พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบช.ก. คนใหม่ น้องชายเลขาธิการพระราชวัง

วันที่ 24 กันยายน 2563 พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้รับการโปรเกล้าฯ เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) คนใหม่

พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2507 ที่จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันอายุ 56 ปี สมรสกับ นิภาพรรณ มีบุตรสาว 2 คน พี่น้อง 5 คน เป็นบุตรคนสุดท้อง น้องชายของ พลเอก สถิตย์พงศ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง บิดาคือ นายนิพนธ์ และ นางสมนึก สุขวิมล

เขาเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนพันธะศึกษา เขตดุสิต กรุงเทพฯ ก่อนจะไปเรียนต่อชั้นมัธยม ที่โรงเรียนโยธินบูรณะ และเรียนระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นสิงห์แดง รุ่นที่ 38

หลังเรียนจบก็ได้เข้าทำงานเป็นพนักงาน บริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ ทำอยู่ได้ 7 ปี ก็ตัดสินใจลาออก

จากนั้น ได้เข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4

เริ่มต้นชีวิตเป็นตำรวจ ในปี 2540 ดำรงตำแหน่งเป็นรองสารวัตร มนกองกำกับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 เป็นเวลา 2 ปี

โดยในปี 2543 ขณะติดยศร้อยตำรวจโท ได้ไปเรียนที่ โรงเรียนสืบสวนที่วิทยาลัยการตำรวจ เรียนจบสอบได้ที่ 3 ตามกติกาผู้ที่สอบได้ที่ 1 และ 2 จะไปอยู่กองปราบ แต่เนื่องจากเวลานั้นคนที่ได้ที่ 1 อยู่กองปราบอยู่แล้ว ขณะที่คนที่ได้ที่ 2 เป็นครูอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรม ไม่มารายงานตัว เขาจึงได้ย้ายจาก 191 มาเป็น รองสารวัตร อยู่ในสังกัดกองปราบปราม เป็นหัวหน้าชุดสืบสวน อยู่งานแผนก 3 กอง 2 รถวิทยุ ใช้ชีวิตเป็นตำรวจอยู่ที่กองปราบฯ นานถึง 17 ปี

ได้ขึ้นเป็น สารวัตร ที่กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว อยู่สถานี 3 กองกำกับการ 1 ดูแลรถวิทยุฝั่งธน  ต่อมาได้ย้ายจากสายตำรวจท่องเที่ยว มาดำรงตำแหน่ง สารวัตรกองร้อยที่ 3 คุมเรื่องการปราบจลาจล

หลังการเปลี่ยน ผบ.ตร. คนใหม่ ได้รับการสับเปลี่ยนตำแหน่งให้มาคุมรถสายตรวจกองร้อยที่ 5 กระทั่งได้ขึ้นเป็น รองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ

หลังจากเข้าเรียนโรงเรียนผู้กำกับ เป็น รองผู้กำกับ ก็ได้รักษาการผู้กำกับกองปฏิบัติการพิเศษ จนครบวาระของการเป็นผู้กำกับ

เคล็ดลับการทำงานของ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ เคยกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์กับ “มติชน” ว่า การบริหารผู้ใต้บังคับบัญชานั้นก็ได้เอาหลักทฤษฎีที่เรียนปริญญาโทมาปรับใช้ คือ 1.ทฤษฎีภาวะผู้นำ 2.ทฤษฎีแรงจูงใจ 3.ทฤษฎีความต้องการของมนุษย์

“ต้องคิดเสมอว่าอย่าคิดว่า หลักกูมันจะใช้ได้ มันคือความรู้สึกแค่ตัวเราเพียงคนเดียว แต่หลักวิชาการนั้นได้การทำการวิจัยและการพิสูจน์ทราบแล้ว จึงนำทุกอย่างมาปรับใช้”

“หากเราเป็นผู้นำที่ดีก็จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาซึมซับพฤติกรรมนั้น นอกจากนี้ก็ยังทำให้ประชาชนเห็นถึงแง่มุมที่ดีของตำรวจ เสียงตำรวจเสียงเดียวมันไม่ดัง แต่เสียงของพี่น้องประชาชนดังเสมอ”

ทัศนะต่ออาชีพตำรวจ ของผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นับว่าเปรียบเทียบได้อย่างเห็นภาพ “ตำรวจก็เหมือนผ้าขาว ผ้าดี ในหน้าหนาวก็สามารถเป็นผ้าห่มที่อบอุ่นให้ประชาชนได้ หน้าร้อนก็เหมือนผ้าแพร กันแดดกันฝนให้กับประชาชนได้”