จับตาเลือกตั้งอเมริกา ฤๅพญาอินทรีจะหวนคืน CPTPP

แฟ้มภาพ โจ ไบเดน : AFP
แตกประเด็น
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และเข้าทำงานในทำเนียบขาวสัปดาห์แรกเมื่อเดือนมกราคม 2560 เขาได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร (executive order) ถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงทางการค้า TPP (Trans-Pacific Partnership) ซึ่งสหรัฐเข้าร่วมเจรจามาตั้งแต่ปี 2552 สมัยประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) จากพรรคเดโมแครต เนื่องจากเห็นว่ามิได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ภาคการผลิต และแรงงานสหรัฐ โดยหันมาเดินหน้ามุ่งเน้นการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีแทน และหันหลังให้กับข้อตกลงการค้าแบบพหุภาคี

ซึ่งหลังจากถอนตัวจาก TPP สหรัฐเน้นไปที่การเจรจาแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North America Free Trade Agreement : NAFTA) จนกลายมาเป็นความตกลงทางการค้าฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา หรือ United States-Mexico-Canada : USMCA ต่อด้วยการเปิดฉากตอบโต้ทางการค้ากับจีนเพื่อลดการขาดดุลทางการค้า

หลังจากการถอนตัวจากข้อตกลง TPP ของสหรัฐ 11 ชาติที่เหลือ ซึ่งเป็นผู้ร่วมเจรจายกร่างข้อตกลง TPP มาโดยลำดับ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี เม็กซิโก แคนาดา สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และมาเลเซีย ยังคงเดินหน้าผลักดันให้เกิดข้อตกลง TPP-11 ภายใต้ชื่อ Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP โดยนำสาระความตกลง TPP มาใช้ แต่ได้ชะลอการมีผลใช้บังคับในบางประเด็น ซึ่งสหรัฐผลักดันที่เป็นข้อกังวลของ 11 ประเทศที่เหลือ

เช่น ชะลอการขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรอันเกิดจากความล่าช้าในการจดทะเบียนสิทธิบัตรหรือการขึ้นทะเบียนตำรับยา การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา การอนุญาตให้จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่มีการปรับปรุงการใช้ใหม่ วิธีการใหม่ และขั้นตอนการใช้ใหม่ในผลิตภัณฑ์เดิม และสิ่งประดิษฐ์จากพืช เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2563 กำลังเป็นที่จับตามอง และนำไปสู่การประเมินสถานการณ์ว่า หากมีการเปลี่ยนตัวผู้นำสหรัฐ และตัวแทนจากพรรคเดโมแครตได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และสหรัฐจะมีท่าทีต่อความตกลง CPTPP อย่างไร จะมีการหวนคืนกลับมาเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ซึ่งตนเคยถอนตัวออกมาหรือไม่

ปัจจุบันนี้ผู้ที่ถือเป็นตัวเก็งในการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ คงหนีไม่พ้น นายโจ ไบเดน (Joe Biden) อดีตรองประธานาธิบดีในยุคของ นายบารัก โอบามา (Barack Obama) จากพรรคเดโมแครต และด้วยความที่นายไบเดนเคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในยุคที่มีการผลักดันการจัดทำความตกลง TPP โดยสหรัฐ ทำให้หลายประเทศที่สนใจ CPTPP ติดตามประเด็นนี้เป็นพิเศษ เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้อาจสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความตกลง CPTPP เนื่องจากนายไบเดนได้เคยเรียกร้องให้ประธานาธิบดีทรัมป์ให้สัตยาบันต่อ CPTPP

นอกจากนี้ ในช่วงหาเสียงนายไบเดนได้แสดงความคิดเห็นว่า แม้ความตกลง TPP จะไม่ใช่ความตกลงที่สมบูรณ์แบบ แต่แนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังของความตกลงเป็นแนวความคิดที่ดีในการรวมกลุ่มประเทศที่มีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน และมีมาตรฐานสูงด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และความโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสหรัฐกำลังประสบปัญหาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาอื่น ๆ ภายในประเทศ หากนายไบเดนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี การเจรจา CPTPP อาจยังไม่ใช่นโยบายที่จะให้ความสําคัญเป็นอันดับแรก เนื่องจากยังมีประเด็นด้านสังคมเศรษฐกิจอื่น ๆ ภายในสหรัฐที่เป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า

อย่างไรก็ดี ต้องอย่าลืมว่าการดำเนินนโยบายภูมิรัฐศาสตร์ และการสร้างความมั่นคงทางการเมืองระหว่างประเทศ การเพิ่มบทบาทของสหรัฐในเวทีการค้าระหว่างประเทศเพื่อคานอำนาจกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่นก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับสหรัฐเช่นกัน

ด้วยปัจจัยข้างต้นจึงยากที่จะคาดเดาสถานการณ์และนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยเฉพาะการตัดสินใจกลับเข้ามาเป็นสมาชิก CPTPP หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ แต่ประเด็นที่สำคัญคือ หากสหรัฐต้องการจะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ในชั้นนี้ สหรัฐก็ถือเป็นคนนอกที่จะต้องผ่านขั้นตอนการขอเข้าเป็นสมาชิกใหม่เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิก CPTPP นั่นคือ ต้องยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงต่อนิวซีแลนด์ในฐานะประเทศผู้รับฝากความตกลง CPTPP และต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก CPTPP ทั้ง 11 ประเทศ  

ไทยในฐานะประเทศที่อยู่ระหว่างหารือและพิจารณาว่าควรจะยื่นหนังสือขอเจรจาเข้าเป็นสมาชิก CPTPP กับนิวซีแลนด์หรือไม่ ควรติดตามสถานการณ์การเมืองและนโยบายของสหรัฐอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยรองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น ในปี 2562 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอยู่ที่ 48,630 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของการค้าไทยกับโลก

ดังนั้น หากสหรัฐตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ความตกลง CPTPP น่าสนใจ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากในสมัยที่สหรัฐร่วมอยู่ใน TPP 12 ประเทศ TPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ ครอบคลุมประชากรกว่า 800 ล้านคน หรือร้อยละ 40 ของ GDP โลก มูลค่าการค้ารวม 1 ใน 3 ของการค้าโลก

ขณะเดียวกัน ก็อาจจะทำให้ความตกลงมีความท้าทาย เนื่องจากแรงผลักดันและการตั้งความคาดหวังของสหรัฐในการเจรจา TPP ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ TPP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมกฎระเบียบทางการค้าที่เชื่อมโยงกับประเด็นที่โลกยุคใหม่ให้ความสําคัญ เช่น แรงงาน สิ่งแวดล้อม ความโปร่งใส และนวัตกรรม เป็นต้น

ในกรณีสหรัฐเปลี่ยนนโยบายหวนกลับมาสนใจ CPTPP และได้เข้าเป็นสมาชิก CPTPP ก่อนประเทศผู้สมัครใหม่อื่น ๆ สหรัฐอาจโน้มน้าวสมาชิก CPTPP ให้นำสาระความตกลงที่ยกออกไปกลับเข้ามาบังคับใช้ใหม่ หรืออาจเสนอให้เจรจาเพิ่มเติมสาระใหม่ ๆ ใน CPTPP หากสำเร็จจะส่งผลให้ประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกใหม่หลังจากนั้นต้องยอมรับข้อบทเหล่านั้นไปด้วย

แต่ในทางกลับกัน หากประเทศเข้าใหม่ได้เข้าร่วมความตกลง CPTPP ก่อนสหรัฐหวนกลับเข้ามาใน CPTPP ก็จะถือเป็นสมาชิกในวง CPTPP แล้ว และมีสิทธิที่จะออกเสียงร่วมตัดสินใจว่าจะเห็นชอบให้รับสหรัฐเข้าเป็นสมาชิก CPTPP หรือไม่ รวมทั้งมีโอกาสร่วมพิจารณาตัดสินใจว่าจะนำสาระใหม่ ๆ ที่สหรัฐเรียกร้องเพิ่มเติมเข้ามาใน CPTPP หรือไม่ CPTPP จึงอาจเป็นที่จับตามองของประชาคมโลกอีกครั้งหากพญาอินทรีจะหวนคืนเวที CPTPP