“ธรรมศาสตร์” ประกาศเพิ่ม รพ.สนาม ช่วยรับคนไข้โควิด ล้นโรงพยาบาล

วันนี้ (9 เม.ย. 2564) มธ. ผนึก รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ประกาศเปิด “โรงพยาบาลสนาม” ครั้งใหม่ ขยายจาก 308 เตียง เป็น 470 เตียง ดีเดย์เปิดรับเคส 11 เม.ย.นี้ ด้าน “รมว.อุดมศึกษา” ให้ความมั่นใจประชาชน ระบุ อว. พร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นในทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ภายหลังพบว่าสมรรถนะของโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันถึงขีดสุด ไม่สามารถเดินต่อไปได้แล้ว

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในงานแถลงข่าว “การเปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ 470 เตียง” ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตอนหนึ่งว่า อว. มีสรรพกำลังด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่พร้อมสนับสนุนรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฟันฝ่าโควิด-19 ระลอกใหม่ได้อย่างเต็มที่ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

ทั้งนี้ ความจำเป็นเฉพาะหน้าคือ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วย ภายหลังพบว่าสมรรถนะของโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันถึงขีดสุด ไม่สามารถเดินต่อไปได้แล้ว จึงได้หารือกับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งพบว่า มธ. ก็เตรียมพร้อมเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงมีกำหนดจะเปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ขนาด 470 เตียง ในวันอาทิตย์ที่ 11 เม.ย. 2564 นี้

นอกจากโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์แล้ว อว. ยังมีโรงพยาบาลสนามของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อีก 400 เตียง นั่นหมายความว่าภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ อว. จะมีโรงพยาบาลสนามทั้งสิ้น 870 เตียง

ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน อว. มีโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศอีก 22 แห่ง ซึ่งมีความพร้อมทั้งปริมาณและคุณภาพในแง่ของสถานที่และบุคลากร รวมไปถึงมีมหาวิทยาลัยอีกทุกจังหวัด ที่พร้อมจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามได้โดยทันที ยืนยันว่า อว. มีความพร้อมเป็นกำลังหนุนเสริม สธ. และรัฐบาล

จึงอยากให้ประชาชนมีความมั่นใจ อย่าตระหนก อย่าแตกตื่น แต่ให้ตระหนักและเข้มงวดต่อตัวเองและครอบครัว เพื่อไม่ให้ตัวเองไปอยู่ในความเสี่ยง

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ที่จริงแล้วระบบสาธารณสุขไทยเป็นระบบที่ดีมาก ได้รับการยอมรับในระดับสูง แต่จากการเกิดการระบาดโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยเพิ่มถึงวันละ 200-300 คน ทำให้เกิดปัญหาเฉพาะหน้าขึ้นมา

ขอยืนยันว่าโดยปกติแล้วโรงพยาบาลมีเตียงเหลือเพียงพอ แต่เหตุผลที่โรงพยาบาลรับผู้ป่วยไม่ได้ เนื่องจากในโรงพยาบาลมีผู้ป่วยอื่นอยู่จำนวนมาก และผู้ป่วยโควิด-19 เป็นผู้ป่วยที่ติดต่อง่าย นั่นทำให้ทุกโรงพยาบาลจัดวอร์ดสำหรับโควิด-19 เอาไว้เพียง 1-2 วอร์ด หรือ 20-40 เตียงเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อเกิดการติดเชื้อวันละ 200 คน จึงเกิดเป็นภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

“ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีเตียง แต่สถานการณ์คือวอร์ดโควิด-19 เต็ม เมื่อกติกาของ สธ. คือตรวจที่ไหนที่นั่นต้องรับผู้ป่วย จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อมาของโรงพยาบาลเอกชน นั่นคือเมื่อเตียงเต็มแล้วก็ต้องไม่ตรวจ ซึ่งจริง ๆ แล้วน้ำยาไม่ได้หมด เพียงแต่โรงพยาบาลเอกชนถูกบังคับโดยสถานการณ์ คือจำนวนเตียงที่ถูกควบคุมโดยความดันอากาศและแยกออกจากวอร์ดอื่นมีจำนวนน้อยมาก และไม่สามารถเพิ่มได้”

ศ.ดร.สุรพล อธิบายว่า หากผู้ป่วยในอัตรานี้กระจายอยู่ทั่วประเทศจะไม่เกิดปัญหา แต่เมื่อกระจุกอยู่ใน กทม. เพียงแห่งเดียว จึงเกิดปัญหาเฉพาะหน้าขึ้น โดยในช่วง 1-2 สัปดาห์ต่อจากนี้ จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของโควิด-19 ระลอกสาม และความเชื่อมั่นของระบบสาธารณสุข นั่นทำให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติตัดสินใจเปิด “โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์” ในเช้าวันที่ 11 เม.ย.นี้ โดยคาดว่าจำนวน 470 เตียง จะเต็มภายใน 2 สัปดาห์

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า ทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มธ. ถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือ ดูแล เยียวยา เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง

“แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการทำพิธีปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ไปแล้ว หลังผ่านพ้นการระบาดในระลอกที่ 1 และ 2 แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมา มธ. และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจึงพร้อมที่จะเปิดโรงพยาบาลสนามอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้ขยายจาก 308 เตียง เป็น 470 เตียง และมีความเป็นไปได้ที่จะขยายถึง 500 เตียง”