39 กวดวิชาเถื่อน ลวงลงทุนอ้างช่วยธุรกิจการศึกษา มูลค่า 8,000 ล้านบาท

กวดวิชา
ภาพประกอบข่าวเท่านั้น

คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน แจ้งความเอาผิด 39 โรงเรียนเอกชนเถื่อน เปิดแฟรนไชส์ไม่ได้รับอนุญาติ 31 จังหวัด โฆษณาเกินจริง หลอกลวงลงทุนธุรกิจการศึกษา กว่า 8,000 ล้านบาท  

วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 มติชนรายงานว่า นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เข้าแจ้งความเอาผิด โรงเรียนนอกระบบ 39 แห่ง ใน 31 จังหวัด หลังตรวจพบมีการโฆษณาเกินจริง พร้อมชวนลงทุนโดยอ้างว่า จะช่วยสร้างแผนการตลาด ลงทุนในธุรกิจการศึกษา มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท

นายอรรถพล ระบุว่า มีประชาชนได้ร้องเรียนเข้ามาว่า มีโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ได้สร้างความเดือดร้อน จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ โดยในเบื้องต้นพบว่า โรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ชื่อที่ขออนุญาติจัดตั้งคือ สร้างเสริมทักษะภาษาอังกฤษแฮมโกร์วอิง จ.อุบลราชธานี ต่อมาได้มีการขยายแฟรนไชส์ไปทั่วประเทศ และเปิดสอนโดยไม่ได้ขออนุญาตจัดตั้ง

ถือว่า มีความผิดตามพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 120 การจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบต้องได้รับการอนุญาตจากสช. หากไม่ได้รับอนุญาตถือว่ามีความผิดตามกฎหมายโทษจำคุก1ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มีการโฆษณาเกินจริง ชวนลงทุนอ้างว่าจะช่วยสร้างแผนการตลาด ลงทุนในธุรกิจการศึกษา มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท มีโฆษณาทั้งทางทีวี และโซเชียล ค่าแฟรนไชส์ในการลงทุนอยู่ที่ 390,000 บาท ให้สิทธิ 1 อำเภอ 1 สาขา ขายแฟรนไชส์ไปแล้ว 64 แห่ง สอนภาษาอังกฤษเด็กอายุ 4-12 ปีและยังมีแยกย่อยเป็นคอร์ส 5-6 ขวบ คอร์สละ 2,900 บาท 3-4 ขวบ คอร์สละ 1,500 บาท”

“ดังนั้น สช.จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษที่สภ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทั้ง 31 จังหวัด โรงเรียนเอกชนนอกระบบดังกล่าว ซึ่งเปิดสอนโดยไม่ได้ขออนุญาตตั้งอยู่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในจังหวัดของตัวเอง ภายใน 7 วัน ขณะที่ สช.ได้แจ้งกรมสรรพากร ตรวจสอบการชำระภาษี และแจ้งต่อสำนักงานตรวจสอบคนเข้าเมือง (สตม.) ตรวจสอบครู/ผู้สอบชาวต่างชาติว่า ได้เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องหรือไม่”