ศบค.กางยอดป่วยรักษาตัวที่บ้านกทม. จ่อแสนราย เจออีก 8 คลัสเตอร์ใหม่

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.

ศบค. เผยวันนี้พบคลัสเตอร์ใหม่อีก 8 แห่ง ใน 5 จังหวัด มีทั้ง คลังสินค้า โรงงาน ห้องเย็น บริษัทกล่องกระดาษ และแพปลาที่ภูเก็ต ระบุผู้ป่วยในกทม. ที่เข้าสู่ระบบ Home Isolation ยอดเกือบแสนรายแล้ว ขณะที่การตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) ใน กทม. พบผู้ป่วยเฉลี่ย 20% สลด! วันนี้มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 2 คน

วันที่ 5 สิงหาคม 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การติดเชื้อ ประจำวันว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 20,920 ราย หายป่วยแล้ว 446,306 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 664,442 ราย เสียชีวิตสะสม 5,569 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีหายป่วยแล้ว 473,732 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 693,305 ราย เสียชีวิตสะสม 5,663 ราย

ยอดป่วยหนักจ่อ 5 พันราย

สำหรับผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในวันนี้มีจำนวน 213,910 ราย รักษาตวอยู่ในโรงพยาบาล 87,150 ราย รพ.สนามและอื่น ๆ 126,760 ราย มีอาการหนัก 4,993 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,058 ราย

ส่วนผู้รับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 290,616 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 92,991 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 4 สิงหาคม 2564 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมดจำนวน 18,961,703 โดส

ไทยรั้งอันดับ 40 ของโลก

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 200,989,081 ราย อาการรุนแรง 93,601 ราย รักษาหายแล้ว 180,990,112 ราย และเสียชีวิต 4,270,029 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับหนึ่งยังเป็น สหรัฐอเมริกา จำนวน 36,176,471 ราย 2.อินเดีย จำนวน 31,810,782 ราย 3.บราซิล จำนวน 20,026,533 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 6,356,784 ราย 5.ฝรั่งเศส จำนวน 6,207,416 ราย

โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมจำนวน 693,305 ราย

10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด-หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 2 ราย

10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดในวันนี้ กทม. มีจำนวนสูงสุด 4,140 ราย รวมยอดสะสม 169,989 ราย รองลงมาเป็น สมุทรปราการ 1,326 ราย ชลบุรี 1,311 ราย สมุทรสาคร 1,279 ราย นนทบุรี 754 ราย นครราชสีมา 565 ราย สระบุรี 494 ราย ปทุมธานี 463 ราย ฉะเชิงเทรา 449 ราย และพระนครศรีอยุธยา 427 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิต 160 ราย วันนี้ มาจาก กทม. 78 ราย, สมุทรปราการ ปทุมธานีจังหวัดละ 8 ราย, นนทบุรี นครสวรรค์ จังหวัดละ 7 ราย, สมุทรสาคร ปัตตานี ชลบุรี จังหวัดละ 6 ราย, ระยอง 4 ราย, ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ ตาก จังหวัดละ 3 ราย, กาฬสินธุ์ นครราชสีมา สกลนคร จังหวัดละ 2 ราย

สงขลา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครพนม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี ชัยนาท อุทัยธานี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และสระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย

แยกเป็นชาย 90 ราย หญิง 70 ราย ค่ากลางของอายุอยู่ที่ 63 ปี (12-95 ปี) เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 67% อายุต่ำกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว 23% จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงทั้งสูงอายุ 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งวันนี้มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 2 ราย อยู่ที่ กทม. และฉะเชิงเทรา

ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังมาจากโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคอ้วน เป็นต้น (ตามตาราง)

ต่างชาติติดเชื้อ 5 ราย โยงสมุยพลัส ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

สำหรับผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย ผลตรวจพบเชื้อ ได้แก่ อังกฤษ 3 ราย เข้าสมุยพลัส 1 ราย ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 2 ราย, เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศละ 1 ราย โดยเข้าภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ทั้งคู่, กัมพูชา 2 ราย เข้าด่านพรมแดนทางบก และเมียนมา 1 ราย

ส่วนการเข้าประเทศผิดกฎหมายตั้งแต่ ก.ค. ถึงปัจจุบันรวม 44,168 ราย จับได้ที่ชายแดน 3 หมื่นกว่าราย พื้นที่ชั้นใน 1 หมื่นกว่าราย จำนวนนี้มีผู้นำพา 411 คน เฉพาะ ก.ค. เดือนเดียวจับกุมได้ถึง 4.3 พันคน ขอให้ชายแดนเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด

ส่วนสัดส่วนผู้ติดเชื้อของ กทม. และปริมณฑลกับ 71 จังหวัดในวันนี้ สัดส่วนของผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดยังมากกว่า กทม. และปริมณฑล โดยสัดส่วนอยู่ที่ 40 ต่อ 60 (ตามตาราง)

ชุดตรวจ Antigen Test Kit ที่ผ่าน อย.มีแค่ 19 ยี่ห้อ

แพทย์หญิงอภิสมัยยังกล่าวถึงการตรวจเชิงรุกสำหรับชุด Antigen Test Kit (ATK) ว่า ตามนโยบายคือการให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้ง่าย รู้ผลเร็ว และประหยัด โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับระเบียบให้พี่น้องประชาชนสามารถที่จะตรวจ ATK โดยหามาตรวจด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการปลดล็อกตรงนี้

ล่าสุด อย.ได้ขึ้นทะเบียนชุดตรวจที่ใช้ได้มี 2 แบบด้วยกัน แบบแรกสำหรับใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ เฉพาะในสถานพยาบาล และแบบที่สองที่ประชาชนสามารถซื้อหามาตรวจด้วยตัวเองได้ หรือเรียกว่าแบบโฮมยูส หรือ self test ซึ่งตอนนี้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่าน อย. มี 19 ยี่ห้อ และยังมีเสนอเพิ่มเข้ามาอีก

อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจเหล่านี้ถือว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งต้องมีความแม่นยำ เพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา ดังนั้นจะมีจำหน่ายที่ร้านขายยา และสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้ขายตามออนไลน์ หรือร้านสะดวกซื้อ เพราะอาจเป็นชนิดที่ไม่ได้มาตรฐาน

รวมถึงการเก็บตัวอย่างก็ต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานด้วย ซึ่งมีการอบรมและทำวีดีโอแนะนำในการตรวจอย่างถูกต้อง โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงสถานที่ตรวจซึ่งสามารถเข้าไปดูได้ที่ koncovid.com ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน จุดตรวจเชิงรุก คลินิก แล็บ มหาวิทยาลัย และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม จะต้องโทรศัพท์ไปสอบถามก่อนว่า รับตรวจหรือไม่ โดย กทม. ได้ทำหมายเลขโทรศัพท์ประจำเขตไว้ด้วย

ยอดตรวจชุด ATK เจอผลบวก 20%

ส่วนผู้ที่ต้องตรวจหาโควิด ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ที่มีไข้ 37.3 องศา รวมถึงอาจมีอาการระบบทางเดินหายใจ หรือเรียกว่าผู้ป่วย PUI 2.กลุ่มที่ใกล้ชิดกับผุ้ป่วยยืนยัน แม้จะยังไม่มีอาการก็ต้องตรวจ 3.กลุ่มมีประวัติเดินทางไปสถานที่เสี่ยง เช่น ตลาด ชุมชน โรงงาน 4.มีอาชีพหรือกิจกรรมเสี่ยง เช่น กลุ่มคนทำงานในแคมป์ก่อสร้าง โรงงาน คนขับรถ ค้าขายในตลาด พนักงานส่งอาหาร เป็นต้น

“ส่วนหนึ่งของการรายงานผู้เสียชีวิตพบว่า มีมากถึงเกือบ 50% ที่มีการเสียชีวิตหลังทราบผลตรวจน้อยกว่า 6 วัน สะท้อนให้เห็นว่า บางครั้งคนไข้อาจจะไม่ตระหนักว่าตนเองติดเชื้อ กว่าจะรู้ผลก็อาการรุนแรงแล้ว ทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้ยากลำบาก” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

ทั้งนี้ ผลตรวจใน กทม. ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า เป็นบวกถึง 20% จึงขอให้พี่น้องประชาชนที่มีความเสี่ยงถึงแม้ไม่มีอาการก็ต้องตรวจ และทุกคนที่ติดเชื้อจะได้รับการรักษาอย่างปลอดภัย ซึ่งเมื่อรู้ว่าเป็นบวกก็ดำเนินการลงทะเบียน ตามข้อมูลที่แนะนำ หรือติดต่อที่เบอร์ 1330 เบอร์เดียวเท่านั้น จากนั้นจะดำเนินการนำผู้ป่วยเข้าระบบเช่น สีเขียว เหลือง ส้ม แดง

สำหรับในส่วนของผู้ป่วยสีเขียวที่อาการไม่รุนแรงจะเข้าสู่ระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ถ้ามีอาการสีเหลือง ซึ่งจะเป็นศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือมีอาการเพิ่มขึ้นก็จะส่งไปที่ รพ.สนาม หรือโรงพยาบาลหลักต่อไป

ยอดป่วย Home Isolation เกือบแสนราย

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวว่า ตอนนี้ผู้ป่วยใน กทม. ที่เข้าสู่ระบบ Home Isolation หรือการรักษาตัวที่บ้าน ยอดของวันนี้เกือบแสนรายแล้ว และมีศูนย์ที่จับคู่ดูแลผู้ป่วย Home Isolation ใน กทม. มีจำนวน 232 แห่ง ส่วนในชุมชนหรือ Community Isolation ใน กทม. มีทั้งหมด 64 แห่ง มีจำนวนเตียงที่รับได้ 6,958 เตียง มีผู้ป่วยเข้าไปแล้ว 3,015 ราย คิดเป็น 43 %

และยังมี Community Isolation ที่ดำเนินการโดยชุมชน ภาคประชาสังคม อีกกว่า 100 แห่งที่เปิดให้บริการแล้วด้วย โดย กทม. จะเข้าไปช่วยเรื่องการลงทุน ช่วยสนับสนุนเรื่องของยาและอาหารด้วย รวมทั้งส่งทีมไปช่วยสุขาภิบาล

สำหรับ “คลัสเตอร์ใหม่” ในวันนี้ ศบค. รายงานว่า มีจำนวน 8 คลัสเตอร์ ใน 5 จังหวัด ซี่งมีทั้งคลังสินค้า โรงงาน ห้องเย็น บริษัททำกล่องกระดาษ และแพปลา ดังนี้

  • สมุทรปราการ อ.บางพลี โรงงานหล่อโลหะ มีผู้ติดเชื้อ 29 ราย และที่ อ.พระประแดง เป็นบริษัทผลิตพรม พบผู้ติดเชื้อ 12 ราย
  • ชลบุรี อ.ศรีราชา บริษัท ลวดสายไฟ พบผู้ติดเชื้อ 18 ราย และที่ อ.เมืองชลบุรี เป็นโรงงานโลหะ พบผู้ติดเชื้อ 13 ราย
  • สมุทรสาคร อ.เมือง เป็นโรงงานห้องเย็น พบผู้ติดเชื้อ 63 ราย และบริษัททำกล่องกระดาษ พบผู้ติดเชื้อ 45 ราย
  • พระนครศรีอยุธยา อ.วังน้อย เป็นคลังสินค้า พบผู้ติดเชื้อ 19 ราย
  • ภูเก็ต อ.เมือง แพปลา พบผู้ติดเชื้อ 18 ราย

นอกจากนี้ ในส่วนของคลัสเตอร์เดิมและคลัสเตอร์ใหม่ของเมื่อวานนี้ (4 ส.ค.) ก็ยังตรวจพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง (ตารางท้ายข่าว)