วัคซีนโควิด-19 จีนมาแรง ไทยจองซื้อ 2 บริษัท 63 ล้านโดส

ภาพจาก Pixabay

สถานการณ์เศรษฐกิจ-ธุรกิจ เกิดปัจจัยบวกขึ้นทันทีที่มีข่าววัคซีนโควิด-19 จะทำให้คนไทยเข้าถึงในเดือนมีนาคม 2564

ท่ามกลางขั้นตอนและกระบวนการ การได้มาซึ่งวัคซีนที่ต้องเป็นแบบ “รัฐต่อรัฐ” เท่านั้น

อีกทั้งบริษัทยายักษ์ใหญ่ที่ต้องการขายวัคซีนให้กับไทย จะต้อง “ขึ้นทะเบียน” จากองค์การอาหารและยา (อย.) เท่านั้น

ข้อมูลล่าสุด บริษัทที่ขอขึ้นทะเบียนกับ อย.มี 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และวัคซีนของ บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้รับอนุญาตในการขึ้นทะเบียน

นี่จึงเป็นเหตุให้วัคซีนภายใต้ชื่อ “ซิโนแวค” ที่มีสัญชาติจีน เข้าถึงคนไทยก่อนเป็นลำดับต้น ๆ

รัฐบาลจัดหา 63 ล้านโดส

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโรคโควิด-19 จำนวน 3 แหล่ง 3 ระยะ โดยตั้งเป้าหมายการจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 จำนวน 33,000,000 คน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ประกอบด้วย

แหล่งที่ 1 ระยะเร่งด่วน จัดหาวัคซีนจากบริษัท Sinovac Biotech จำกัด ร้อยละ 10 ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีนเพื่อจัดหาวัคซีนเร่งด่วนให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 จำนวน 2,000,000 โดส วงเงิน 1,228,208,000 บาท

แหล่งที่ 2 การจัดหาวัคซีนจากการตกลงแบบทวิภาคี Bilateral Agreement (Advanced Market Commitment) กับบริษัท AstraZeneca จำกัด ร้อยละ 20 หรือจำนวน 26,000,000 โดส โดยคาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือนมิถุนายน 2564 อย่างไรก็ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้ได้วัคซีนมาก่อนจำนวนหนึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติให้พิจารณาสั่งซื้อเพิ่มอีกจำนวน 35,000,000 โดส รวมเป็นจำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหาจำนวน 61,000,000 โดส

แหล่งที่ 3 การจัดหาวัคซีนจาก COVAX Facility ร้อยละ 20 ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง

2 ล้านโดสแรก ฉีดครบ 2 เข็ม 8 แสนคน

ขณะนี้การจัดหาวัคซีนระยะเร่งด่วน 2,000,000 โดส จากบริษัท Sinovac Biotech กำหนดเป้าหมายฉีดวัคซีน 2,000,000 โดส ภายใน 3 เดือนแรกหลังจากได้รับวัคซีน (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564) ซึ่งสามารถฉีดให้คนไทยได้ครบทั้ง 2 เข็ม โดยแต่ละเข็มจะห่างกัน 1 เดือน จำนวน 800,000 คน แบ่งออกเป็น “ลอตแรก” วัคซีนเข็มแรก 200,000 โดส 200,000 คนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประกอบด้วย 1.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.ชลบุรี จำนวน 20,000 คน 2.กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ จำนวน 180,000 คน

“ลอตสอง” วัคซีน 800,000 โดส ซ้ำเข็มสอง 200,000 คน ฉีดเข็มแรก 600,000 คนในเดือนมีนาคม 2564 ประกอบด้วย 1.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า รวมถึง อสม. เจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.ชลบุรี กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ (เข็มที่สอง) จำนวน 200,000 โดส 2.กลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุด ชายแดนตะวันตกและภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า รวมถึง อสม. จำนวน 60,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ จำนวน 540,000 คน รวมจำนวน 600,000 โดส (เข็มแรก)

“ลอตสาม” วัคซีน 1,000,000 โดส ซ้ำเข็มสอง 600,000 คน สำรองฉุกเฉิน 400,000 โดส ในเดือนเมษายน 2564 ประกอบด้วย 1.กลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุด ชายแดนตะวันตกและภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า รวมถึง อสม. และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ (เข็มที่สอง) จำนวน 600,000 คน และสำหรับกรณีที่มีการระบาด จำนวน 400,000 โดส

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแผนการจัดหาวัคซีนโควิด 2 ล้านโดสในสถานการณ์เร่งด่วนจากบริษัท Sinovac Biotech สำหรับเป้าหมายหลัก 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน

2.บุคคลที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังที่อยู่ในระยะ 5 ขึ้นไป (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน 3.ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 4.เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

รพ.เอกชนเช็กดีมานด์-ลุ้นตัวโก่ง

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงพยาบาลเอกชนจะไม่สามารถสั่งซื้อหรือจองวัคซีนโควิด-19 ตรงไปยังบริษัทผู้ผลิตรายต่าง ๆ ได้ เนื่องจากจะต้องรอให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายนั้น ๆ มายื่นขอขึ้นทะเบียนและผ่านการอนุญาตของสำนักงาน อย.ก่อน จากนั้นโรงพยาบาลจึงจะมีคำสั่งซื้อไปยังบริษัทหรือผู้แทนจำหน่ายอีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งมีการเจรจาถึงปริมาณความต้องการของแต่ละแห่งเตรียมไว้แล้ว

ด้าน นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาชี้แจงว่า การที่ต้องมาขึ้นทะเบียนที่ อย.อีกครั้ง เพื่อให้ทราบว่าผู้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนโควิด-19 คือใคร และสามารถติดตามตรวจสอบได้หากวัคซีนนั้นมีปัญหาเชิงคุณภาพหรือความปลอดภัย ผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องรับผิดชอบต่อวัคซีนของตน เนื่องจากวัคซีนอาจเกิดผลข้างเคียงหลังจากการฉีดได้ ดังนั้น ในการขึ้นทะเบียนจึงกำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องนำเสนอข้อมูลความปลอดภัยแผนการใช้และการแก้ปัญหาเมื่อเกิดผลข้างเคียงใด ๆ ขึ้น โดยต้องมีเอกสารชี้แจงรายละเอียดมายืนยันพร้อมการขึ้นทะเบียนกับ อย.

ซิโนแวค มาแรงฉีดแล้วหลายประเทศ

ด้านสเตรตไทมส์รายงานว่า รัฐบาลหลายประเทศมีข้อตกลงการซื้อวัคซีนกับบริษัท “ซิโนแวค ไบโอเทค” เช่น “อินโดนีเซีย” สั่งซื้อวัคซีน 140 ล้านโดส มาถึงแล้ว 3 ล้านโดส ด้วยราคา 410 บาทต่อโดส ซึ่งจะเริ่มการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. โดย “โจโก วิโดโด” ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย อาสาฉีดวัคซีนเป็นคนแรก

รัฐบาล “บราซิล” สั่งซื้อ 46 ล้านโดส มาถึงแล้ว 10 ล้านโดส ด้วยราคา 310 บาทต่อโดส ซึ่งจะเริ่มฉีดวัคซีนวันที่ 25 ม.ค.

“ฮ่องกง” สั่งซื้อ 7.5 ล้านโดส โดยวางกำหนดการไว้ว่าวัคซีนจะมาถึง 1 ล้านโดสภายในเดือน ม.ค.

“ฟิลิปปินส์” สั่งซื้อวัคซีนทั้งหมด 25 ล้านโดส

นอกจากนี้ ประเทศ “ยูเครน” สั่งซื้อ 1.9 ล้านโดส ด้วยราคา 540 บาทต่อโดส “ตุรกี” ได้สั่งซื้อวัคซีนทั้งหมด 50 ล้านโดส ขณะเดียวกัน ประเทศมาเลเซียและเวียดนามกำลังอยู่ในขั้นตอนตกลงจำนวนวัคซีน

ทั้งนี้ บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค วางแผนว่าจะผลิตวัคซีนให้ได้ทั้งหมด 300 ล้านโดสก่อนสิ้นปี