ศบค. พบภาคใต้ติดเชื้อพุ่ง 1,990 คน 12 จังหวัดฉีดวัคซีนทะลุ 50%

โควิด ปัตตานี
FILE PHOTO : Tuwaedaniya MERINGING / AFP

ศบค. รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ เพิ่มขึ้น 10,828 ราย ตายเพิ่ม 77 คน ภาคใต้ติดเชื้อพุ่ง 1,990 คน คิดเป็น 19% ขณะที่ยอดการเข้าการรับวัคซีนแล้วกว่า 54 ล้านโดส  พบ 12 จังหวัด ฉีดวัคซีนทะลุ 50% 

วันที่ 3 ตุลาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวม 10,828 รายจำแนกเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 9,940 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 770 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 104 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 14 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,608,569 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) ผู้ป่วยกำลังรักษา 112,251 ราย หายป่วยกลับบ้าน 11,894 ราย หายป่วยสะสม 1,204,428 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) เสียชีวิต 77 ราย

ป่วยอาการหนัก 3 พันราย ใส่เครื่องช่วย 712 ราย

วันนี้มีผู้ป่วยอยู่ในระหว่างรักษาตัว 112,251 ราย แบ่งเป็น รักษาในโรงพยาบาล 38,664 ราย และโรงพยาบาลสนามและอื่น ๆ 73,587 ราย อาการหนัก 3,074 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 712 ราย และเสียชีวิต 77 ราย ขณะที่ จำนวนหายป่วยกลับบ้าน 11,894 ราย หายป่วยสะสม 1,480,741 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) และเสียชีวิต 77 ราย เสียชีวิตสะสม 16,920 คน

12 จังหวัดฉีดวัคซีนทะลุ 50%

ขณะที่ผู้ขอรับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 89,620 รายเข็มที่ 2 จำนวน 176,074 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 22,322 ราย และเข็มที่ 4 จำนวน 16 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – วันที่ 2 ตุลาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 54,869,411 โดส

ทั้งนี้ หากจำแนกเป็นรายพื้นที่ พบว่าจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรตั้งแต่ 40-49% ทั้งสิ้น 12 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม, ยะลา, สงขลา, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, ระยอง, สิงห์บุรี, สระบุรี, บุรีรัมย์, สุราษฎร์ธานี, ตรัง และตราด

ส่วนจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากกว่า 50% ทั้งสิ้น 12 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, นนทบุรี, อยุธยา, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, นครนายก, พังงา, ภูเก็ตและระนอง

ขณะที่ อัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 50-69% ทั้งสิ้น 46 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรปราการ, นนทบุรี, นครปฐม, ยะลา, สงขลา, นราธิวาส, นครนายก, อยุธยา, สิงห์บุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชลบุรี, ปราจีนบุรี, ระยอง, เพชรบูรณ์, เพชรบุรี, นครราชสีมา, เชียงราย, น่าน, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, พิจิตร, จันทบุรี, ตราด, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, ยโสธร, อำนาจเจริญ, กระบี่, ชุมพร, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ตรัง, พัทลุง, สตูล, เชียงใหม่, จันทบุรี, อุดรธานี ศรีสะเกษ, อุบลราชธานีสุรินทร์, นครสวรรค์, กำแพงเพชร และขอนแก่น

ส่วนที่จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุได้มากกว่า 70% มี 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, สมุทรสาคร, ฉะเชิงเทรา, พังงา, ภูเก็ต, และระนอง

ไทยอันดับ 27 ของโลก

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00 น  มียอดผู้ติดเชื้อรวม 235,417,062 ราย อาการรุนแรง 87,544 ราย รักษาหายแล้ว 212,226,816 ราย และเสียชีวิต 4,811,567 ราย

5 อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลก

  1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 44,490,897 ราย : ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 46,482  ราย เสียชีวิต 690 คน
  2. อินเดีย จำนวน 33,812,559 ราย : ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 23,161 ราย เสียชีวิต 241 คน
  3. บราซิล จำนวน 21,459,117 ราย : ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,466 เสียชีวิต 121 คน
  4. สหราชอาณาจักร จำนวน 7,197,662 ราย : ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 29,547 คน เสียชีวิต 156 คน
  5. รัสเซีย จำนวน 7,560,767 ราย : ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,219 ผู้เสียชีวิต 886 คน

ขณะที่ 20 อันดับแรกยังเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปอเมริกาและยุโรป มีประเทศในทวีปเอเชีย 4 ประเทศ คือ อินเดีย อันดับ 2 ติดเชื้อสะสม จำนวน 33,812,559 ราย เพื่อนบ้านในอาเซียนอีก 3 ประเทศ คือ ประเทศอินโดนีเซีย อยู่อันดับ 14 มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 4,218,142 ราย ประเทศฟิลิปปินส์ อันดับ 18 มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 2,580,173 ราย และประเทศมาเลเซีย อันดับ 20 มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 2,268,499 ราย

ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,637,432 ราย และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 10,828 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 77 คน

นทท. ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อีก 3 ราย

ส่วนรายละเอียดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 14 ราย จากประเทศกัมพูชา 8 ราย อิตาลี, สหรัฐอมเริกา, ฝรั่งเศส,กาตาร์, มาเลเซีย, เมียนมา ประเทศละ 1 ราย ซึ่งผู้ติดจากประเทศอิตาลี, สหรัฐอมเริกา, ฝรั่งเศส เป็นนักท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 3 ราย ขณะนี้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต

10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด

    1. จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,211 ราย
    2. จังหวัดยะลา จำนวน 783 ราย
    3. จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 760 ราย
    4. จังหวัดชลบุรี จำนวน 643 ราย
    5. จังหวัดระยอง จำนวน 533 ราย
    6. จังหวัดนราธิวาส จำนวน 442 ราย
    7. จังหวัดปัตตานี จำนวน 412 ราย
    8. จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 378 ราย
    9. จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 362 ราย
    10. จังหวัดสงขลา จำนวน 353 ราย

ทั้งนี้จากรายงานการติดเชื้อโควิดในวันนี้ จะพบว่าทิศทางผู้ป่วยโควิดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเปรียบเทียบของจำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดภาคใต้ พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีถึง 5 ใน 10 จังหวัด ที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดประจำวัน ซึ่งในวันนี้พบอีกจำนวน 1,990 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 ของประเทศ หากย้อนข้อมูลจะพบว่า (2 ต.ค.) มีจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวน 1,978 คิดเป็นร้อยละ 18 และ (1 ต.ค.) มีจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวน 1,917 ร้อยละ 17

ก่อนหน้านี้  แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้แสดงความกังวลถึงจำนวนผู้ติดเชื้อจากจังหวัดภาคใต้ในแถลงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (1 ต.ค.) ว่าศบค. มีความเป็นห่วง “กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้” จะเห็นได้ชัดว่าการติดเชื้อจังหวัดภาคใต้ 4 จังหวัด เพิ่มขึ้นมา 1,917 ราย ถ้าดูแล้วนอกจากผู้ติดเชื้อเพิ่ม ผู้ที่อาการป่วยหนักและเสียชีวิต พบว่าในส่วนของภาคใต้เพิ่มสูงขึ้น

แพทย์หญิงอภิสมัยได้เน้นย้ำถึงการเฝ้าระวังในภาคใต้ และเน้นย้ำไปที่ยังกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ ให้ระมัดระวังและเข้มงวดมาตรการสาธารณสุขให้มากขึ้นด้วย

“มีประชาชนรายงานมาที่ ศบค.ว่า บางครั้งหลายจังหวัดในภาคใต้ ประชาชนยังละเลยไม่สวมหน้ากากอนามัยในบางพื้นที่ แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็ยังพบการติดเชื้อ รวมทั้งการเปิดเกินเวลาของร้านอาหารและมีการบริโภคแอลกอฮอล์ ฝากไปยังหน่วยงานในพื้นที่ช่วยกำชับมาตรการด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

รายละเอียดผู้เสียชีวิต

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เสียชีวิต ของประเทศไทยในวันนี้ เป็นชาย 42 ราย หญิง 35 ราย สัญชาติไทย 75 ราย และสัญชาติเมียนมาอีก 2 ราย แบ่งเป็นอายุ 60 ปีขึ้นไป 62 ราย อายุน้อยกว่า 60 ปี  มีโรคเรื้อรัง 8 ราย และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 7 ราย

ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค จากโรคความดันโลหิตสูง 30 ราย , โรคเบาหวาน 24 ราย,โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ 16 ราย, โรคอ้วน 15 ราย, โรคไต 10 ราย, และผู้ป่วยติดเตียง 2 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อยังมาจากการติดเชื้อในพื้นที่ 176 ราย คนรู้จัก 39 ราย, ครอบครัว 3 ราย, อาศัย 34 ราย