ประวัติ “วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร” ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ 20 มี.ค.

ประวัติ วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร
ภาพจาก ข่าวสด

ทำความรู้จัก “วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร” วัดเก่าแก่สไตล์ตะวันตก สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.10 พระราชินี จะเสด็จฯ วันที่ 20 มีนาคมนี้ 

วันที่ 18 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โพสต์เชิญชวนประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคารวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ณ วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ถือโอกาสพาผู้อ่านไปทำความรู้จัก “วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สไตล์ตะวันตก เต็มไปด้วยจุดน่าสนใจหลายแห่ง  สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดสถาปัตยกรรมตะวันตก

เว็บไซต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เผยประวัติวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหารว่า เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้ คนละฝั่งกับพระราชวังบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างเลียนแบบโบสถ์ฝรั่ง เมื่อ พ.ศ.2421

ข้อมูลจาก ข่าวสด ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับยังพระราชวังบางปะอิน ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเลียนแบบโบสถ์ฝรั่ง ใช้ศิลปะแบบโกธิก โดยเฉพาะพระอุโบสถของวัด ที่เป็นอาคารมีโดมหอคอยปลายแหลม อย่างวิหารในสถาปัตยกรรมตะวันตก

ภาพจาก ข่าวสด

ด้านหน้าบริเวณทางเข้าพระอุโบสถมีมุขยื่นออกมา ลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วซ้อนกัน 2 ชั้น รอบผนังพระอุโบสถเจาะช่องหน้าต่างเป็นรูปโค้งปลายแหลมทุกด้านของอาคาร บริเวณท้ายพระอุโบสถเป็นหอระฆังยอดโดมลักษณะรูปกรวยแหลมสูงขึ้นไป 3 ชั้น

แต่ละชั้นนั้นเจาะช่องหน้าต่างเป็นอาร์กแบบโค้งปลายแหลมไว้รอบหอระฆัง ชั้นแรกมีการเจาะช่องหน้าต่างทั้งสี่ด้าน และวางยอดปราสาทจำลองประดับไว้ที่มุมทั้งสี่ด้าน ถัดขึ้นไปชั้นที่ 2 และ ชั้นที่ 3 เจาะช่องหน้าต่างและประดับด้วยกระจกสี 8 ด้าน

บนสุดของยอดทำเป็นโดมปลายแหลม บนหอระฆังมีเจดีย์สำริดปิดทอง ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตรงผนังเบื้องล่างยอดโดมประดับด้วยนาฬิกา บอกเวลาเป็นเลขโรมัน

ภาพจาก ข่าวสด

ส่วนภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธนฤมลธรร โมภาส” เป็นพระประธาน ซึ่งออกแบบโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ โดยใช้การผสมผสานศิลปะแบบประเพณีนิยมกับศิลปะแบบตะวันตกเข้าด้วยกัน

บริเวณฐานชุกชีซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน มีลักษณะเหมือนที่ตั้งไม้กางเขนในโบสถ์ ช่องหน้าต่างเจาะไว้เป็นหน้าต่างโค้ง และเมื่อหันกลับมองบนฝาผนังด้านหน้าของพระประธาน จะเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ประดับด้วยกระจกสีที่สั่งเข้ามาจากประเทศอิตาลี มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหาชมจากที่ใดในเมืองไทยไม่ได้

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร
ภาพจาก ข่าวสด

บูชาพระพุทธศาสนาด้วยของแปลกประหลาด

เว็บไซต์วัดนิเวศน์ เผยว่า เหตุที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกภายในวัดนั้น ปรากฎหลักฐานในจารึกประกาศพระราชทานที่วัดและเสนาสนะ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสงฆ์ ซึ่งมีความในพระราชดำริตอนหนึ่งในการถวายพระอาราม ดังนี้

“… ข้าพเจ้าคิดจะใคร่สร้างเป็นพระอารามน้อย ๆ สำหรับที่บำเพ็ญกุศลใกล้พระราชวังในเวลาเมื่อได้มาขึ้นมาพักแรมอยู่ที่เกาะบางปะอินนี้ จึงได้คิดถมดินให้พ้นน้ำตามฤดูที่เคยประมาณว่าเป็นอย่างมากโดยปรกติ แล้วให้เจ้าพนักงานจ้างเหมาช่างชาวตะวันตก กะวางแผนที่ทำตามแบบอย่างกับประเทศตะวันตกทุกสิ่ง ซึ่งได้ให้คิดสร้างโดยแบบอย่างเป็นของชาวต่างประเทศดังนี้

ด้วยมีความประสงค์จะบูชาพระพุทธศาสนาด้วยของแปลกประหลาด แลเพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงชมเล่นเป็นของแปลก ยังไม่เคยมีในพระอารามอื่น แลเป็นของมั่นคงถาวรสมควรเป็นพระอารามหลวงในหัวเมือง ใช่จะนิยมยินดีเลื่อมใสในลัทธิศาสนาอื่น นอกจากพระพุทธศาสนานั้นหามิได้”

การก่อสร้างใช้ระยะเวลาทั้งหมดรวม 2 ปี 22 วัน สำเร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2421 และได้โปรดเกล้าให้จัดการฉลองสมโภชครั้งใหญ่ รวม 4 วัน 4 คืน และทรงนิมนต์พระอมราภิรักขิตจากสำนักวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม มาเป็นเจ้าอาวาส ภายหลังจากงานต่าง ๆสิ้นสุดลง เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 9 แรม 13 ค่ำ ปีฉลู นพศก 1239 ตรงกับวันที่ 6 กันยายน 2421

จุดน่าสนใจหลายแห่งในวัด

นอกจากนี้บริเวณโดยรอบของวัดยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง อาทิ สุสานสวนหิน “ดิศกุลอนุสรณ์” ซึ่งรวบรวมหินชนิดต่าง ๆ เช่น หินปูน หินทราย หินกรวด หินชนวน

อีกทั้งยังเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และอัฐิของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมีอัฐิของเจ้านายราชสกุลดิศกุลอีกหลายองค์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม)

หอพระไตรปิฎกเป็นอาคารทรงจัตุรมุขสองชั้น ขนาด 7.40×7.40 เมตร ก่ออิฐสอปูน ชั้นล่างเป็นพื้นปูกระเบื้องหินอ่อนสีเทา หลังคาเป็นโครงไม้มุงด้วยกระเบื้องจีน เป็นหอเก็บพระคัมภีร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรวม 119 คัมภีร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2421

หอไตรปิฎกแห่งนี้มีความงามตามแบบศิลปะโกธิกที่นิยมในสมัยกลางที่ประเทศอังกฤษ ภายในเป็นตู้พระไตรปิฎกหกเหลี่ยมบรรจุพระคัมภีร์ทั้งสิ้น

ภาพจาก ข่าวสด

พระตำหนักสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระตำหนักเป็นอาคารสองชั้น ก่ออิฐสอปูน พื้นไม้กระดานทั้งสองชั้น หลังคาโครงไม้มุงด้วยกระเบื้องลอน หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า

เมื่อครั้งเสด็จพ่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ได้เสด็จไปจำนำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศฯ เพราะในขณะที่วัดนี้กำลังก่อสร้าง เสด็จพ่อทรงเป็นราชองครักษ์ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปทอดพระเนตรการก่อสร้างทุกวัน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ตรัสว่าวัดนี้เงียบสบาย เจ้านายผนวชก็อยู่ได้เสด็จพ่อจึงทูลรับว่า ถ้าถึงปีทรงผนวชจะเสด็จมาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกตำหนักถวายหลังหนึ่ง

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงผนวชและจำพรรษาที่วัดนี้ เมื่อพุทธศักราช 2426 เพื่อสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะให้เจ้านายประจำพรรษาที่วัดนี้บ้าง

ในระหว่างที่ทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ได้ทรงตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น และได้ทรงพระราชนิพนธ์ตำราเรียน “แบบเรียนเร็ว เล่ม 1” เพื่อใช้สอนนักเรียนที่โรงเรียนของวัดนี้เป็นครั้งแรก

การเดินทาง

การเดินทางไปวัดนิเวศธรรมประวัติมีทางเดียวคือ นั่งกระเช้าไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งที่จอดรถวัดนิเวศธรรมประวัติจะอยู่ติดกับที่จอดรถของพระราชวังบางปะอิน

กระเช้าไฟฟ้าเปิดให้บริการตั้งแต่ 05.30-20.30 มีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมกระเช้าเพื่อรับส่งผู้คนทั้งสองฝั่งที่ต้องเดินทางไปมาตลอดวัน เมื่อมาถึงบนเกาะแล้ว บริเวณทางลงกระเช้าจะมีกล่องรับบริจาคให้ช่วยเหลือค่าไฟ และค่าซ่อมบำรุงกระเช้าซึ่งแล้วแต่ศรัทธาของแต่ละคน

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร