วิจัยกรุงศรี ศบค.อ้างอิง ต้น ส.ค.ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง 1.5 หมื่นราย จีดีพีทรุด 2%

เปิด 3 สมมติฐานงานวิจัยกรุงศรี
ประชาชนต่อคิวรอตรวจโควิดในกรุงเทพฯ REUTERS/Chalinee Thirasupa

เปิดสมมุติฐานวิจัยกรุงศรี ที่ ศบค.อ้างถึง คาดต้น ส.ค.ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง 1.5 หมื่นราย จีดีพีทรุด 2%

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 กรณีนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงการคาดการณ์ความเป็นไปได้ของการติดเชื้อของประเทศไทย 2 รูปแบบ รูปแบบแรกจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์แย่ที่สุด คือการติดเชื้อสูงสุดจะอยู่ที่ 31,997 ราย/วัน แต่หากทำดีที่สุด จะอยู่ที่ 9,018-12,605 ต่อวัน ส่วนค่ากลางจะอยู่ที่ 9,695-24,204 ราย/วัน

ส่วนอีกรูปแบบคือการคาดการณ์ของงานวิจัยกรุงศรี ที่ระบุว่า หากเราฉีดวัคซีนได้ดี เคสที่ดีที่สุด (Best case) จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงประมาณเดือนกันยายน โดยจะสูงเกินกว่า 15,000 รายต่อวัน ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน แต่ถ้าแย่ที่สุด จำนวนผู้ติดเชื้อจะสูงถึง 22,000 กว่าราย ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน แล้วจะค่อย ๆ ลดในเดือนตุลาคม หากวัคซีนมาได้ตามกำหนดในช่วงไตรมาส 4

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดรายงานฉบับเต็ม งานวิจัยกรุงศรีฉบับเต็ม ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการประมาณการจีดีพีปี 2564 แล้วจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในช่วงพีก ดังนี้

ผู้ติดเชื้อพุ่ง 15,000 รายต่อวัน ต้น ส.ค.

วิจัยกรุงศรีปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 เติบโตเหลือ 1.2% จากสถานการณ์การระบาดเลวร้ายลง แต่ยังพอมีแรงพยุงบ้างจากการส่งออกที่เติบโตแข็งแกร่ง

โดยคาดการระบาดรอบล่าสุดฉุดจีดีพีลงจากประมาณการเดิม 0.8% ตามอุปสงค์ในประเทศที่ซบเซา ท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า และจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ได้เข้าสู่กรณีเลวร้ายที่วิจัยกรุงศรีเคยคาดการณ์ไว้ครั้งก่อน จึงได้ปรับขยับสถานการณ์การระบาดดังกล่าวมาเป็นกรณีฐานในการประมาณการครั้งล่าสุด เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เร่งขึ้นใกล้แตะระดับ 10,000 รายในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

นอกจากนี้ ภายใต้สมมุติฐานการแพร่รระบาดของโรค COVID-19 ในระยะข้างหน้าคาดว่าจะมีสาเหตุจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าและเบต้าเป็นหลัก ดังนั้น ข้อมูลรูปแบบการติดเชื้อจึงอ้างอิงจากประเทศอินเดีย แอฟริกาใต้ และอังกฤษ ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ของไทยในช่วงเดือนกรกฎาคมคาดว่าจะมีผลกระทบราว 70% ของช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน 2563

แบบจำลองชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 รายต่อวันได้ภายในต้นเดือนสิงหาคม ขณะที่สมมุติฐานด้านการฉีดวัคซีนของไทย คาดอัตราการฉีดเฉลี่ยอยู่ที่ 250,000 โดสต่อวันในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้เมื่อถึงสิ้นปีจะมีจำนวนวัคซีนฉีดแล้วราว 55 ล้านโดส ซึ่งอาจช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันได้บ้างโดยเฉพาะหลังจากเดือนกันยายน

ผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือพันคนในเดือน พ.ย.

อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนเป็นสำคัญที่จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน (สมมุติฐานประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 60%) ในกรณีฐานดังกล่าวนี้ คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะลดลงมาต่ำกว่า 1,000 ภายในเดือนพฤศจิกายน

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2564 ลง 0.8% เหลือขยายตัว 1.2% จากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและยาวนานกว่าคาด ท่ามกลางมาตรการช่วยเหลือที่ค่อนข้างจำกัด โดยมีผลเชิงบวกอยู่บ้างจากภาคส่งออกที่เติบโตแข็งแกร่ง

จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศทวีเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า กอปรกับความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน และการฉีดวัคซีนที่ยังมีความล่าช้า ชี้ว่าการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นอาจดำเนินต่อไปจนถึงเดือนตุลาคม จึงคาดว่าผลกระทบเชิงลบโดยรวมที่เกิดจากการหยุดชะงักของอุปทาน การลดลงของอุปสงค์ และกิจกรรมการท่องเที่ยวอ่อนแอลง ฉุดการเติบโตของจีดีพีของไทยในปีนี้ลดลง 2.0%

การฟื้นตัวแบบตัว K

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกที่แข็งแกร่งจะช่วยหนุนการเติบโตของจีดีพีปีนี้บวกขึ้น 0.6% สำหรับการออกมาตรการเยียวยาจากภาครัฐที่คาดว่าจะมีเพิ่มเติมวงเงิน 1 แสนล้านบาทในปีนี้ น่าจะสามารถช่วยเพิ่มการเติบโตของจีดีพีได้อีก 0.6% แต่มาตรการทั้งทางการคลังและการเงินอาจมีผลบวกค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับขนาดของผลกระทบจากการระบาดรอบนี้และขนาดของมาตรการที่ดำเนินการในอดีตที่ผ่านมา

โดยผลกระทบสุทธิต่อการเติบโตของจีดีพีของไทยรวมแล้วจะลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.8% ทำให้ประมาณการอัตราการขยายของเศรษฐกิจในปี 2564 เหลือเติบโตเพียง 1.2% จากเดิมครั้งก่อน

วิจัยกรุงศรีประเมินการฟื้นตัวในรูปแบบตัว “K” จะปรากฏชัดขึ้น โดยภาคท่องเที่ยวจะยังฟื้นตัวได้ช้าแม้จะสามารถเริ่มโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ได้ แต่การระบาดที่รุนแรงและยาวนานเกินคาด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้คาดว่าจะมีเพียง 0.21 ล้านคน (เดิมคาด 0.33 ล้านคน) ด้านตลาดแรงงานที่อ่อนแอ หนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูงและรายได้ที่ลดลง รวมถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจที่มีจำกัด การบริโภคภาคเอกชนในปีนี้อาจมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเหลือ 1.1% (เดิม 1.8%)

ส่วนในแง่บวก อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการกลับมาเปิดดำเนินการของกิจกรรมเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ช่วยหนุนให้การขยายตัวของภาคส่งออกของไทยในปีนี้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 15% (ฐานตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.) จากเดิมคาดโต 9.5% แนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ได้บ้าง