อัพเดตชง ศบค. เปิดนั่งกินในร้าน เสริมสวย ร้านกลางแจ้ง เฟสแรก 1 ก.ย.นี้

ห้ามกินในร้านอาหาร
Romeo GACAD / AFP

สธ.รับหลักการภาคธุรกิจขอผ่อนคลาย เปิดห้าง ประเดิมนั่งกินในร้านก่อน 50% เสริมสวย นวด ร้านกลางแจ้ง ออกกำลังกาย ธุรกิจไอทีอุปกรณ์สื่อสารและไฟฟ้า ธุรกิจบริการ ชง ศบค. 27 ส.ค. ลุ้นปลดล็อกเปิดเฟสแรก 1 ก.ย.นี้ ย้ำมาตรการป้องกันเข้มงวด ทั้งตรวจคัดกรอง ตรวจชุด ATK ฉีดวัคซีนครบ

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารระดับสูงของ สธ. ร่วมหารือกับตัวแทน 9 สมาคมภาคธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจร้านอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมคลินิกเอกชน สมาคมผู้ประกอบการสปาไทย กลุ่มสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมสนามกอล์ฟไทย และสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย และสมาคมภัตตาคารไทย ที่เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอผ่อนคลายมาตรการให้ภาคเอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้ ภายใต้มาตรการควบคุมการป้องกันโรคโควิด-19 ของ สธ.

นายอนุทินกล่าวภายหลังการประชุมซึ่งใช้เวลาหารือนานกว่า 3 ชั่วโมงว่า พร้อมรับฟังปัญหาและหารือกัน เพื่อหาทางออกให้ทุกฝ่ายให้ผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปได้ด้วยดี ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามที่จะหาทางออกให้กับผู้ประกอบการธุรกิจทุกกลุ่มอย่างเต็มที่ แต่ก็ยอมรับว่า หลายอย่างอยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น มีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดเข้ามา จึงต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดีที่เข้าใจ ถึงแม้ว่าจะประสบความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ

เอกชนเสนอรัฐ ชงเปิดคลายล็อก 3 ระยะ

ทางด้านนางศุภานวิต เอี่ยมสกุลรัตน์ กรรมการสมาคมศูนย์การค้าไทย กล่าวว่า แนวทางการขอเปิดธุรกิจที่สมาคมศูนย์การค้าเสนอรัฐบาลแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 คือ วันที่ 1 ก.ย. ระยะที่ 2 วันที่ 15 ก.ย. และระยะที่ 3 วันที่ 30 ก.ย. 2564

โดยแผนระยะที่ 1 ได้แก่ เปิดธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มนั่งรับประทานที่ร้าน ร้อยละ 50 และเปิดธุรกิจก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน คลินิกทันตกรรม ร้านนวด สปาเฉพาะนวดเท้า คลินิกเวชกรรม ธุรกิจเสริมสวยงดเว้นบริเวณใบหน้า ธุรกิจไอทีอุปกรณ์สื่อสารและไฟฟ้า อาคารสำนักงาน ธุรกิจบริการ เช่น ล้างรถ ซ่อมกุญแจ ไปรษณีย์ เบ็ดเตล็ด เช่น ร้านตัดแว่น สนามกอล์ฟ และกีฬากลางแจ้ง

ส่วนระยะที่ 2 เป็นการเปิดธุรกิจร้านอาหารแบบนั่งรับประทานที่ร้าน ร้อยละ 75 รวมถึงธุรกิจเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และสถาบันการศึกษา

และระยะที่ 3 คือ ธุรกิจร้านอาหารแบบนั่งรับประทานเต็มรูปแบบ 100% ธุรกิจประกอบการสุขภาพและสปา เครื่องเล่นเด็ก และผู้ใหญ่ ธุรกิจฟิตเนส และออกกำลำลังกายในร่ม ธุรกิจโรงภาพยนตร์ และห้องจัดเลี้ยง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามจะต้องมีมาตรการปฏิบัติเพื่อรองรับการดำเนินการอย่างปลอดภัย เช่น การกำหนดผู้มาใช้บริการต้องได้รับการฉีดวัคซีน และมีการทำสวอบเทสต์

ทั้งนี้ ขอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาปลดล็อก และระบุเป็นแผนและแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัว เตรียมความพร้อม และการสร้างความเชื่อมั่นทั้งภาครัฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชนโดยรวมด้วย

สธ.รับหลักการ ชง ศบค. 27 ส.ค.นี้

ทางด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.รับในหลักการ โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรคดำเนินการในรายละเอียด ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ศบค. ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ เพื่อขอความเห็นชอบในมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าเป็นไปได้ที่จะให้ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานในร้านได้ประมาณร้อยละ 50 รวมถึงสถานประกอบการกลางแจ้ง สถานออกกำลังกายต่าง ๆ ก็อาจจะได้มีรับการผ่อนคลายให้ต่อไป

ทั้งนี้ สธ.อยากจะให้มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อ จึงได้เสนอมาตรการให้ผู้ประกอบการทั้งหลายจัดระบบป้องกันการติดเชื้อ ขอให้พื้นที่บริการทั้งหมดต้องปลอดโควิด-19 (COVID free) ช่วยกันคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปในห้างสรรพสินค้า ในเข้าไปในสถานประกอบการแต่ละแห่งอย่างเข้มงวด และมีการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK เป็นระยะ ๆ ด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของบุคลากรจะต้องจัดให้มีการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน 2 เข็ม ซึ่งทราบว่าบางส่วนมีการฉีดไปแล้ว ส่วนที่เหลือมีจำนวนไม่มาก สธ.จะดูแลให้

ทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการสำหรับสถานประกอบการในระบบปิด ส่วนระบบเปิดน่าจะผ่อนปรนได้มากกว่านี้ ซึ่งในรายละเอียด กรมควบคุมโรคจะมีการพิจารณาอีกครั้ง

ชี้แนวโน้มป่วยลด แต่ยอดตายยังสูงอีกระยะ

ด้านนายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 17,165 ราย ถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ที่อยู่ประมาณหลัก 2 หมื่นรายตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม มีผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น 20,059 ราย ถือว่าสูงกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงจะยังคงระดับสูงต่อไปสักระยะ จากการสะสมของผู้ป่วยที่ผ่านมา

โดยข้อมูลวันที่ 23 สิงหาคม 2564 มีผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,095 ราย โดยผู้ป่วยอาการรุนแรงใน กทม.และปริมณฑลยังมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ในต่างจังหวัดมีทิศทางลดลง แม้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของต่างจังหวัดจะเจอในสัดส่วนสูงกว่า ถือว่าการเข้าถึงการดูแลมีประสิทธิภาพ ทำให้ป้องกันอาการป่วยรุนแรงได้อย่างดี

“การที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงถือเป็นทิศทางและสัญญาณที่ดี แต่ยังต้องช่วยกันป้องกันตนเองอย่างเต็มที่ตลอดเวลา ถ้าทุกคนทำได้เต็มที่ มีความเป็นไปได้ที่จะมีการผ่อนคลายและกลับมาใช้ชีวิตปกติแบบ New Normal มากขึ้น” นายแพทย์เฉวตสรรกล่าว

หอการค้าเกาะติดแผนกระจายวัคซีน

ทางนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่แอสตร้าเซนเนก้าได้ยืนยันว่าจะส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทยให้ครบ 61 ล้านโดส ภายในเดือนธันวาคมนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและส่งจะผลดีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในประเทศไทย

เพราะภายในสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะมีจำนวนวัคซีนทุกประเภทรวมกันแล้วเกินกว่า 120 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรกว่า 60 ล้านคน จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในขณะที่ภาคธุรกิจก็สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม จำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาเพิ่มเติมมากขึ้นนั้น จำเป็นที่จะต้องปรับแผนการกระจายวัคซีนให้สอดคล้องตามไปด้วย ซึ่งหอการค้าไทยยืนยันว่า ศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 25 ศูนย์ของภาคเอกชน ยังสามารถรองรับปริมาณผู้เข้ารับบริการได้มากถึงวันละ 80,000 คน

ทั้งนี้หอการค้าไทยจะมีการติดตามว่า วัคซีนจะเข้ามาถึงประเทศไทยในช่วงเวลาใด จำนวนวัคซีน และจะกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ เป็นอย่างไร เพื่อที่ภาคเอกชนจะได้มีการวางแผนการดำเนินงานล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป