เปิดแผนกระจาย-ฉีด “วัคซีนโควิด” ทั่วประเทศ รวม 63 ล้านโดส

วัคซีนโควิด-19
SAVO PRELEVIC / AFP

ศบค. เผยแผนกระจาย พร้อมฉีด “วัคซีนโควิด” ทั่วประเทศ รวม 63 ล้านโดส พรุ่งนี้ (24 ก.พ.) “ซิโนแวก” เข้าประเทศไทย 2 แสนโดสแรก

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยถึงแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 พ.ศ. 2564 โดยเป็นข้อมูลจากศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข

แผนการจัดหาวัคซีนโควิดของไทย

วัคซีน “ซิโนแวก” 

วัคซีนโควิด “ซิโนแวก” เข้าประเทศไทย จำนวน 2 ล้านโดส เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2564 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 : จำนวน 200,000 โดส
  • เดือนมีนาคม 2564 : จำนวน 800,000 โดส
  • เดือนเมษายน 2564 : จำนวน 1,000,000 โดส

วัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า”

สำหรับวัคซีนโควิด “แอสตร้าเซนเนก้า” จะเข้าประเทศไทย 2 รอบ ได้แก่

รอบแรก จำนวน 26 ล้านโดส เดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2564 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • เดือนมิถุนายน 2564 : จำนวน 6,000,000 โดส
  • เดือนกรกฎาคม 2564 : จำนวน 10,000,000 โดส
  • เดือนสิงหาคม 2564 : จำนวน 10,000,000 โดส

รอบสอง จำนวน 35 ล้านโดส เดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • เดือนกันยายน 2564 : 10,000,000 โดส
  • เดือนตุลาคม 2564 : 10,000,000 โดส
  • เดือนพฤศจิกายน 2564 : 10,000,000 โดส
  • เดือนธันวาคม 2564 : 5,000,000 โดส

วัคซีนโควิด

เป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด

คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้วางเป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิดไว้ ดังนี้

  1. เป้าหมายเพื่อลดอัตราการป่วยและตาย : กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิตหากติดเชื้อ ได้แก่ ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
  2. เป้าหมายเพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ : กลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชนและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยในงาน
  3. เป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ : กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทั่วไป แรงงานในภาคธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม

วัคซีนโควิด วัคซีนโควิด

กลุ่มเป้าหมายการฉีดซีนโควิด

สำหรับกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด 

การฉีดวัคซีนระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และเพื่อรักษาระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

  1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน
  2. บุคคลที่มีโรคประจำตัว
  • โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี เป็นต้น
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต
  • โรคหลอดเลือกสมอง
  • โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด
  • โรคเบาหวาน
  • โรคอ้วน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

3. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป

4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

 ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น และเพียงพอ

การฉีดวัคซีนระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะโดยมีกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

  1. กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1
  2. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากด่านหน้า
  3. ผู้ประกอบอาชีพภาคการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์ นักกีฬา
  4. ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ
  5. ประชาชนทั่วไป
  6. นักการฑูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ นักธุรกิจต่างชาติ คนต่างชาติพำนักระยะยาว
  7. แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ

วัคซีนโควิด วัคซีนโควิด