มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-พักหนี้ ธนาคาร-สถาบันการเงินไหนร่วมบ้าง!

เงิน-โควิด

คณะรัฐมนตรี เห็นชอบออกมาตรการ “สินเชื่อสู้ภัยโควิด-พักหนี้” เพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชน-ผู้ประกอบการ ผ่าน 10 สถาบันการเงิน 

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (5 พ.ค.) มีมติเห็นชอบออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งสิ้น 9 มาตรการ โดยในมาตรการดังกล่าวมีมาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 และมาตรการพักหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFls) ที่ได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อย

ล่าสุด ที่เฟซบุ๊ก นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสตข้อความชี้แจงรายละเอียดของทั้ง 2 มาตรการข้างต้นอีกครั้ง พร้อมแจ้งรายชื่อสถาบันการเงินที่ร่วมมาตรการ ดังนี้

มาตรการพักหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFls)

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่เป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินทั้งด้านเงินฝากและให้สินเชื่อ ปัจจุบัน มี 4 แห่ง คือ

  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

2.สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ทำธุรกิจตามขอบเขตที่กำหนด เช่น ให้สินเชื่อหรือรับประกันสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่ไม่รับเงินฝากจากประชาชนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมี 4 แห่ง คือ

  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)
  • ​ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank)
  • บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
  • บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

สำหรับมาตรการพักหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFls) เป็นการขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้ารายย่อยออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจของลูกหนี้

มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด

มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิดให้บริการ 2 สถาบันการเงิน ได้แก่

  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

สำหรับสินเชื่อสู้ภัยโควิด เป็นสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราว กลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้ประจำ เช่น พนักงาน/ลูกจ้าง หน่วยงานเอกชนที่มีเงินเดือนประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า หาบแร่แผงลอย และเกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตรที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน

วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท (แห่งละ 10,000 ล้านบาท) คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี (ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก) ระยะเวลาดำเนินงานถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 รัฐบาลชดเชยหนี้ NPLs 100 % สำหรับ NPLs ที่ไม่เกิน 50 % ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท หรือรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท