กทม. ผนึก ปตท. ฉีดวัคซีนเชิงรุกกลุ่มคลัสเตอร์สำคัญ จ่อตั้ง Hospitel เพิ่ม

กทม.จับมือปตท.-ฉีดวัคซีน

กทม. จับมือ ปตท. ฉีดวัคซีนโควิด-19 เชิงรุกกลุ่มคลัสเตอร์สำคัญ เตรียมจัดตั้ง Hospitel เพิ่มเติมรองรับผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มขึ้น หลังยอดผู้ป่วยครองเตียงเกือบเต็มแล้ว ฟากซีอีโอปตท.เผยระดมทรัพยากรช่วยกทม.เต็มที่

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ตรวจเยี่ยม “หน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก จากความร่วมมือระหว่าง กทม. และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” ณ โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) เขตหลักสี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เคลื่อนที่ (Mobile Vaccine Unit) เพื่อแก้ไขปัญหาการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสอบสวนโรคและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษา รวมทั้งนำมาตรการการให้วัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” (herd immunity)

ทั้งนี้จากสถานการณ์ที่เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในหลายพื้นที่เขตของกรุงเทพมหานคร สำนักอนามัยจึงได้กำหนดแผนการจัดหน่วยบริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชิงรุกเพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ที่มีการแพร่ระบาด เป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ให้ขยายวงกว้าง

ที่ผ่านมาสำนักอนามัยได้มีการดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่เขต ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตดุสิต เขตหลักสี่ เขตบางแค และเขตคลองเตย โดยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด ได้เข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจ ของหน่วยบริการวัคซีนป้องกันโควิด -19 เชิงรุก จำนวน 10 หน่วยบริการ ใน 5 พื้นที่เขตที่มีการระบาดในระดับสูง และมีลักษณะเป็นคลัสเตอร์ในชุมชนที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่น โดยเฉพาะผู้ป่วยในชุมชน ผู้พิการ หรือแรงงานที่อยู่ในแคมป์คนงานต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ

ซึ่งแคมป์คนงานในพื้นที่เขตหลักสี่ถือว่าเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่ต้องได้รับวัคซีนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดโดยเร่งด่วน

สำหรับหน่วยฉีดวัคซีนในลักษณะนี้จะเคลื่อนย้ายจุดไปทั่วพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดแผนในการสนับสนุนการจัดหน่วยบริการฯ เพื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 5 ครั้ง ได้แก่

  • ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 21 – 23 มิ.ย. 64 ณ โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) เขตหลักสี่
  • ครั้งที่ 2 วันที่ 25 – 26 มิ.ย. 64 ณ วัดสุนทรธรรมทาน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
  • ครั้งที่ 3 วันที่ 29 มิ.ย – 13 ก.ค. 64 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
  • ครั้งที่ 4 วันที่ 14 – 18 ก.ค. 64 ณ โกดังสเตเดียม การท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย
  • และ ครั้งที่ 5 วันที่ 21 – 22 ก.ค. 64 ณ วัดสุนทรธรรมทาน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า สำหรับจำนวนเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ณ Hospitel และโรงพยาบาลสนาม กทม. ปัจจุบันมีจำนวน 2,000 กว่าเตียง ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ผู้ป่วยครองเตียงเกือบเต็มแล้ว เพื่อเป็นการรองรับผู้ป่วยที่อาจมีจำนวนมากขึ้น กทม. ได้เตรียมจัดตั้ง Hospitel เพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อกับโรงแรมที่จะเข้ามาเป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร

ทางด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. กับ กทม. ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการเร่งปูพรมกระจายฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด และเข้าถึงทุกคน ทุกพื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศตามนโยบายของภาครัฐ

ปตท.พร้อมช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐในการจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ ที่ต้องอาศัยทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อีกทั้งได้ระดมพนักงานจิตอาสา ปตท. สนับสนุน กทม. ในการจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเชิงรุกในชุมชนพื้นที่เสี่ยง

รวมทั้งผนึกความร่วมมือและความเชี่ยวชาญของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อาทิ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีประสิทธิภาพ มุ่งหวังฟื้นลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศ ตามเจตนารมณ์ของ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” กลุ่ม ปตท. เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวโดยเร็วต่อไป

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนทุกภาคส่วนในการรับมือภาวะวิกฤต COVID-19 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มการระบาดในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน รวมมูลค่ากว่า 1,100 ล้านบาท โดยระดมสรรพกำลังความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีของกลุ่ม ปตท.ในการสนับสนุนงานวิจัยสู้ภัย COVID-19 อาทิ ชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) ชุดป้องกันการติดเชื้อความดันบวก (PAPR) การสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาชุดตรวจคัดกรองและการวิจัยพัฒนาวัคซีน Chula-Cov 19 สนับสนุนแอลกอฮอล์ทางการแพทย์

อีกทั้งจัดตั้งโครงการลมหายใจเดียวกัน มูลค่า 200 ล้านบาท โดยเร่งจัดหาเครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤต ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคกว่า 70 โรงพยาบาล จำนวนกว่า 300 เครื่อง รวมไปถึงการสนับสนุนกล่องพลังใจ สู้ภัย COVID-19 อาหาร น้ำดื่ม แก่โรงพยาบาลสนาม กทม. และบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งได้มอบถุงยังชีพและอาหารจากสมาคมภัตตาคารไทยแก่ชุมชนคลองเตย

ล่าสุด ได้ขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาท/คน/เดือน ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ต่อไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 11 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลดต้นทุนค่าครองชีพ