หมอเหรียญทอง จวก เขตหลักสี่ ทำหน้าที่ให้รู้บริบท “โรคระบาด”

หมอเหรียญทอง

หมอเหรียญทอง ตอบกลับ เขตหลักสี่ชี้แจงเหตุปิดประกาศห้ามเข้า รพ.สนามพลังแผ่นดิน แนะควรแยกการทำหน้าที่ในสถานการณ์ปกติกับตอนเกิดโรคระบาด 

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ให้ลูกน้องนำประกาศของเขตหลักสี่ ที่ห้ามเข้าพื้นที่โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน ออก ยืนยันว่าตนยึดถือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง

ต่อมา สำนักงานเขตหลักสี่ ชี้แจงกรณีปิดคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคาร ห้ามเข้า ห้ามใช้อาคาร โรงพยาบาลสนาม ซอยแจ้งวัฒนะ 14 และให้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ภายใน 30 วัน ว่า เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522  เนื่องจากตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้รับการยกเว้นในการไม่ต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แต่อย่างใด

สำนักงานเขตหลักสี่ จึงได้ดำเนินการปิดประกาศไว้ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลสนาม และร้านค้าที่อยู่ติดรั้วด้วยเช่นกัน เมื่อวันที่ 20 พ.ค.64 ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงานเขตฯ ได้ชี้แจงให้ทั้ง 2 ฝ่าย เข้าใจในข้อกฏหมายแล้ว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตหลักสี่มิได้ปิดกั้นการให้บริการของโรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 แต่อย่างใด ในส่วนของผู้ค้าหน้าโรงพยาบาลสนามก็ได้หยุดประกอบการตามคำสั่งของสำนักงานเขตหลักสี่แล้ว

ล่าสุด พล.ต.นพ.เหรียญทอง โพสต์เฟซบุ๊กถึงคำชี้แจงของสำนักงานเขตหลักสี่ว่า

อย่าหลงประเด็นกับการชี้แจงของสำนักเขตหลักสี่ต่อนักข่าวว่า คำสั่งห้ามใช้อาคาร รพ.สนามพลังแผ่นดิน ห้ามเข้าสู่ภายในอาคาร รพ.สนามพลังแผ่นดิน ห้ามก่อสร้างอาคาร รพ.สนามพลังแผ่นดินที่เขตหลักสี่ออกถึงผมในกรณี รพ.สนามพลังแผ่นดินโดยกล่าวอ้างว่า การประกาศ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯก็ดี และการประกาศยกเว้น รพ.สนาม ให้เป็นสถานพยาบาลที่ไม่ต้องขออนุญาตก็ดี

แต่ พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ไม่มีการยกเว้นเรื่องนี้ ถ้าจะก่อสร้าง รพ.สนาม ยังคงต้องขออนุญาตก่อสร้างอาคารตาม พรบ.ควบคุมอาคารฯอยู่ดี และที่เขตหลักสี่กล่าวอ้างอีกว่านี่เป็นการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ รพ.สนามที่ใช้อาคารที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องขออนุญาตในการก่อสร้างก่อนตาม พรบ.ควบคุมอาคาร ซึ่งสามารถยื่นเรื่องขออนุญาตที่สำนักงานโยธา

ผมขอเรียนให้ทราบทั่วกันว่า สถานการณฺฉุกเฉินจากภัยพิบัติจากโรคระบาดก็ดี จากภัยพิบัติตามธรรมขาติ เช่น อุทกภัยก็ดี ล้วนเป็นสาธารณภัย ถือว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ถึงแม้จะไม่มีการออก พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ก็เป็นเรื่องที่รับรู้ได้โดยไม่ต้องพิสูจน์…

ยิ่งเมื่อรัฐบาลได้ออกประกาศ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ด้วยแล้ว ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต่างๆ จะต้องรู้ ต้องเข้าใจถึงบริบทการทำหน้าที่ของตนตามสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่ยังคงทำหน้าที่ตามบริบทในสถานการณ์ปกติ

การอันใดก็ตาม คือ การอันควรทำหรือต้องทำ…และการอันใดก็ตาม คือ การอันควรผ่อนปรนหรือยืดหยุ่นเพื่อบรรเทาสาธารณภัยแล้วไซร้ นั่นคือเรื่องที่ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใข้กฎหมายจะต้องเข้าใจและปฏิบัติ

ผมขอถามว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยอาการหนักจำนวนมากที่จำเป็นต้องตั้ง รพ.สนาม ระดับ 3 ซึ่งเป็น รพ.สนาม ที่มีขีดความสามารถสูงในการรักษาผู้ป่วยวิกฤตนั้นมีคุณลักษณะจำเพาะ มีระบบทางการแพทย์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจาก รพ.สนาม ระดับ 1 ทั่วไป จึงจำเป็นต้องตั้งเต๊นท์สนามชั่วคราวเพื่อการจัดตั้ง รพ.สนาม ระดับ 3 ขึ้นโดยเฉพาะ

ถึงแม้การตั้งเต๊นท์สนามชั่วคราวจะใช้งานนานเกินกว่า 10 วันตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดก็ตาม แต่สำนักงานเขตหลักสี่และ ผอ.เขตหลักสี่ น่าจะมีดุลพินิจได้ว่า “การอันนี้ คือ การอันควรทำหรือต้องทำ…และการอันนี้ คือ การอันควรผ่อนปรนหรือยืดหยุ่นเพื่อบรรเทาสาธารณภัย” หรือไม่???

การที่ ผอ.เขตหลักสี่กล่าวอ้างว่าการประกาศ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ และการประกาศยกเว้น รพ.สนาม ให้เป็นสถานพยาบาลที่ไม่ต้องขออนุญาต แต่ พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ไม่มีการยกเว้นเรื่องนี้…ท่านไม่เข้าใจบริบทของท่านใน ‘สถานการณ์ฉุกเฉินจากสาธารณภัยโรคระบาด’ หรืออย่างไร???

ต่อไปนี้หากเกิดสาธารณภัยจากอุทกภัยก็ดี หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ ก็ดี ใครก็ตามที่จะตั้งเต๊นท์สนามเพื่อใช้งานบรรเทาสาธารณภัยนานเกินกว่า 10 วัน หรือระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จะต้องเขียนแบบก่อสร้างแล้วไปยื่นขออนุญาตจากสำนักการโยธากระนั้นหรือ???

โง่ดักดานชิบ!…ผมไม่เสียเวลาเขียนแบบเต๊นท์สนามชั่วคราว รพ.สนามพลังแผ่นดินหรอกครับ (ผมเอาเวลาไปรักษาชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากจะดีกว่า) ผมจะสอนข้าราชการได้รู้จัก “การอันใดก็ตาม คือ การอันควรทำหรือต้องทำ และการอันใดก็ตาม คือ การอันควรผ่อนปรนหรือยืดหยุ่นเพื่อบรรเทาสาธารณภัย”…มิฉนั้นแล้วต่อไปจะไม่มีใครมีจิตสาธารณะในสถานการณ์สาธารณภัย สถานการณ์ฉุกเฉินอีก เพราะแค่ตั้งเต๊นท์ชั่วคราวใช้งานเกิน 10 วันยังต้องเขียนแบบก่อสร้างเพื่อขออนุญาตจากสำนักโยธาเสียก่อน แล้วใครมันจะไปอาสากันล่ะครับ

พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา

ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ

4 มิ.ย.64 เวลา 7.54 น.

หมายเหตุ ร้านค้าผิดกฎหมายบนทางเท้ารุกล้ำที่ดินเอกชนประชิดรั้ว รพ.สนาม ก็เป็นโรงเรือนใช้งานชั่วคราวนานกว่า 10 วัน คือนานกว่า 30 ปีแล้ว …ไม่เห็นต้องขออนุญาตตาม พรบ.ควบคุมอาคารฯ เลย ทุกวันนี้ยังขวางทางสร้างปัญหา ‘อับอากาศ’ ตลอดแนวรั้ว รพ.สนาม พลังแผ่นดิน…ไม่เชื่อนักข่าวตรวจสอบกันได้