ดำเนินการส่งมอบอาหารให้กับชาวชุมชนคลองเตยกว่า 8,499 หลังคาเรือน
  • “โครงการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกทม. ร่วมกับ CPFส่งอาหารจากใจสู่ชุมชน” (จะเริ่มในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2563) ส่งมอบอาหารมื้อกลางวันเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับชาวชุมชนแออัดต่างๆ
    ใน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 2 เดือน

เนื้อหาในจดหมายของนายธนินท์ ระบุอีกว่า “ในระยะต่อไป สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การเตรียมการเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องรักษาความเชื่อมั่น และประคองระบบสังคม วิถีชีวิต ให้สามารถดำรงอยู่ได้ ธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องไม่ล้มหายตายจากไป และยังรักษาการจ้างงาน พี่น้องประชาชน จะยังคงมีรายได้เลี้ยงชีพอาชีพอิสระ อาชีพรับจ้าง เกษตรกร หรือแม้กระทั่งคนว่างงาน จะยังคงมีรายได้เพียงพอในการยังชีพมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ในยามที่ฟ้ามืด ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อยามฟ้าสว่าง นั่นคือ การเตรียมแผนฟื้นฟูประเทศไทยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมองวิกฤตนี้เป็นโอกาส และ ประเทศไทยกล้าตั้งเป้าหมายให้ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก” ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ ซีพีขอนำเสนอโครงการที่ซีพีจะดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งโครงการที่น่าสนใจคือ โครงการปลูกน้ำ โดยเน้นว่าประเทศไทยไม่เป็นเพียงอู่ข้าวอู่น้ำของคนไทย แต่ได้พัฒนาจนกลายเป็นผู้นำการผลิตอาหารให้แก่ชาวโลกอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่รวดเร็วและรุนแรงได้บั่นทอนทรัพยากรน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการสร้างผลผลิตการเกษตร

นอกจากนี้ในแต่ละปีประเทศไทยต้องประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะไม่สามารถจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอและเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาให้จบสิ้นและเบ็ดเสร็จถาวรได้ ซ้ำร้ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของหลายประเทศ ก็ถูกประเทศต้นน้ำสร้างเขื่อนขึ้นมาก กว่า 11 แห่ง และยังคงสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศปลายน้ำเช่นประเทศไทย ซึ่งมีระบบชลประทานครอบคลุมเพียง 30% ของเนื้อที่ ถูกลดทอนความมั่นคงของประเทศและความสามารถด้านการผลิตอาหารลงไปเรื่อยๆ โดยปริยาย ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรมีหนี้สินล้นพ้นตัว ยากจนอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ถูกบีบคั้นอย่างไม่มีทางออก จะจัดแบ่งที่ทำกินให้ลูกหลานทำต่อก็ทำให้แปลงเล็กลงและต้นทุนก้าวกระโดดขึ้นจนขาดทุนทำการเกษตรไม่ได้ ทำให้ลูกหลานเกษตรกรต้องอพยพเข้าเมืองหนีจากภาคเกษตรซึ่งขาดแรงจูงใจดูดรั้งให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่มาทดแทนรุ่นปัจจุบันที่มีอายุเฉลี่ยกว่า 58 ปีได้ ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ปัญหาทรัพยากรน้ำจึงจำเป็นต้องถูกแก้ไขเป็นการเร่งด่วนที่สุด

นอกจากความท้าทายที่เกิดขึ้นจากปัจจัยน้ำที่ได้กล่าวไปแล้ว ผลิตผลข้าวก็มีปัญหาในตัวเอง คือ ในตลาดโลกการผลิตข้าวมีปริมาณมากกว่าความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่องมาเป็นหลายทศวรรษหลังการยุติของสงครามเย็น ทำให้ราคาข้าวตกต่ำมาโดยตลอด เฉพาะประเทศที่สามารถพัฒนาการปลูกข้าวไปสู่อุตสาหกรรมข้าวครบวงจร คือสามารถบริหารจัดการผ่านสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ดำเนินการตั้งแต่ต้นทางคือปลูกข้าวบนพื้นที่ๆเป็นแปลงติดกันขนาดใหญ่มาก ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีชั้นสูงแทนแรงงานคน ก็จะสามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลงได้อย่างมากจนสามารถแข่งขันทำกำไรในราคาที่ตกต่ำได้

แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่นประเทศไทย ที่ยังใช้วิธีดั้งเดิมผ่านชาวนาเกษตรกรรายย่อย ก็ต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักและต่อเนื่องโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ภาครัฐบาลมีความจำเป็นต้องนำวิธีการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เช่น การประกันราคาข้าว การจำนำข้าว และการพักชำระหนี้ ซึ่งมิใช่การแก้ปัญหาจริงแต่เป็นเพียงการซื้อเวลาการแก้ปัญหาออกไป แม้การจะแก้ปัญหาโดยการกำหนดให้ชาวนาเปลี่ยนไปปลูกพืชมูลค่าสูงอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ไม้ผลและไม้ยืนต้น แต่ก็ต้องใช้เวลารอผลผลิตหลังปลูกไม่ต่ำกว่า 3 ถึง 5 ปี ระหว่างนั้นชาวนาจะมีรายได้เลี้ยงชีพอย่างไร? ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจการเกษตรที่ได้กล่าวมานี้จะถูกแก้ไข ผ่านแผนยุทธการถ่าย“ปลูกน้ำ” ซึ่งซีพีได้ทำการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งน้ำ ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกรไทยให้มากที่สุด

ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกหลายมาตรการที่ดี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในภาวะวิกฤตโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องและเห็นผล จึงถือได้ว่า โครงการที่เสนอมานี้เป็นเพียงส่วนเสริม ในการบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในเอกสารฉบับนี้ เป็นมุมมองของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งอยู่ที่ภาครัฐจะเลือกนำไปใช้ตามความเหมาะสม หากมีคำแนะนำสิ่งใดที่ควรทำเพิ่มเติม เครือเจริญโภคภัณฑ์ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป