ศบค. คาดสถานการณ์แย่สุด ผู้ติดเชื้อโควิดทะลุ 3 หมื่นราย/วัน

นายแพทย์ ทวีศิลป์ ศบค.
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

ศบค. กางผลการศึกษา สถานการณ์โควิดในประเทศนับจากนี้ไป ชี้แย่สุดผู้ติดเชื้อทะลุ 3.1 หมื่นราย/วัน แม้เคส “ดีที่สุด” หากมีมาตรการบังคับใช้  ฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย ยอดผู้ติดเชื้อยังแตะหมื่นรายต่อวัน วอนทุกคนต้องช่วยกันปฎิบัติข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวแถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อประจำวันว่า สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 11,784 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 386,307 ราย หายป่วยแล้ว 262,225 ราย เสียชีวิต 81 ราย และเสียชีวิตสะสม 3,328 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 415,170 ราย หายป่วยแล้ว 289,651 ราย เสียชีวิตสะสม 3,422 ราย

ยอดรักษาตัวยังพุ่ง  1.2 แสนราย

ขณะที่มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่มีจำนวน 122,097 ราย เป็นการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 71,635 ราย รพ.สนาม 50,462 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก 3,595 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 856 ราย

“ตัวเลขนี้แหละครับ (122,097ราย) ที่ทำให้เห็นวิกฤตของการติดเชื้อโควิดในครั้งนี้ ซึ่งทำให้ยอดของการอยู่ในโรงพยาบาลสูงมาก ๆ และทำให้มีผู้ป่วยอาการหนัก 3,595 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจถึง 856 ราย แม้ว่าการฉีดวัคซีนของเราจะไปอยู่ที่ 14 ล้านโดสไปแล้ว” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

สำหรับผู้รับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 มีเข็มที่ 1 จำนวน 69,667 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 5,167 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 18 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 14,298,596 โดส

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 191,220,126 ราย อาการรุนแรง 80,545 ราย รักษาหายแล้ว 174,167,127 ราย เสียชีวิต 4,105,743 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 34,963,907 ราย 2. อินเดีย จำนวน 31,143,595 ราย 3. บราซิล จำนวน 19,376,574 ราย 4. รัสเซีย  จำนวน 5,958,133 ราย 5. ฝรั่งเศส จำนวน 5,867,730 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 54 ของโลก จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 415,170 ราย

คาดแย่สุดติดเชื้อทะลุ 3 หมื่นราย/วัน ดีสุดยังหมื่นราย

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน กล่าวต่อว่า วานนี้ (18 ก.ค.) มีการพยากรณ์ จากการประชุมร่วมกับผู้ที่ทำงานในแวดวงแมสมีเดีย ทั้ง ทีวี วิทยุ และออนไลน์ เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปได้ของการติดเชื้อของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้นำเสนอให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ โดยมี 2 รูปแบบของการคาดการณ์

1.มาจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.นวลจันทร์ สิงห์คราญ ได้ฉายภาพโดยใช้ข้อมูลถึง ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์แย่ที่สุดถ้าจะเกิดเคสหากไม่ทำอะไร ไม่ได้ช่วยกันและปล่อยให้การติดเชื้อไปเรื่อย ๆ ค่าบนหรือการติดเชื้อสูงสุดจะอยู่ที่ 31,997 ราย/วัน

แต่แม้ว่าหากเราทำดีที่สุด จะอยู่ที่ 9,018-12,605 ต่อวัน ส่วนค่ากลางจะอยู่ที่ 9,695 – 24,204 ราย/วัน (ตามกราฟฟิก)

“เรียนว่าดีที่สุดก็ยังแตะเลขหมื่น ถ้ามาตรการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว ทุกคนร่วมมือกัน ค่ากลางที่เป็นค่าล่างก็ยังสูงทีเดียว คือจะอยู่ที่ 9,695 – 24,204 ราย/วัน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ส่วนอีกการศึกษาหนึ่ง เป็นการคาดการณ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทาง WHO ได้นำไปอ้างอิง ซึ่งใช้รูปแบบของการคาดการณ์ แล้วใช้การฉีดวัคซีนที่จะเกิดขึ้นถึงปลายปีว่า ถ้าหากเราฉีดวัคซีนได้ดี เคสที่ดีที่สุด (Best case) จะลงไปประมาณเดือนกันยายน จากปัจจุบันจะไต่ขึ้นไป โดยจะเห็นค่าไต่ขึ้นไปประมาณหมื่นกว่าราย จะสูงเกินกว่า15,000 ต่อวัน ในช่วงเดือนสิงหาคมต่อกันยายน

แต่ถ้าแย่ที่สุดคือ กราฟที่โด่งที่สุดคือ 22,000 กว่าราย ในช่วงของสิงหาคม-กันยายน แล้วจะค่อย ๆ ลงมาในเดือนตุลาคม หากวัคซีนมาได้ตามที่กำหนด ในช่วงเวลาไตรมาส 4

“อันนี้เป็นภาพฉาย เป็นการคาดการณ์ ที่เราต้องรับทราบโดยทั่วกัน และต้องพยายามช่วยกันดึงกราฟ เพราะฉะนั้น ดีที่สุดต้องป่วยน้อยที่สุดต่อวัน นี่คือสิ่งที่เป็นการคาดการณ์ของนักวิชาการทั้งหลาย”

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า  เมื่อเราเห็นกราฟตรงนี้ เราคงจำกันได้ สิ่งที่เราพยายามช่วยกันมา ตนเองจำได้เมื่อปีที่แล้ว มีการคาดการณ์ว่าจะมีการติดเชื้อ 16.9 ล้าน ถ้าเราไม่ช่วยกันทำอะไร วันนี้เราเห็นเป็นรายวันที่บอกว่าจะเป็นวันละหมื่น 2 หมื่น 3 หมื่น สิ่งที่เราคาดการณ์ไม่อยากให้เจอ ไม่อยากให้เป็น แต่เราต้องบอก ต้องมองไปข้างหน้าให้ตรงกัน

สิ่งที่เป็นข้อกำหนดที่ออกมาเป็นสิ่งที่เหมือนกติกาที่เราอยู่ร่วมกัน จะได้เข้าใจ ต่างคนต่างช่วยกัน ก็จะดึงกราฟตรงนี้ให้ลงมาได้ แล้วจะทำให้เราเห็นผลว่า พลังของคนไทย จิตใจของคนไทย นอกจากเราจะช่วยตนเองและญาติของเราได้แล้ว เรายังช่วยพี่น้องชาวไทยทุกคนได้ด้วย

“เพราะฉะนั้นวันนี้เราไปแตะหมื่นอยู่หลายวันแล้ว สิ่งที่เราอยากจะเห็น คือลดลงไปกว่านี้ได้ไหม คนใดคนหนึ่งทำไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกัน และก็เป็นอย่างนี้ทุกประเทศ ความสามัคคีเท่านั้น ที่เราจะช่วยกันได้ แล้วเราจะผ่านความทุกข์ยากนี้ไปด้วยกัน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

เตือนประชาชนปฏิบัติตามข้อกำหนด-เคอร์ฟิว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ออกเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2564 กำหนดจังหวัดควบคุมสุงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จาก 10 จังหวัดเพิ่มเป็น 13 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) จาก 24 จังหวัดเป็น 53 จังหวัด พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จาก 25 จังหวัดเหลือ 10 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จาก 18 จังหวัดลดเหลือ 1 จังหวัด คือภูเก็ต

ในส่วนของ 13 จังหวัดสีแดงเข้มที่ควบคุมสุงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และที่เพิ่มมา 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา

ซึ่งมาตรการคือห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิวช่วงเวลา 21.00-04.00 น. ส่วนเวลาอื่นให้งดออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็นเช่นกัน ยกเว้นการเดินทางจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต คือ อาหาร ยา เวชภัณฑ์ พบแพทย์ รักษาพยาบาล รับวัคซีน การประกอบอาชีพที่ไม่สามารถ Work From Home ได้ โดยจะตั้งด่านบริเวณขอบของจังหวัดแดงเข้ม รวมถึงด่านตรวจภายในการเข้าออกเส้นสมุทรปราการไปภาคตะวันออกด้วย

ซึ่งจะทำให้การเดินทางเข้า-ออกไม่สะดวก เพราะจะมีการตรวจเอกสาร 3 อย่าง คือ หลักฐานการอนุญาตจากเจ้าพนักงานในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เป็นต้น ใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะที่ด่านตรวจ และลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ COVID19.in.th แสดงคิวอาร์โค้ด ต่อเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ

ส่วนขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคม กทม. จังหวัด หน่วยงานรับผิดชอบ จำกัดจำนวนผู้โดยสาร 50% ของความจุยานพาหนะแต่ละประเภท การจำหน่ายอาหารให้ขายกลับบ้านถึง 20.00 น. ห้างให้เปิดเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ยาและเวชภัณฑ์ และพื้นที่ฉีดวัคซีนเท่านั้นถึง 20.00 น.

ส่วนร้านวัสดุอุปกรณ์ ซ่อมบ้าน โทรคมนาคม ธนาคาร โรงพยาบาล คลินิกรักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป ที่อยู่นอกห้างให้เปิดได้

ส่วนสวนสาธารณะ ร้านตัดผมต่าง ๆ ให้รอการประกาศของแต่ละจังหวัดว่าจะมีมาตรการอย่างไรต่อไป ส่วนโรงแรมห้ามจัดประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสดเปิดถึง 20.00 น. แต่หากมีการติดเชื้อสูงแต่ละจังหวัดพิจารณาสั่งปิดได้ตามความจำเป็น (ดูตารางด้านล่างประกอบ)