ไทยพบเดลต้า 4 สายพันธุ์ย่อย ยันไม่รุนแรง-ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่

โควิด

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์-ศูนย์จีโนมรามาฯ พบเดลต้ากลายพันธุ์ อีก 4 สายพันธุ์ย่อย ยันไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์ไทย ชี้ยังไม่พบความรุนแรง คาดถอดรหัสพันธุกรรมอีก 6,000 ตัวอย่างเพิ่มภายในสิ้นปี’64 พร้อมระบุยังไม่พบเดลต้าพลัสที่ระบาดในอินเดีย ที่ประเทศไทย

วันที่ 24 สิงหาคม 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงกรณีการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์โควิด-19 และสายพันธุ์ย่อยของเดลต้าในไทย โดยระบุว่า กว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ถอดรหัสพันธุกรรมโควิดไปแล้วราว 2,295 ตัวอย่าง เป็นสายพันธุ์เดลต้าถึง 2,132 ตัวอย่าง สายพันธุ์อัลฟ่า 134 ราย สายพันธุ์เบต้า 29 ราย ซึ่งยังอยู่โซนภาคใต้ ในเขตสุขภาพที่ 11 และ 12 ได้แก่ นราธิวาส 15 ราย กระบี่ 5 ราย ภูเก็ต 2 ราย ปัตตานี 4 ราย และสงขลา 3 ราย

จึงกล่าวได้ว่า ขณะนี้เชื้อโควิดที่ระบาดไปทั่วประเทศเป็นสายพันธุ์เดลต้าสูงถึง 92.9% พบแล้วในทุกจังหวัด ถือเป็นสายพันธุ์หลักของไทยอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสายพันธุ์เดลต้าที่พบคือ B.1.617.2 แต่เมื่อมีการระบาดเพิ่มขึ้นจึงมีสายพันธุ์ย่อยมากขึ้น ซึ่งได้มีการติดตามอาการผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยเดลต้า แต่เบื้องต้นยังไม่พบข้อแตกต่างในด้านอาการหรือความรุนแรง

“สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่พบครั้งนี้ต้องเรียนก่อนว่า ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย ยังมีอีกหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ สเปน เดนมาร์ก มีรายงานเช่นกัน ดังนั้น อย่าไปสรุปว่าเป็นสายพันธุ์ของไทย แต่เราต้องจับตามองว่าสายพันธุ์นี้จะมีผลต่อการควบคุมโรคหรือไม่ ซึ่งมีการติดตามต่อเนื่อง”

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการที่หลากหลายประเทศมีการถอดรหัสพันธุ์กรรมของโควิด-19 ทั้งจีโนม (whole genome sequence) อย่างต่อเนื่องทุกอาทิตย์ หรือทุกเดือน และอัพโหลดขึ้นไว้บนระบบฐานข้อมูลจีโนมโควิดโลก เรียกว่า GISAID

โดยประเทศไทยก็มีการจัดทำข้อมูลดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมี 3 ล้านตัวอย่างทั่วโลกช่วยกันส่งข้อมูลเข้าไป และจะมีการจัดหมวดหมู่แต่ละสายพันธุ์ และประมวลผลในรูปแบบของแผนภูมิต้นไม้ (Phylogenetic tree) คือแผนภูมิที่แสดงถึงสายวิวัฒนาการจากลำต้น (สายพันธุ์ดั้งเดิม) ทั้งอัลฟ่า (B.1.17) เดลต้า (B.1.617.2) แกมม่า เบต้า (B.1.351) ซึ่งรูปแบบนี้จะทำให้เห็นถึงการกลายพันธุ์ได้ด้วย

จากการเก็บข้อมูลพบว่า สายพันธุ์เดลต้า มีการกลายพันธุ์หลุดออกมาถึง 60 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับอู่ฮั่นเดิมจากจีโนมทั้งหมด 3 หมื่น ซึ่งการมีกลายพันธุ์ออกไปจำนวนมาก บ่งชี้ว่ามีการแพร่ระหว่างคนสู่คนมาก 

อย่างไรก็ตาม กรณีสายพันธุ์เดลต้า จะมีตัวหลักที่เรียกว่า B.1.617.2 ซึ่งพบว่ามีการกระจายตัวแตกเป็นสายพันธุ์ย่อยถึง 27 สายพันธุ์ย่อย มีตั้งแต่ AY.1 ไปจนถึง AY.22 ข้อมูลนี้มาจากระบบ ไม่ใช่นักวิจัยทำกันเอง 

เมื่อดูฐานข้อมูลของประเทศไทยจะพบว่า อัลฟ่า 11% เบต้า 14% เดลต้า 71% และสายพันธุ์ย่อยเดลต้า ดังนี้ AY.4 หรือ B.1.617.2.4 พบ 3% ในปทุมธานี 4 คน , AY.6 หรือ B.1.617.2.6 พบ 1% มี 1 คน , AY.10 หรือ B.1.617.2.10 พบ 1% หรือ 1 คนในกทม. และ AY.12 พบ 1 คน เป็นต้น 

ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีการเก็บทั้งหมดจะรายงานว่า พบที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ จำนวนเท่าไหร่ เพื่อติดตามการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากนี้ต้องติดตาม AY ต่าง ๆ มากขึ้น อย่างสายพันธุ์ย่อย AY.4 พบมากแถวปทุมธานี ส่วน AY.12 พบย่านพญาไท ที่เราพบบริเวณดังกล่าวเพราะมีการสุ่มบริเวณนั้น

ส่วนที่สงสัยว่าสายพันธุ์ย่อยมาจากไหนนั้น หากพิจารณาสายพันธุ์ย่อยที่พบไม่ได้บ่งชี้ว่ามาจากสถานกักกันโรค หรือมาจากสนามบิน แต่กลับบ่งชี้ว่าเป็นลูกหลานของสายพันธุ์หลักเดลต้าที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี สายพันธุ์ย่อยดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลมารองรับว่าดื้อต่อวัคซีนหรือไม่ รวมไปถึงอาการต่าง ๆ

ด้าน นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเสริมว่า จากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อเดลต้า ทำให้ทราบว่ามีสายพันธุ์ย่อย AY.1 ไปจนถึง .25

โดยเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าทุกตัวล้วนมีคุณสมบัติโดดเด่นด้านการแพร่เชื้อเร็ว และก่ออาการรุนแรงเช่นเดียวกันทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสที่พบในประเทศอินเดีย หรือ K417N ยังไม่พบในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมากรมวิทย์ ได้ถอดรหัสจีโนมของเชื้อไวรัสโดยใช้เวลา 3-5 วัน ทำไปแล้วกว่า 1,955 ตัวอย่าง ทั้งนี้ เราจะติดตามและถอดรหัสพันธุกรรมอีก 6,000 ตัวอย่างก่อนสิ้นปี 2564 นี้

ส่วนอาการผู้ป่วยที่ติดเชื้อเดลต้าสายพันธุ์ย่อยในไทยยังมีจำนวนไม่มาก จึงยังไม่พบอาการที่แตกต่างจากสายพันธุ์หลัก แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากส่วนใหญ่สายพันธุ์ย่อยมักเจอในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างหนัก 

สำหรับข้อมูลสายพันธุ์ย่อยเดลต้าในต่างประเทศ ไม่ปรากฏข้อมูลการแพร่ระบาดที่เร็วขึ้น หรืออัตราการตายที่สูงขึ้น