บัตรเครดิต-เดบิต ทำอย่างไรให้ปลอดภัยจากการถูกแฮก ตำรวจแนะวิธี

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แนะวิธีป้องกันบัตรเครดิต-เดบิตถูกแฮกไม่รู้ตัว

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกระแสโซเชียลกล่าวถึงบัญชีธนาคารหลายแห่งถูกแฮกพร้อมกันเป็นจำนวนมากในช่วงวันที่ 1-2 ตุลาคมที่ผ่านมา ตามที่ได้เคยรายงานไปแล้วนั้น

ต่อมา มติชน รายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น.ที่โถงชั้นล่างกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง

ได้ร่วมเเถลงกรณีมีผู้เสียหายถูกหักเงินจากบัญชีธนาคารหรือบัตรเดบิตจำนวนหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุว่าเบื้องต้นกรณีดังกล่าวสันนิษฐานว่าเกิดจากการที่คนร้ายได้ข้อมูลเลขด้านหน้าบัตร และเลข 3 ตัวด้านหลังบัตร จึงสามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ที่มีมูลค่าเล็กน้อยได้โดยไม่จำเป็นต้องนำรหัส OTP มากรอกยืนยันการทำธุรกรรมดังกล่าว

หรือในอีกกรณีคือ การหลอกลวงให้กรอกข้อมูลบัตร ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลบัตรอิเล็กทรอนิกส์จากการหลอกลวงมาในเอสเอ็มเอส, อีเมล์ หรือมาจากการเข้าเว็บไซต์ที่คนร้ายปลอมขึ้นต่าง ๆ เช่น กรณีหลอกให้กรอกข้อมูลบัตรเพื่อจ่ายเงินค่าภาษีของเว็บไซต์ไปรษณีย์ไทยปลอม

โดย บช.สอท.ได้ขอประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนให้ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการผูกบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตไว้กับแอปพลิเคชันต่าง ๆ หรือการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือผ่านทางออนไลน์ที่ต้องแจ้งข้อมูลด้านหน้าบัตรและหลังบัตร หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่แนบมาทางอีเมล์ ข้อความเอสเอ็มเอส หรือสื่อสังคมออนไลน์

โดยหากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ขอให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์นั้นด้วยตัวเองเพื่อป้องกันเข้าไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีความแนบเนียน ควรนำแผ่นสติ๊กเกอร์ทึบแสงปิดรหัสหลังบัตร หรือจดจำรหัสนั้นเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน ป้องกันมิจฉาชีพมิให้แอบถ่ายรูปด้านหน้าและหลังบัตรเพื่อนำไปใช้จ่ายในโลกออนไลน์

ทั้งนี้ บช.สอท.มุ่งเน้นที่จะสนองนโยบายของรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิด การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อและถูกซ้ำเติมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนและการอำนวยความยุติธรรมของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ

ด้าน พล.ต.ต.นิเวศน์กล่าวว่า ปัญหาเเละวิธีการเเก้ไขตลอดจนวิธีการที่จะหลีกเลี่ยง ในส่วนนี้ที่ต้องพยายามเน้นยำคือเรื่องของรูปเเบบการกระทำความผิดเเบบนี้สาเหตุหลักคือ คนร้ายได้ตัวหมายเลขหน้าบัตรกับเลข 3 ตัวข้างหลังบัตร ตลอดจนวันบัตรหมดอายุไป ส่วนวิธีการที่มิจฉาชีพได้ข้อมูลของผู้เสียหายไปก็จะมี 2-3 วิธีด้วยกัน คือ

วิธีเเรก ผู้เสียหายได้ไปผูกข้อมูลบัตรตัวเองไว้กับเเอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้ได้เน้นยํ้าว่าเเอปพลิเคชั่นอะไรที่ไม่จำเป็นไม่ควรเอาข้อมูลไปผูกไว้

วิธีการที่สอง การหลอกให้กรอกข้อมูล ซึ่งก็จะมาในรูปแบบเอสเอ็มเอส, อีเมล์ หรือมาจากการเข้าเว็บไซต์ที่คนร้ายปลอมขึ้นต่าง ๆ เช่น กรณีหลอกให้กรอกข้อมูลบัตรเพื่อจ่ายเงินค่าภาษีของเว็บไซต์ไปรษณีย์ไทยปลอมดังที่เกิดขึ้นเเล้ว

และวิธีการสุดท้าย คือการที่ผู้เสียหายเวลาใช้จ่ายบัตรอาจเอาบัตรไปให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเอาไปรูดบัตรเเล้วพนักงานได้เอาข้อมูลไปขายให้มิจฉาชีพ จึงฝากถึงพี่น้องประชาชนว่าพยายามปกป้องข้อมูลบัตรพวกนี้เอาไว้โดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้งานบัตรโดยที่จะต้องเเสดงเลขบัตรต่าง ๆ ต่อร้านค้าที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งควรใช้เป็นช่องทางที่ปลอดภัยเช่น e-Banking จะดีที่สุด เเล้วหากเกิดกิจกรรมการเงินที่ไม่พึ่งประสงค์เเละผิดสังเกตก็ควรไปเช็กกับทางธนาคารให้เร็วที่สุด