“อัยการ” ขอ 7 วัน ตอบทุกคำถามคดีบอส อยู่วิทยา “สิระ” จ่อเชิญ ผบ.ตร.ชี้แจง

วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้มีพิจารณากรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพิกถอนทุกหมายจับ โดยเชิญผู้แทนที่เกี่ยวข้องจากฝั่งตำรวจและอัยการมาชี้แจง โดยฝั่ง สตช. มี พล.ต.อ.ชนสิษฐ์ วัฒนวรางกูร รอง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบช.กมค.) พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ ในฐานะอดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ พ.ต.อ.พสัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ นายทัศนัย ไชยแขวงคมเดช ผู้แทนสภาทนายความ ขณะที่ฝ่ายอัยการประกอบด้วย นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวของสำนักงานอัยการ

กมธ.รุมซักตำรวจ – อัยการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทาง กมธ.ได้พยายามซักถามผู้แทนตำรวจและผู้แทนอัยการ ในประเด็นต่างๆ อาทิ ประเด็นให้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ต้องหามีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ กรณีที่พ่อบ้านในบ้าน ออกมารับผิดแทนจนถูกตั้งข้อหาแจ้งความเท็จ มีการว่าจ้างให้มาเป็นแพะหรือไม่ และคดีถึงไหนแล้ว

รถราคา 30 ล้าน หากขับช้าหากชนสามารถเบรกได้ทันที แต่กรณีนี้ลากไปถึง 160 เมตร ประเด็นความเร็วถูกบิดเบือนหรือไม่ กมธ.ยุติธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีอำนาจอะไรที่ส่งอัยการสูงสุดพิจารณาตามคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหา และอัยการต้องพิจารณาด้วยหรือไม่ เพราะเดิมอัยการพิเศษสั่งไม่รับการพิจารณาคำร้อง พยาน 2 ปากที่เป็นพยานใหม่ได้ให้การในชั้นไหน ผู้เสียหายได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยทั้งค่าเสียหายทางแพ่งแล้วหรือไม่ ผู้ญาตผู้ตายไม่ฟ้องแพ่งและอาญาอีกต่อไปได้มีข้อยุติแล้วหรือไม่ และกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องมีพยานหลักฐาน และเหตุผลอะไร

ตำรวจแจงยิบวันเกิดเหตุ

ทั้งนี้ พล.ต.ต.ชุมพล ลำดับเหตุการณ์ว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 เวลาประมาณ 05.30 น. มีเหตุรถชนบริเวณถนนสุขุมวิท มีนายวรยุทธ ชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย หลังจากได้รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปดูที่เกิดเหตุ ซึ่งรถคู่กรณีไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่พบรอยน้ำมันไปตามถนน น่าเชื่อว่าเป็นของคู่กรณีที่ชนจึงตามรอยไป ซึ่งอยู่ห่างที่เกิดเหตุไม่ถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นบ้านของผู้ต้องหา

ขณะนั้น จะขอเข้าไปตรวจค้น โดยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เดินทางไปสั่งการด้วยตนเอง แต่มีคนในบ้านคือนายสุเวช หอมอุบล ซึ่งเป็นพ่อบ้าน ได้ออกมาพบกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ โดยบอกว่าเป็นคนขับรถชนตำรวจจริง จึงได้สั่งการให้นำตัวไปสอบปากคำ พนักงานสอบสวนรายงานว่านายสุเวชที่มารับว่าเป็นคนขับให้ปากคำไม่ชัดเจน มีเหตุอันควรสงสัยว่าน่าจะไม่ใช่ผู้กระทำผิด จนรับว่าไม่ได้เป็นคนขับ

ในระหว่างนั้น ปรากฏว่า ที่หน้าบ้านของผู้ต้องหามีป้อม รปภ. และสมุดบันทึกคนเข้าออกในบ้าน ปรากฏว่ามีบันทึกว่าผู้ต้องหาขับรถออกจากบ้านไปในเวลา 05.00 น.เศษ และกลับเข้ามาหลังเกิดเหตุเล็กน้อย จึงสันนิษฐานว่าคนที่ก่อเหตุคือนายวรยุทธ เพราะมีหลักฐานการบันทึกการเข้า-ออก แต่ไม่มีข้อมูลของนายสุเวชที่รับสารภาพ จึงสั่งการให้ควบคุมตัวนายสุเวช ในข้อหาแจ้งความเท็จ ได้มีการส่งฟ้องต่อศาลแขวงพระนครใต้ เดือนมีนาคม 2556 ศาลพิพากษาว่ามีความผิดจริง

สาเหตุที่นายสุเวชออกมารับผิดแทน โดยบอกว่าเป็นหนี้บุญคุณชีวิตของพ่อผู้ต้องหา เมื่อเห็นตำรวจมาบ้านจึงออกไปรับสารภาพโดยไม่ได้ปรึกษาใคร ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในวันนั้น พนักงานสอบสวนเชื่อว่าในทางนั้น เพราะเหตุการณ์เกิดเร็วมาก ไม่น่าจะมีการเตี๊ยมกันได้ เพราะเมื่อเกิดเหตุ ตำรวจล้อมบ้าน นายสุเวชก็ออกมาทันที

หลังจากนายสุเวชรับสารภาพแล้วว่าให้การเท็จ จึงขอหมายค้นบ้านผู้ต้องหา และเจ้าของบ้านยอมให้เข้าไป และได้พบรถคันเกิดเหตุมีสภาพว่าไปเฉี่ยวชนมา คนในบ้านรับว่านายวรยุทธขับรถออกไปชน มีการเจรจากระทั่งนายวรยุทธมอบตัว และนำตัวไปที่โรงพัก พร้อมนำรถคันเกิดเหตุไปด้วย

ขอเวลารวบรวมเอกสาร

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นมีการสอบสวน พนักงานสอบสวนทำสำนวนเสร็จสิ้นส่งอัยการเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเวลา 5 เดือนเศษ ส่วนเรื่องรายละเอียดสอบเพิ่มเติมเป็นเวลาหลายปีกว่าคดีจะยุติใช้เวลา 8 ปี เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นคนสอบปากคำพยานเพิ่มเติมตามที่พนักงานอัยการร้องขอมามีหลายท่าน ไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง สตช.กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ เพราะตนดำรงตำแหน่งถึงปี 2557 และได้รับมอบให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่อื่น ซึ่ง สตช.กำลังตรวจสอบอยู่ว่ามีใครเกี่ยวข้องเพิ่มเติมบ้าง

พล.ต.ต.ชุมพล กล่าวว่า ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้กำกับ สน.ทองหล่อ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน มีทั้งระดับกองบังคับการ และระดับโรงพัก และมีพนักงานสอบสวนหลายท่านที่ช่วยกันสอบคดีนี้ แต่ข้อเท็จจริงเป็นระยะเวลานานพอสมควรจะต้องใช้เวลารวบรวมเอกสาร

“อย่างไรก็ตาม ที่ กมธ.สงสัยว่าตำรวจได้ทำตามครบทุกขั้นตอนหรือไม่ ในวันนั้นเราได้นำตัวผู้ก่อเหตุและรถของกลางมาที่ สน.ทองหล่อ และให้ผู้ต้องหาแสดงความบริสุทธิ์ใจนำตัวไปตรวจที่โรงพยาบาลและทำหนังสือให้ตรวจหาหาสารเสพติด หรือสารแปลกปลอม ซึ่งรายงานอยู่ในสำนวนการสอบสวนครบถ้วน ส่วนคำถามว่าเหตุใดไม่ฟ้อง เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนหลายท่าน ซึ่งมีเหตุผลของผู้ชำนาญการปรากฏอยู่ในสำนวน จะต้องไปชี้แจงต่อ สตช.เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ตรงกัน ขอเรียนให้ทราบว่า ทุกท่านสงสัย สารแปลกปลอม ร่องรอยบาดแผล การตรวจสภาพรถ ความเห็นผู้ชำนาญทุกแขนงอยู่ในสำนวนการสอบสวนแล้ว” พล.ต.ต.ชุมพล กล่าว

อัยการขอเวลา 1 สัปดาห์เคลียร์ทุกคำตอบ

ด้านนายปรเมศวร์ ตอบคำถามที่ถามว่าเหตุใดอัยการจึงสั่งไม่ฟ้อง และความเห็นของ กมธ.กฎหมายของ สนช.อัยการรับฟังแค่ไหน มีพยานหลักฐานอะไรใหม่จึงมีการเปลี่ยนแปลง และเหตุใด สตช.จึงไม่โต้แย้ง

โดยกล่าวว่า ตนกำลังนั่งทำงานหลังจากอัยการสูงสุดแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันศุกร์ 24 กรกฎาคม 2563 และเพิ่งได้อ่านสำนวน สัปดาห์หน้าทุกคำถามจะมีคำตอบ แต่เบื้องต้นทางอัยการได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนมี 4 แฟ้มใหญ่ๆ รับมาเมื่อ 4 มีนาคม 2556 ตั้งข้อหา 5 ข้อหา เมาแล้วขับ ขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด ชนทรัพย์สินเป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหาย ขับรถชนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และหลบหนี ซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องในข้อหาเมาแล้วขับ และขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่อัยการเจ้าของสำนวนพิจารณาแล้วสั่งไม่ฟ้องเฉพาะข้อหาเมาแล้วขับเท่านั้น จากนั้นมีการร้องขอความเป็นธรรม

ยันเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง

ส่วนประเด็นหลังจากนี้ยังสอบข้อเท็จจริง อยู่ระหว่างตรวจสำนวนกันโดยละเอียด เพราะที่เป็นข่าวบางจุดบางช่วงไม่ตรง ถ้าเรามาชี้แจงเน้นในสำนวน ตอบคำถามสื่อมวลชน เราจึงคิดว่าขอให้เสร็จก่อน สัปดาห์หน้าจะมาตอบทุกคำถาม ส่วนคำถามว่าอัยการถูกแทรกแซงได้ไหม เท่าที่ทำงานมาตั้งแต่ พ.ศ.2521 ผู้บังคับบัญชาไม่เคยสั่งให้ฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ไม่เคยรับคำสั่งนักการเมืองท้องถิ่นหรือนักการเมืองระดับชาติ แม้ในหน่วยงานเดียวกันยังแย้งกลับไปกลับมา เราเป็นอิสระจริงๆ ครอบงำเราไม่ได้ ส่วนการสั่งไม่ฟ้องซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมอยากรู้ทั้งหมด คณะกรรมการทั้ง 7 คน ยังไม่ได้อ่านสำนวนเลย จะเร่งทำให้เสร็จในสัปดาห์หน้า

จ่อเชิญ ผบ.ตร.มาชี้แจง

พล.ต.อ.ชนสิษฐ์ กล่าวว่า มีหลุดออกมาในสังคมโซเชียล แม้ตนเอง เป็นตำรวจยังสงสัย ผบ.ตร.ยังสงสัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง 3 คำสั่ง คิดว่าถ้าในส่วนที่ประชาชนไม่เข้าใจ สงสัยประเด็นไหน ให้ทำเป็นบันทึกนำสู่คณะกรรมการที่พิจารณาแล้วไปดูข้อสงสัยต่างๆ เพื่อมาตอบกับ กมธ.ชุดนี้น่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย

ด้านนายสิระกล่าวว่า ในการประชุมของกรรมาธิการสัปดาห์หน้า จะเชิญตำรวจและอัยการมาให้ข้อมูลอีกครั้ง เพื่อต้องการให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของทั้ง 2 หน่วยงาน มีระยะเวลาในการทำงานและมีข้อมูลมาชี้แจงกับกรรมาธิการ โดยขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาให้ข้อมูลด้วยตนเอง พร้อมให้ตำรวจที่สามารถตอบคำถามกรรมาธิการได้เข้ามาให้ข้อมูลด้วย พร้อมทั้งจะหารือกับคณะกรรมาธิการการตำรวจ และคณะกรรมาธิการกิจการศาล สภาผู้แทนราษฎร ในการตกลงร่วมกันถึง การตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีนี้และกำหนดวันเวลาที่จะให้ทางตำรวจและอัยการมาชี้แจงกับ กรรมาธิการทั้ง 3 คณะด้วย