ผอ.สถาบันวัคซีน โต้การอภิปรายในสภาฯ สร้างความเข้าใจผิดเรื่องวัคซีน

วันนี้ (17 ก.พ. 2564) ที่รัฐสภา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวชี้แจงกรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับประเทศไทย

เตรียมพร้อม 63 ล้านโดสโดยเร็วที่สุด

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนารอบที่ 1 ได้ดี จนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ และถึงแม้การระบาดรอบ 2 จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เราก็สามารถควบคุมได้ในระยะเวลาอันสั้น

“ตอนนี้เรากำลังเตรียมความพร้อมเรื่องวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันระดับประเทศ โดยเตรียมพร้อมให้คนไทยได้รับวัคซีนประมาณ 63 ล้านโดสเร็วที่สุด” ซึ่งจะส่งผลให้ทีมการแพทย์ต้องทำงานหนักขึ้น จากที่เคยฉีดวัคซีนได้ปีละ 10 ล้านโดส แต่ปีนี้จะเร่งฉีดให้ครบ 63 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีน 63 ล้านโดสอยู่ในมือ และเตรียมแผนการฉีดไว้แล้ว”

ในขณะที่ นพ.นคร กล่าวว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มอบหมายให้ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามข้อมูล และวางแผนจัดหาวัคซีน ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563

โดยมีการดำเนินงานใน 3 ช่องทาง คือ 1.การสนับสนุนการวิจัยในประเทศ 2.การแสวงหาความร่วมมือเพื่อวิจัยพัฒนากับต่างประเทศ และ 3.การติดตามการวิจัย การพัฒนาการผลิตเพื่อจัดหาวัคซีนโดยตรงการบริษัท

เราเริ่มติดตามข้อมูลตั้งแต่การศึกษาวิจัยการฉีดวัคซีนในมนุษย์ เพื่อให้รู้เรื่องความก้าวหน้าและประสิทธิภาพของวัคซีนของแต่ละบริษัท ซึ่งเราพบว่าวัคซีนชนิด mRNA และ viral vector มีความก้าวหน้าทัดเทียมกัน และมีการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1-2 ในเวลาใกล้เคียงกัน จึงคาดว่า 2 ชนิดนี้จะประสบความสำเร็จในเวลาใกล้เคียงกัน แล้วเราจึงเริ่มหาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 2 ตัวนั้นจากต่างประเทศ

“เรามีการเจรจาเรื่องวัคซีนกับหลายประเทศ เช่น จีน อังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเบลเยี่ยม เพื่อขอข้อมูลการพัฒนาวิจัยวัคซีน แต่เป้าหทมายสูงสุดของเราคือ การได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งจะช่วยให้ไทยรับมือการระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต”

แอสตราฯ เลือกสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีน

นพ.นคร กล่าวด้วยว่า ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2563 บริษัท แอสตราเซเนกา ผู้ผลิตวัคซีนเทคโนโลยีชนิด viral vector ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกฟอซ์ ประเทศอังกฤษ กำลังหาพันธมิตร ซึ่งบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับเลือกในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิต โดยเอกสารจดหมายจากแอสตราเซเนการะบุว่า มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของสยามไบโอไซเอนซ์ 

ดังนั้น เราจึงเลือกซื้อวัคซีนที่นี่ เพราะหากจองกับบริษัทอื่น คือการซื้ออย่างเดียว แต่กับแอสตราเซเนกา ไทยจะได้รับศักยภาพผลิตวัคซีนระดับโลกไว้ในประเทศ

“ส่วนเรื่องจะอยู่กับรัฐหรือเอกชนไม่สำคัญ แต่สำคัญคือได้อยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเริ่มตั้งแต่ ต.ค. 2563 ก่อนเราจะทำการอนุมัติด้วยซ้ำ จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขว่า ต้องจองก่อนถึงจะถ่ายทอดให้ และไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขว่า ต้องจองจำนวนเท่าไหร่ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า จะร่วมกันเป็นหน่วยงานผลิตวัคซีนให้กับภูมิภาคอาเซียน”

มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นฮับ (hub) ผลิตวัคซีนกว่า 60 ประเทศ แต่แอสตราเซเนกา คัดเลือกเพียง 25 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ในนั้น

“เป็นการการันตีว่าไทยมีศักยภาพไม่แพ้ใครในโลก มีมาตรฐานการผลิตที่ดี เรียกว่า Good Manufacturing Practice: GMP และมาตรฐานผลิตวัคซีนที่ได้คุณภาพ” นพ.นคร กล่าว

การอภิปรายในสภาฯ สร้างความเข้าใจผิด

นพ.นคร บอกว่า ไม่จำเป็นต้องมีวัคซีนหลายชนิด แต่ขอให้มีมากเพียงพอครอบคลุมประชากร และจัดบริการฉีดให้ได้คุณภาพ

ขั้นตอนการจองซื้อวัคซีนของทุกแห่ง เป็นในลักษณะเหมือนกันคือ จ่ายเงินไปบางส่วนเพื่อเป็นค่าจองวัคซีน แต่การซื้อกับแอสตราเซเนกาจะต่างจากของโคแวกซ์คือ เงินค่าจองกับแอสตราเซเนกาถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาวัคซีน

แต่กับโคแวกซ์ เงินที่จ่ายไปก่อน (up-front payment) คือ ค่าบริหารจัดการ ไม่ใช่ค่าวัคซีน ส่วนราคาจะถูกกำหนดภายหลังที่รู้ว่ามาจากบริษัทใด และเป็นราคาจริงที่ผู้ผลิตกำหนดอีกที ดังนั้น ในการอภิปรายในสภาฯ หากข้อมูลไม่ครบถ้วนก็จะเกิดความเข้าใจผิด

“ส่วนข้ออภิปรายที่ว่า บริษัทวัคซีนของแอสตราเซเนกาจากประเทศอินเดียมาเสนอให้ซื้อและเราไม่ซื้อ เป็นข่าวเท็จ เพราะความจริง ไม่มีการเสนอการขายวัคซีนแอสตราเซเนกาจากอินเดียให้กับไทย แต่เป็นการเสนอความร่วมมือวิจัย ซึ่งเราได้รับไว้ทำข้อตกลงบันทึกความเข้าใจร่วมกัน”

นพ.นคร อธิบายว่า ความร่วมมือกับโคแวกซ์ ยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาร่วมกัน ว่ามีเงื่อนไขและข้อมูลที่เหมาะกับไทยหรือไม่

“การที่ผู้อภิปรายดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ อาจทำให้ความเข้าใจคาดเคลื่อน ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมโคแวกซ์ เพื่อให้วัคซีนจากแอสตราเซเนกา เพราะจะทำให้ซ้ำกับการผลิตในประเทศไทย”

มีเงินชดเชยหากฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต

นพ.โอภาส กล่าวถึงการบริหารวัคซีนว่า ในเฟสแรกจะมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง อาทิ กรุงเทพฯ จังหวัดในปริมณฑล และจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกันนี้ มีมาตรการเฝ่าสังเกตการณ์ผู้ที่ได้รับวัคซีน ถ้ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิตจะมีการชดเชยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในการทดลองการใช้วัคซีนของ แอสตราเซเนกา ไม่เคยทำให้ใครเสียชีวิต