ศบค.จับตาผลบวก ATK จว.นำร่องท่องเที่ยวพุ่ง พบคลัสเตอร์งานศพทั่ว ปท.

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์

ศบค.เผยผลตรวจ ATK จังหวัดภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี เพิ่มมากสุด จับตาจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน ทั้งกระบี่ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ชี้คลัสเตอร์ใหม่ผุดเพียบ  โดยเฉพาะเชียงใหม่กระจายไกลถึงแม่ฮ่องสอน ส่วนงานศพพบกระจายทั่วประเทศ ระดมส่งสรรพกำลังและวัคซีนลงพื้นที่แก้ปัญหา

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ข้อมูล ณ วันพุธที่ 20 ตุลาคม 2564  เวลา 12.30 น. สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 8,918 ราย หายป่วยแล้ว 1,662,433 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,782,989 ราย และเสียชีวิตสะสม 18,392 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 พบผู้หายป่วยแล้ว 1,689,859 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,811,852 ราย และเสียชีวิตสะสม 18,486 ราย

ยอดผู้ป่วยปอดอักเสบ-ใส่ท่อช่วยหายใจลด

วันนี้มีผู้ป่วยยังรักษาตัวอยู่ 103,507 ราย อยู่ใน รพ. 41,138 ราย รพ.สนามและอื่น ๆ 62,369 ราย และมีผู้ป่วยอาการหนัก 2,728 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 619 ราย โดยผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจลดลงมาจากก่อนหน้านี้ค่อนข้ามาก

ส่วนผู้ขอรับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 474,097 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 485,263 ราย  และเข็มที่ 3 จำนวน 35,421 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-19 ตุลาคม 2564 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 67,587,102 โดส

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันพุธที่ 20 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 242,331,811 ราย อาการรุนแรง 78,093 ราย รักษาหายแล้ว 219,675,340 ราย เสียชีวิต 4,928,899 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด

  • 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 45,996,507 ราย
  • 2.อินเดีย จำนวน 34,108,323 ราย
  • 3.บราซิล จำนวน 21,664,879 ราย
  • 4.สหราชอาณาจักร จำนวน 8,541,192 ราย
  • 5.รัสเซีย 󠁧󠁢󠁥󠁮󠁧󠁿 จำนวน 8,060,752 ราย
  • ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 24 จำนวน 1,811,852 ราย
ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตวันนี้มีจำนวน 79 คน ซึ่งมีแนวโน้มลดลงมาเรื่อย ๆ โดยวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่ 312 คน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 และผู้เสียชีวิตในวันนี้เป็นชาย 40 คน หญิง 39 คน กว่า 90% เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัวเรื้อรัง และมีเด็ก 1 เดือนเสียชีวิต 1 ราย อยู่ที่ จ.ตาก ซึ่งไม่มีโรคประจำตัว

ภาคใต้เสียชีวิตมากสุด

“เมื่อมาดูรายละเอียดผู้เสียชีวิตในวันนี้พบว่ามาจากภาคใต้มากที่สุด โดยมาจากปัตตานี 8 ราย ยะลา 4 ราย นราธิวาส 3 ราย พัทลุง 2 ราย สงขลา 1 ราย ชุมพร 1 ราย และสุราษฎร์ธานี 1 ราย” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวและว่า

นอกจากนี้เมื่อดูแนวโน้มผู้ติดเชื้อทั่วประเทศรายใหม่ จะเห็นภาพรวมของประเทศที่อยู่ในพื้นที่ 67 จังหวัด กับกรุงเทพฯและปริมณฑลมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่กราฟของจังหวัดภาคใต้ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังคงเฝ้าระวังอยู่

ผล ATK หลายจังหวัดพุ่ง รวมจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว

ส่วนผลรวมการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ทั่วประเทศวันนี้อยู่ที่ 5.4% แต่เมื่อแยกตามเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขจะพบว่า จังหวัดที่พบมากอยู่ในเขตที่ 12 หรือในภาคใต้ โดยพบว่า ผลการตรวจ ATK ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน พบว่าอยู่ที่ จ.นราธิวาสมากที่สุด 28.3% รองลงมาเป็นปัตตานี 20.2% ยะลา 19.5% สงขลา 10.1%

“นอกจากนี้ยังมีจังหวัดที่ต้องจับตามองจากผลตรวจ ATK เป็นบวก ที่ค่อย ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 25.1% และยังมีที่กระบี่ 10.3% ซึ่งอยู่ในเขตเดียวกันกับนครศรีธรรมราช ซึ่งก็น่าเป็นห่วง รวมถึงยังมีจังหวัดอื่น ๆ ที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่ เชียงใหม่มีจำนวน 11.4% เชียงราย 20.8% จ.ตาก ผลเฉลี่ยอยู่ที่ 7.1%”

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวต่อว่า ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ยังมี 5 จังหวัดของภาคใต้อยู่ใน 10 จังหวัดท็อป 10 เช่นเดิม แต่นราธิวาสกับนครศรีธรรมราชสถิติเริ่มลดลง มาอยู่ในอันดับที่ 8 และ 9 ขณะที่เชียงใหม่ที่เคยอยู่อันดับ 10 วันนี้อันดับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7 เพราะฉะนั้นเราต้องมีการเฝ้าระวังในจังหวัดอื่น ๆ ที่จะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยว

คลัสเตอร์ใหม่ผุดเพียบ งานศพกระจายทั่วประเทศ

ส่วนกลุ่มคลัสเตอร์ที่พบใหม่ เช่นที่เชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการติดเชื้อที่ตลาดหรือกาดเมืองใหม่ ซึ่งก็ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ และมีการเชื่อมโยงไปถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน

นอกเหนือจากคลัสเตอร์ตลาดแล้วยังมีคลัสเตอร์อื่น ๆ ในเชียงใหม่อีก เช่น แรงงานไม้ตัดยาง ร้านอาหาร บ้านพักนักเรียนประจำ ร้านค้า ดังนั้นจึงขอให้จังหวัดเชียงใหม่ได้เข้มงวดเรื่องการใช้ชีวิตและปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดด้วย

“นอกจากนี้ที่พูดอยู่ทุกครั้งคือคลัสเตอร์งานศพที่พบกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งวันนี้ที่มีรายงานเข้ามามีที่เลย อุดรธานี นครศรีธรรมราช ขอนแก่น ซึ่งขอเน้นย้ำเรื่องการกินอาหาร ถ้าเป็นไปได้ขอให้รับอาหารนำกลับไปรับประทานที่บ้าน”

เร่งฉีดโควิดก่อนเปิดประเทศ

“ผลการฉีดวัคซีนที่รายงานเข้ามาในวันนี้เพิ่มขึ้น 994,781โดส คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกคิดเป็น 53.6% ของจำนวนประชากรแล้ว ส่วนเข็มที่ 2 อยู่ที่ 37.4% ของจำนวนประชากร ส่วนเข็มที่ 3 คิดเป็น 2.8% ของจำนวนประชากร” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวและว่า

สำหรับเป้าหมายการฉีดวัคซีนในเดือนตุลาคมนี้ ทุกจังหวัดจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ในระดับจังหวัด และอย่างน้อยร้อยละ 70 ในหนึ่งพื้นที่ (COVID Free Area) ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ  ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ต้องให้ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80

โฟกัสเป้าหมายจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว

แพทย์หญิงสุมนียังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับการเปิดประเทศในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว 15 จังหวัด โดยระยะนำร่อง (1-31 ตุลาคม 2564 ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์) และระยะที่ 2 (1-30 พ.ย.) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบฯ เพชรบุรี ชลบุรี ระนอง เชียงใหม่ เลย บุรีรัมย์ หนองคาย อุดรธานี ระยอง ตราด

“กลุ่มสำคัญในช่วงนี้ได้แก่กลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี เพราะใกล้จะเปิดเทอมแล้ว ตอนนี้ที่รายงานมามี 1.3 ล้านโดส หรือประมาณ 1 ใน 4 จากจำนวนเป้าหมาย 4.5 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีการกระจายวัคซีนจากส่วนกลาง 4.5 ล้านโดสลงไปในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศแล้ว ขอให้ผู้ปกครองติดตามข่าวว่ามีการนัดให้บุตรหลานไปฉีดวันไหนด้วย รวมถึงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีการส่งสรรพกำลัง และวัคซีนลงไปในพื้นที่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ครอบคลุมประชากรได้ตามเป้าหมาย”

ส่วนพื้นที่จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว 15 จังหวัดที่ได้รับวัคซีนครอบคลุมประชากร 40-49% มีเลย หนองคาย อุดรธานี จังหวัดมากกว่า 50% ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบฯ เพชรบุรี ชลบุรี ระนอง เชียงใหม่ ระยอง และตราด และมีอีกหลายจังหวัดที่ฉีดครอบคลุมประชากรผู้สูงอายุเกินกว่า 50-70%

นอกจากนี้ทางส่วนกลางยังมีการส่งวัคซีนไปเพิ่มเติมในจังหวัดนำร่องอีก 7 แสนโดสด้วย จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวในจังหวัดสีฟ้าได้เข้ามาฉีดวัคซีนกันให้มาก ๆ ด้วย

3 ข้อหลักแผนเปิดประเทศ

แพทย์หญิงสุมนี กล่าวว่า ในส่วนของการเปิดประเทศมีข้อพิจารณาหลัก 3 ปัจจัย คือ 1.มาตรการสาธารณสุข 2.ภาคเศรษฐกิจ คือ การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และ 3.ความสอดคล้องมาตรการระหว่างประเทศต้นทางและไทย เช่น การเข้าออกประเทศ มีรูปแบบการเข้าประเทศ 3 แบบ คือ 1.เข้าในสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด กลุ่มคนไทยหรือต่างชาติที่รับวัคซีนไม่ครบ โดยกักตัว 7 วัน 10 วัน 14 วันตามแต่กรณี 2.แซนด์บ็อกซ์ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด และ 3.เข้าแบบไม่กักตัว

โดยทั้ง 2 แบบหลังนี้จะต้องมีเงื่อนไขรับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม และคุณสมบัติผู้เข้ามาในประเทศ นอกจากรับวัคซีนครบ ต้องมีผลตรวจหาเชื้อจากประเทศต้นทาง 72 ชั่วโมงไม่พบเชื้อ มีประกันสุขภาพ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ มาถึงไทยก็ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ เมื่อเป็นลบ จึงเดินทางต่อไปได้

ทั้งนี้การประชุมเตรียมการเปิดประเทศจะประชุมอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องวางแผนรอบคอบ โดยเป้าหมายหลักเปิดประเทศแล้วประชาชนต้องปลอดภัย มีระบบสาธารณสุขรองรับเมื่อต้องใช้แผนเผชิญเหตุหรือเกิดเหตุไม่คาดฝัน โดยจะมารายงานผลเป็นระยะ