สธ.แบ่งระดับสีโควิดระลอกใหม่ กทม.-เชียงใหม่หนัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยโควิดระลอกใหม่กระจายเกือบทุกจังหวัดแบ่งการระบาดเป็น 5 ระดับสี กทม.-เชียงใหม่ ติดเชื้อสูง

วันที่ 12 เมษายน 2564 ในแถลงข่าวสถานการณ์โรคไวรัสโคโรน่า 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดระลอก เม.ย.2564 ในรอบ 24 ชม. ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม 985 คน มาจากต่างประเทศ 5 คน เป็นค้นหาเชิงรุก 346 คน และมีผู้ติดเชื้อจากการสอบสวนข้อมูลโรค 634 คน รวมผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ 4,641 คน

สถานการณ์ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้สูงชันแบบที่เรากังวลในตอนแรก เพราะการระบาดระลอกนี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ จังหวัดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังสัมพันธ์กับสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ และร้านอาหาร แล้วก็ตลาดชุมชน และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่กำลังสอบสวนเพิ่มเติม ฉะนั้นกรุงเทพฯ ก็ยังถือว่าสูงสุดของระบาดระลอกนี้ มีผู้ป่วยสะสมสูงสุดถึง 1,492 คน รวมถึงปริมณฑลอีก 738 คน ที่เหลือคือจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งมีเกือบทุกจังหวัด

ทั้งนี้รูปแบบการระบาดค่อนข้างแตกต่างจากการระบาดที่ผ่านมาค่อนข้างมาก เราพบในวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน นักศึกษา และช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมของมหาวิทยาลัย นักศึกษาก็จะมีกิจกรรมเยอะ ทั้งไปเที่ยวสถานบันเทิง กลับบ้าน ทำให้การระบาดเยอะ โดยแบ่งการระบาดออกเป็นสี ได้แก่

  1. จังหวัดสีขาว เป็นจังหวัดที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ เช่น ปัตตานี พังงา กระบี่ ระนอง

2. จังหวัดสีเขียว คือมีผู้ติดเชื้อจากกรุงเทพฯ และที่อื่นๆ นำเข้าไปยังจังหวัด

3. จังหวัดสีเหลือง มีผู้ป่วยผู้ติดเชื้อจังหวัดอื่น เดินทางเข้ามาแล้วมีการติดเชื้อเฉพาะในครอบครัว พ่อแม่ ลูก สามีภรรยา เป็นต้น

4. จังหวัดสีส้ม มีการระบาดในจังหวัดเป็นกลุ่มก้อนน้อยกว่า 50 คน

5. สีแดง มีการระบาดในจังหวัดตนเอง มีกลุ่มก้อนที่มากกว่า 100 คนขึ้นไป

ทั้งนี้แผนที่นี้เพื่อแสดงให้เห็นสถานการณ์การระบาด ไม่เกี่ยวกับแผนที่มาตรการต่างๆของทาง ศบค. ถ้าสังเกตดู จะเห็นว่าจังหวัดที่เป็นสีแดง มีการระบาดในจังหวัดของตนเอง เป็นกลุ่มก้อน ได้แก่ คือ กทม. เชียงใหม่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสระแก้ว

ยกตัวอย่างสถานการณ์ใน จ.เชียงใหม่ การระบาด

ล่าสุด 383 ราย สัมพันธ์กับนักศึกษา เนื่องจากปิดเทอมแล้วมีกิจกรรมร่วมกัน ไปเที่ยวสถานบันเทิง ทางจังหวัดจึงมีมาตรการตั้งโรงพยาบาลสนาม การค้นหาเชิงรุก

ขณะที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการดำเนินมาตรการที่ดี พบผู้ป่วยรายใหม่ 52 ราย สะสม 193 ราย ซึ่งแนวโน้มมีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกระจายไปในทุกอําเภอ โดยจุดเริ่มต้นการระบาดมาจากผู้ไปสถานบันเทิง 1 รายจากร้าน คริสตัลคลับ เมื่อติดเชื้อมีอาการก็แพร่เชื้อสู่ครอบครัว

หลังจากนั้นก็ไปที่ประจวบคีรีขันธ์ และไปพบเพื่อนในคอนเสิร์ตที่ผับแห่งหนึ่งใน อ.หัวหิน ซึ่งคนที่ไปทั้งหมด 7 รายติดเชื้อทุกราย และก็ยังไปเที่ยวสถานบันเทิงอื่นอีกหลายแห่ง ทำให้มีการติดเชื้อในสถานบันเทิงรวมถึงคนในครอบครัวด้วย ซึ่งประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งใน จังหวัดที่มีการติดเชื้อสูง

ในการระบาดใหม่ครั้งนี้ ฉะนั้นต้องมีการสอบสวนโรค ควบคุมผู้สัมผัสเสี่ยง แยกผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษา คนสัมผัสเสี่ยงสูงก็กักตัวและตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงมีการทำความสะอาดจุดต่าง ๆ ในจังหวัด ที่เป็นปฏิบัติการทำลายเชื้อทุกจุดเสี่ยงในหัวหิน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการต่าง ๆ และประชาชน ดังนั้นจุดต่าง ๆ ของหัวหินตอนนี้ปลอดเชื้อแล้ว

ทั้งนี้ประจวบคีรีขันธ์ถือว่าควบคุมสถานการณ์ได้ดีแม้จะเป็นระดับสีแดง แต่มีมาตรการควบคุมได้เร็ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพื้นที่ระดับสีแดงไม่ได้แย่ทั้งหมด หากได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกคน งดกิจกรรม เป็นพื้นที่เสี่ยง ลดพฤติกรรมเสี่ยง ก็จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนเราได้รับวัคซีนซิโนแวคล็อตแรกตั้งแต่เดือน ก.พ. ล็อต 2 ตอน มี.ค.ฉะนั้นเรามีวัคซีนกระจายไปแล้วกว่า 77 จังหวัดของประเทศไทยประมาณ 1 ล้านโดส ทำให้มียอดการฉีดไป (28 ก.พ.-11 เม.ย.) 570,052 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 498,791 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 71,261 โดส ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย ศักยภาพการฉีดของเราไม่มีปัญหา หลายคนบอกเราฉีดได้น้อย

แต่ถ้าดูจำนวนวัคซีนที่มีถือว่ามีประสิทธิภาพ อย่างภูเก็ตสัปดาห์เดียวฉีดได้ถึง 9 หมื่นโดสจากที่มีวัคซีนอยู่ 100,000 โดส ส่วนวัคซีนที่เข้ามาเมื่อวันที่ 10 เม.ย.จากซิโนแวค 1 ล้านโดส ขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจประสิทธิภาพทางห้องปฏิบัติการคาดว่าจะเสร็จภายใน 2-3 วันนี้ จากนั้นจะได้มีการเร่งกระจายฉีดต่อไป

เร่งจัดหาเตียงเพิ่ม ประสานโรงแรมเป็นฮอสปิเทล

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงเรื่องการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดว่า ผู้ติดเชื้อทุกคนควรได้รับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลที่ตรวจพบควรประสานการดำเนินการในเครือข่าย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งหลายคนถามมาว่า ไปแอดมิทโรงพยาบาลเอกชน ต้องจ่ายเงินหรือไม่ ขอยืนยันว่าไม่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะแอดมิทที่เอกชน หรือโรงพยาบาลของรัฐ ยกเว้นผู้ป่วยมีประกันส่วนตัว โรงพยาบาลเอกชนก็จะสอบถามและให้ประกันช่วยจ่ายก่อน

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากนี้ 3 กองทุน ทั้งกองทุน สปสช. กองทุนข้าราชการที่กรมบัญชีกลางดูแล และกองทุนประกันสังคม จะรับดูแลให้ประชาชน ยืนยันอีกครั้งว่า คนไทยทุกคนสามารถแอดมิทในโรงพยาบาล ฟรีจากการตรวจรักษาโควิด

ส่วนสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วย ขณะนี้ทั่วประเทศ ไม่รวมกรุงเทพฯ มีเตียงรองรับเกือบ 20,000 เตียง ถ้าหากรวมกรุงเทพฯ ด้วยจะมีเตียงประมาณ 23,000 เตียง นอกจากนี้ยังมีเตียงสนามและฮอสปิเทลว่างอีก 944 เตียง รวมทั้งหมดเป็น 3,000 เตียง ล่าสุดได้รับรายงานว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สามารถหาฮอสปิเทลของเอกชน เพิ่มเติมเป็น 3,900 เตียง ขณะนี้ยังมีเตียงผู้ป่วยว่างรองรับผู้ป่วยทั่วประเทศ โดยในส่วนของกทม. และปริมณฑล มีเตียงว่าง 2,056 เตียง เป็นโรงพยาบาลเอกชน 1,132 เตียง

แต่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เตรียมโรงพยาบาลสนามมากกว่า 1,000 เตียง และประสานกับโรงแรมเพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว (Hospital) เพิ่มอีกว่า 3,900 เตียง พร้อมขอความร่วมมือผู้ติดเชื้อให้ความร่วมมือมารักษาตัวกับแพทย์


หลังมีผู้ติดเชื้อบางรายไม่แสดงอาการขอกักตัวเองอยู่ที่บ้าน แต่อาการผู้ติดเชื้ออาจไม่รุนแรงในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นอาจแสดงอาการมากขึ้น จึงควรมาอยู่ในความดูแลของแพทย์ ซึ่งในช่วงแรกของการรักษาตัวผู้ติดเชื้อจะถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะดีขึ้น จึงจะส่งตัวไปติดตามอาการที่โรงพยาบาลสนาม