รู้จักแอนติบอดี ชนิดโมโนโคลนอล ยารักษาโควิดภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

โควิด
Photo by Gustavo Fring from Pexels (ภาพประกอบข่าวเท่านั้น)

ชวนทำความรู้จัก แอนติบอดี ชนิดโมโนโคลนอล ยารักษาโควิดภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ผลวิจัยพบลดจำนวนไวรัส ลดเสี่ยงเสียชีวิตได้

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย เผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับ Monoclonal antibody หรือแอนติบอดี ชนิดโมโนโคลนอล สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

โดยเป็นข้อมูลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

รู้จัก แอนติบอดี ชนิดโมโนโคลนอล

Monoclonal antibody คือ แอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ใช้รักษาโควิด-19 มีทั้งแบบผสมและไม่ผสม

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติการใช้ยาแอนติบอดีแบบผสมรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ

โดยยาแอนติบอดีแบบผสม เป็นแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอล 2 ชนิด คือ แอนติบอดีที่สกัดจากหนูซึ่งถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีระบบภูมิคุ้มกันอย่างมนุษย์ และแอนติบอดีที่สกัดจากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19

ประสิทธิภาพแอนติบอดี ชนิดโมโนโคลนอล

เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง และยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกายผู้ป่วยลงได้
ผลการวิจัยพบว่า ช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ป่วย ลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้ต้องให้เร็วตั้งแต่ระยะแรกในการป่วย

แอนติบอดี ชนิดโมโนโคลนอล จะถูกนำมาใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะมีอาการรุนแรง ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังไม่มีผลการศึกษาในมนุษย์ถึงการรักษาการติดเชื้อจากสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น เบต้า อัลฟ่า แกมม่า และเดลต้า


Monoclonal antibody