คลัสเตอร์ทองหล่อ : จากย่านชุมชนญี่ปุ่น สู่แหล่งระบาดโควิดรอบใหม่

ทองหล่อ-โควิด

ทองหล่อ แหล่งชุมนุม มั่วสุมเพื่อความบันเทิงและรื่นรมย์ของชาวกรุงเทพฯ กลายเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อโรคโควิด-19 รอบใหม่ กระจายไป 15 จังหวัด เป็นอย่างน้อย

ทั้งนักดนตรี ดารา นักแสดง นักร้อง ดีเจ และรัฐมนตรี ส.ส. ล้วนได้รับการแพร่เชื้อมาจากแอ่งทองหล่อ

หลังสงครามโลก ย่านทองหล่อ คือชุมชนของชาวญีปุ่นชื่อซอยทองหล่อตั้งขึ้นตามชื่อเดิมของ ร.ท. ทองหล่อ ขำหิรัญ สมาชิกคณะราษฎร 2475 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในซอยนี้

ยุคสงครามโลก ซอยทองหล่อเป็นสถานที่ ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนผ่านและตั้งฐานทัพ

41 ปีก่อนหน้านี้ ย่านทองหล่อ เคยเป็นที่ดินย่านชานเมืองกรุงเทพฯ เป็นถนนสายเล็ก ๆ มีคลองขนาบข้าง แล้วกลายเป็นถนน 6 เลน ในปี 2523

20 ปีก่อนหน้านี้ ย่านทองหล่อถูกเชื่อมกับถนนสุขุมวิท และถนนเพชรบุรี เส้นเลือดธุรกิจ-การค้าของกรุงเทพฯ ถูกเปิดความเจริญอีกระดับด้วยการเปิดการเดินรถไฟฟ้า BTS ต่อยอดย่านการค้าดั้งเดิมอันเคยเป็นย่านอาศัยของชาวญี่ปุ่น มีศูนย์การค้า ร้านอาหาร อยู่ไม่กี่แห่ง

10 ปีก่อนหน้านี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยักษ์เล็ก ยักษ์ใหญ่ ยาตราสู่พื้นที่รัศมีทองหล่อ กระทั่งบูมด้วยราคาที่ดินที่พุ่งทะลุเพดานตึกสูงระฟ้า เกือบเต็มพื้นที่

5 ปีก่อนหน้านี้ ที่ดินเก่าเก็บของเศรษฐีเก่า ถูกนำออกมาขยายธุรกิจ แบ่งขาย และพัฒนาเชิงพาณิชย์ล้นหลาม ทั้งคอมมูนิตี้มอลล์ คอนโดมิเนียม ร้านค้าที่ทันสมัย และคาเฟ่

ทุกวันนี้ ย่านทองหล่อ กลายเป็นแหล่งธุรกิจ-สตูดิโอวางแผนแต่งงาน คลินิกความงามชื่อดัง คอมมูนิตี้มอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าแฟชั่น ร้านไลฟ์สไตล์เฟอร์นิเจอร์ และร้านอาหาร ค่าเฟ่ ผับ-บาร์ รวมทั้งธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ เชื่อมต่อกับถนนสายบาป อย่าง ย่านอาร์ซีเอ เพชรบุรี-พระรามเก้า

ทุกซอกซอยเต็มไปด้วยคอนโดมิเนียม ระดับไฮเอนด์ ที่เดินไม่กี่ก้าวถึงสถานีรถไฟฟ้า ต่อเนื่องไปถึงถนนเส้นหลักของสุขุมวิททั้งย่าน ยาวไปถึงพร้อมพงษ์ เอกมัย กลายเป็นแหล่งแฮงค์เอาต์ ทุกค่ำคืน

ได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทย ต่างชาติ แหล่งช้อปปิ้ง อย่าง ดองกิโฮเต้ (Don Quijote) ที่เปิดสาขาแรกแบบ 24 ชั่วโมงในไทยที่ ซ.ทองหล่อ 10 ในชื่อ ดองกิ มอลล์ ทองหล่อ รวมทั้งแหล่งช้อปปิ้ง  Ginza Thonglor บนชั้นที่ 2-3 ของโรงแรมนิกโก้ กรุงเทพฯ

ทั้งเส้นทางคมนาคมที่สะดวก รวมทั้งมีจุดเชื่อมไปยังจุดใจกลางกรุงเทพฯ ต่อออกไปชานเมืองได้ง่าย ๆ ทำให้ย่านทองหล่อ กลายเป็นศูนย์กลางความบันเทิง และความรื่นรมย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

นอกจากรถไฟฟ้า BTS มีแผนพัฒโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา เส้นทางวัชรพล-พระโขนง-สะพานพระราม 9-ท่าพระ เป็นเส้นทางที่ตามแผนจะผ่านย่านทองหล่อ ซึ่งเป็นโครงการในอนาคตที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิด แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

นักธุรกิจที่มีชื่อเสียง ที่พยายามบุกเบิกธุรกิจย่านทองหล่อ อย่าง “ตัน ภาสกรนที”  เจ้าพ่อชาเขียว ก็ปั้นทำธุรกิจเวดดิ้ง สตูดิโอ  จากการเช่าตึกแถวในทองหล่อ ในปี 2537 จากนั้นต่อยอดแบรนด์ “โออิชิ” ด้วยภัตตาคาร บุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่น และพัฒนาที่ดินทองหล่อ 10 เป็นสนามฟุตบอลและคอมมูนิตี้

ก่อนหน้านั้นก็มี “เบนซ์ ทองหล่อ” กิจการของ “วสันต์ โพธิพิมพานนท์” บนพื้นที่ทองหล่อ 18 ซึ่งถือเป็นสาขาแรกของเบนซ์ ทองหล่อ บนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ พร้อมคลับเฮ้าส์หรูหรา

คาเฟ่ คนรุ่นใหม่ อย่าง “Roast Coffee & Eatery” เป็นร้านยอดนิยม ในซอยทองหล่อ ของนักธุรกิจหนุ่ม “วรัตต์ วิจิตรวาทการ” ที่เริ่มต้นธุรกิจร้านกาแฟและคาเฟ่ในทองหล่อ 13 ขยายกิจการออกมาจากธุรกิจอาหาร มาสู่การเปิดคอมมูนิตีมอลล์  ชื่อ “The Common”

ย่านทองหล่อ ในปี 2564 กลายเป็นแอ่งต้นตอการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ ต่อเนื่องถึง 2ุ67 คน รอยืนยันอีก 1,051 ราย ( ณ วันที่ 7 เมษายน 2564)

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค แจ้งเตือนประชาชนที่เดินทางไปที่ผับ 7 แห่ง ให้เข้ารับการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลของรัฐ ได้แก่ คริสตัล ทองหล่อ 25 ร้านบ้านพหล คาเฟ่แอนด์บาร์ จตุจักร ร้าน Ekamai Beer House ผับ บลา บลา บาร์ ทองหล่อ และ Dollar Bangkok ร้าน The Cassette music bar เอกมัย และ Pub dirty