ศบค.เปิด 3 ข้อหลัก พิจารณา “เปิดประเทศ” 1 พ.ย.

ศบค.ชุดเล็ก ออก 3 ข้อหลัก พิจารณาเปิดประเทศ 1 พ.ย. “สาธารณสุข-ภาคธุรกิจ-มาตรการเข้าออก” พร้อมเปิดเงื่อนไขผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย

วันที่ 20 ตุลาคม 2564 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค กล่าวช่วงหนึ่งของการแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ถึงการประชุม ของ ศบค.ชุดเล็ก (ช่วงบ่าย 19 ต.ค.) ที่มีการออกข้อพิจารณาในการเปิดประเทศ 3 ปัจจัยที่สำคัญ ประกอบด้วย

ปัจจัยแรก มาตรการทางสาธารณสุข ปัจจัยที่สอง เกี่ยวเนื่องกับภาคเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 2 เรื่องย่อย ได้แก่ เรื่องการท่องเที่ยว และการทำธุรกิจในประเทศ ปัจจัยสุดท้าย คือ ประเทศนั้น ๆ ต้องมีความสอดคล้องกับมาตรการระหว่างประเทศ ให้เข้ากับประเทศไทยได้ในเรื่องต่าง ๆ เช่น การเข้า-ออกประเทศ

สำหรับรูปแบบในการเดินทางเข้าประเทศ แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ แบบที่ 1 เคยปฏิบัติตามเดิมอยู่แล้ว คือ การเข้าสถานที่กักกันตามที่ราชการกำหนด ในส่วนนี้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนไทย หรือชาวต่างชาติ ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ จะต้องเข้าสู่มาตรการกักกัน ไม่ว่าจะเป็น 7 วัน 10 วัน หรือ 14 วัน แล้วแต่กรณี

แบบที่ 2 เป็นแบบแซนด์บอกซ์ หรือพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ตามเงื่อนไขที่กำหนด ที่จะเกิดขึ้นในระยะที่ 1 (พื้นที่สีฟ้า) รวม 17 จังหวัด

สุดท้ายแบบที่ 3 เป็นแบบไม่กักตัว โดยแบบที่ 2 และแบบที่ 3 จะต้องมีเงื่อนไขว่า ต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเป็นหลัก

ด้านคุณสมบัติของผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ นอกจากจะต้องได้รับวัคซีนครบแล้ว การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จากประเทศต้นทาง ภายใน 72 ชั่วโมง ยังต้องคงมาตรการดังกล่าวไว้ มีการทำประกันสุขภาพไว้อย่างน้อย 50,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ

และเมื่อมาถึงประเทศไทยแล้ว ต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำอีกรอบ ในวันแรกที่มาถึง เมื่อผลการตรวจเป็นลบถึงจะเดินทางในประเทศต่อได้

“สำหรับการประชุมการเตรียมการเปิดประเทศยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าต้องมีการวางแผนให้มีความรอบคอบ ประณีต ที่จะเปิดประเทศ โดยเป้าหมายหลัก คือ ถึงแม้เราจะเปิดประเทศไปแล้ว ประชาชนของเราก็ยังต้องปลอดภัย และที่สำคัญก็คือ ระบบสาธารณสุขของเราสามารถที่จะรองรับเมื่อเกิดแผน เมื่อมีสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จะมีการรายงานผลของการประชุมเป็นระยะ”