ศบค. ประกาศเตือนร้านใน กทม.ไม่มี SHA แอบขายสุรา 172 แห่ง

ศบค. เปิดข้อมูล ร้านในกรุงเทพมหานครไม่ได้มาตรฐาน SHA แอบขายสุรา 172 แห่ง ถูกปิด 1 แห่ง ทั้งที่เรียกร้องอยากเปิดกิจการ 

วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ได้สรุปผลจากการประชุมของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) และ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศปก.ศบค.) ใน 4 ประเด็น ดังนี้

1.สถานการณ์ทั่วโลก

ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิดสะสม 263 ล้านราย เพิ่มขึ้นในวันเดียวประมาณ 5.85 แสนราย เสียชีวิตสะสม 5.2 ล้านราย และ เสียชีวิตเพิ่มอีก 7,617 รายในวันนี้

โดย 10 ประเทศที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ได้แก่

  1. สหรัฐอเมริกา 106,876 ราย
  2. เยอรมนี 55,880 ราย
  3. ฝรั่งเศส 47,177 ราย
  4. สหราชอาณาจักร 39,716 ราย
  5. รัสเซีย 32,648 ราย
  6. ตุรกี 25,216 ราย
  7. เนเธอร์แลนด์ 22,154 ราย
  8. โปแลนด์ 19,074 ราย
  9. เช็กเกีย 17,599 ราย
  10. เบลเยียม 14,097 ราย

ประเทศไทย วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 4,886 ราย ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 2,091,895 ราย หายป่วยวันนี้ 6,326 ราย เสียชีวิต 43 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 35,859 ราย อาการหนัก 1,351 ราย และ ใส่เครื่องช่วยหายใจ 340 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงแนวโน้มผู้ป่วยว่า ผู้ป่วยที่กำลังรักษาอยู่ (กราฟสีฟ้า) ตอนนี้ลดน้อยลงไปจากเมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนที่พบเคสจำนวนมาก ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ (กราฟสีแดง) จะเห็นว่าเริ่มลงจากภูเขาแล้ว อยากจะให้เห็นภาพนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อย่าขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับผู้ที่หายป่วย (กราฟสีเขียว) ทิศทางก็เป็นทางลงเหมือนกัน

ผู้เสียชีวิตวันนี้ มีทั้งหมด 43 ราย จากกรุงเทพฯ 2 ราย สมุทรปราการ 1 ราย จังหวัดในภาคอีสานรวม 8 ราย ภาคเหนือ 6 ราย ภาคใต้ 15 ราย และภาคกลางอีก 11 ราย โดย 95% เป็นกลุ่ม 607 และวันนี้มีเด็กชายอายุ 5 เดือนที่จังหวัดสงขลาด้วย รายนี้เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด

จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่มากที่สุด 10 อันดับแรก

  1. กรุงเทพมหานคร 794 ราย
  2. สงขลา 270 ราย
  3. สุราษฎร์ธานี 240 ราย
  4. นครศรีธรรมราช 204 ราย
  5. ชลบุรี 198 ราย
  6. เชียงใหม่ 171 ราย
  7. สมุทรปราการ 140 ราย
  8. ปัตตานี 119 ราย
  9. ประจวบคีรีขันธ์ 117 ราย
  10. ชุมพร 100 ราย

นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงคลัสเตอร์ต่าง ๆ ซึ่งมีดังนี้

  • คลัสเตอร์โรงงาน สถานประกอบการ เช่นที่ปราจีนบุรี ลพบุรี สระบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ทั้งโรงกลึง โรงงานด้านเกษตร โรงงานเครื่องจักรกล
  • คลัสเตอร์ตลาด เช่นที่ขอนแก่น อุดรธานี สุราษฎร์ธานี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งตลาดผลไม้ ตลาดสด ตลาดภาครัฐและเอกชน
  • คลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา เช่น งานศพ งานบุญต่าง ๆ
  • คลัสเตอร์แคมป์คนงาน มีที่ระยอง สุรินทร์ สระแก้ว ขอนแก่น
  • คลัสเตอร์โรงเรียน สถานศึกษา เช่น ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว เชียงใหม่ เลย และ อุบลราชธานี
  • คลัสเตอร์ค่ายทหาร เช่น ชลบุรี
  • คลัสเตอร์ร้านอาหารและสถานบันเทิง อุบลราชธานี และอุดรธานี

2. วัคซีน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงการฉีดวัคซีนไปสู่เป้าหมาย 100 ล้านโดสว่า เดิมกำหนดไว้วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งขณะนี้ถือว่าทำได้ใกล้เคียงเป้าหมาย โดยมีการกระตุ้นในช่วง 27 พ.ย.-5 ธ.ค. ซึ่งเป็นสัปดาห์การฉีดวัคซีน

ช้อมูลสะสมถึงวันที่ 30 พ.ย. ฉีดได้สะสม 93,536,449 โดส คงเหลือฉีด 6,463,551 โดส จึงจะครบเป้าหมาย 100 ล้านโดส ฉีดได้เพิ่มเฉลี่ย 5 แสนโดสต่อวัน ซึ่งพยายามเร่งอย่างเต็มที่

“เฉพาะเข็มแรก ที่ประชุมเสนอมา 2 ตัวเลข ตัวแรกคือประชากรตามสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่งอยู่ที่ 67 ล้านคนโดยประมาณ แต่ตอนที่เราตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส เรามีประชากรแฝง หมายถึงต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยประมาณ 5 ล้านคน เพราะฉะนั้นจาก 67 ล้านคน ก็เลยเป็น 72 ล้านคน ซึ่งเมื่อเราเอา 72 ล้านเป็นตัวตั้ง กับ 67 ล้านเป็นตัวตั้ง เปอร์เซ็นต์ (ความครอบคลุม) ก็จะแตกต่างกัน

หากตัดเอาเฉพาะคนไทยที่มีสิทธิทั้งหลาย 67 ล้านคน เราฉีดไปได้แล้ว คิดเป็น 72.22% ซึ่งหากตามทฤษฎีบอกว่าต้องฉีดให้ได้ 70% ถือว่าเป็นตัวเลขที่สามารถควบคุมป้องกันโรคได้ ถ้าอย่างนี้แสดงว่าเราแตะแล้ว แล้วเข็มสองเราได้ถึง 62.03% ส่วนเข็ม 3 เพิ่มเป็น 5.19% และเข็ม 4 ที่ 0.02% หรือฉีดไปประมาณ 15,000 โดส แต่หากเอาประชากร 72 ล้านคน เปอร์เซ็นต์ความครอบคลุมก็จะตกลงมานิดหน่อย เข็มแรกประมาณ 67% ส่วนเข็มอื่น ๆ ก็จะลดหลั่นกันมา

ณ ตรงนี้ในความพยายามของกระทรวงสาธารณสุข ภาครัฐและภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ต่างช่วยกันเพื่อให้เปอร์เซ็นต์ความครอบคลุมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นสัปดาห์การฉีดวัคซีนซึ่งยาวไปจนถึงวันพ่อก็อยากจะเพิ่มยอดตรงนี้ให้ได้ ช่วยกันด้วยแล้วกันนะครับ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

หากถามว่าจะไปเพิ่มการฉีดวัคซีนได้ที่ตรงไหน ไปดูกันที่จังหวัดต่าง ๆ ในแถบที่เป็นสีแดงและสีส้ม เป็นจังหวัดที่ต้องเร่งให้เพิ่มขึ้นให้ได้ เพราะยังต่ำกว่า 60% ลงมา โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ยังต่ำกว่า 50% อยู่เพียงจังหวัดเดียว

ส่วนอีก 26 จังหวัดต่ำกว่า 60% ได้แก่ ขอนแก่น แพร่ อุบลราชธานี ชัยภูมิ สิงห์บุรี สระแก้ว สตูล ศรีสะเกษ สุรินทร์ นครนายก ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ตาก ราชบุรี นครพนม หนองบัวลำภู สิงห์บุรี ปัตตานี บึงกาฬ สกลนคร และ นราธิวาส

“ผมขออนุญาตไล่เรียงในทั้งหมด 26 จังหวัด และเอ่ยนามตรงนี้ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่อยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เหล่านี้ ได้ขอความกรุณาท่านเดินเข้ามา และมารับการฉีดวัคซีนเลยนะครับ ถ้าต่ำกว่า 60% ยังเป็นเป้าหมายที่ยังไม่ถึง 70% เราต้องช่วยกัน คนใดคนหนึ่งฉีดวัคซีนก็ไม่ได้ช่วยทำให้สังคมเราปลอดภัย ประเทศเราปลอดภัย ต้องได้ 70% ขึ้น รวมถึงเข็ม 2 ด้วยนะครับ เราถึงจะมีภูมิ แล้วโดยเฉพาะตอนนี้เชื้อที่เป็นสายพันธุ์โอไมครอนกำลังเข้ามา อย่างน้อยก็ลดความรุนแรงของโรคบ้าง อันนี้พูดโดยตามหลักทั่วไปนะครับ”

3.การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

ผลของการรายงานการเดินทางเข้ามาประเทศไทยของทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ผ่านมาตรการต่าง ๆ ระหว่าง 1-30 พ.ย. 64 เข้ามา 1.33 แสนคน ติดเชื้อ 171 ราย หรือคิดเป็น 0.13% ส่วนใหญ่มาจาก Test & Go ซึ่งคิดเป็น 0.08% ส่วน Sandbox 0.21% และ Quarantine 0.81%

“เพราะฉะนั้นคุ้มค่ามากครับที่เราจะให้มาตรการนี้คงต่อ และให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อนำเม็ดเงินเข้ามาเที่ยวไทยในช่วงไฮซีซั่น ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องของโอไมครอนขึ้นมา ก็ต้องมีมาตรการเน้นย้ำ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เห็นชอบร่วมกันว่าเราจะต้องมีมาตรการเข้มเหมือนเดิม จากเดิมที่เราผ่อนมาเป็น ATK ต้องกลับไปปรับระดับเท่าเดิมคือเป็น RT-PCR คือต้องใช้มาตรฐานการตรวจที่สูงที่สุดเท่าที่เราจะควบคุมโรคได้” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

10 ประเทศที่มีผู้เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด

  1. สหรัฐอเมริกา 14,730 ราย
  2. เยอรมนี 12,099 ราย
  3. เนเธอร์แลนด์ 8,478 ราย
  4. สหราชอาณาจักร 6,701 ราย
  5. รัสเซีย 5,307 ราย
  6. ญี่ปุ่น 5,146 ราย
  7. ฝรั่งเศส 5,003 ราย
  8. เกาหลีใต้ 4,741 ราย
  9. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4,338 ราย
  10. อิสราเอล 4,035 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ประเทศที่รายงานเหล่านี้ คนที่เดินทางเข้ามายังไม่เกี่ยวข้องกับแอฟริกา อย่างไรก็ตามอาจมีนักเดินทางที่แวะแอฟริกามาก่อนก็ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นความสำคัญของมาตรการที่เราจะต้องจัดการกัน

นพ.ทวีศิลป์ เผยอัตราการติดเชื้อของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรทางอากาศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ติดเชื้อจากประเทศต้นทางที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด (สหรัฐฯ) ก็ยังพบผู้ติดเชื้อไม่ถึง 1%

“เพราะเรามีระบบตรวจกรองแล้วชั้นหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่านักเดินทางที่ตรวจไม่เจอเชื้อโควิด แล้วเราจะปล่อยให้เขาเข้า ก็มีการตรวจอีกหลายชั้น ถึงได้มาเจอตรงนี้อีก 171 ราย คิดเป็น 0.13% อย่างที่ว่าไว้”

3.โอไมครอน

โฆษก ศบค. เผยอีกว่า เมื่อเช้ากระทรวงสาธารณสุขได้ให้กรมควบคุมโรครายงานถึงลักษณะตัวเชื้อ เปรียบเทียบความรุนแรงและการก่อโรคของโอไมครอน พบว่าข้อมูลยังน้อย แต่เบื้องต้นระบุว่าไม่พบว่ามีความแตกต่างทางอาการ ยังคงมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่ไม่เสียการรับกลิ่นหรือรับรส อาการป่วยไม่รุนแรง แต่มีรายงานเสียชีวิตเกิดขึ้นแล้ว

ความเร็วในการแพร่โรค จะเห็นได้ว่าเดลตามีความเร็วในการแพร่โรคมากกว่าอัลฟาถึง 60% แต่ข้อมูลจากแอฟริกาใต้คาดว่าโอไมครอนจะมีความเร็วในการแพร่โรคมากกว่าเดลตาด้วย

ส่วนโอกาสของการติดเชื้อทวีคูณ (Redproductive number) คาดว่าของโอไมครอนจะเพิ่มขึ้นกว่า wild type แต่ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานยืนยัน ความรุนแรงก็ยังไม่ยืนยัน แต่วัคซีนยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้

“อันนี้ผู้เชี่ยวชาญบอกเลย เพราะฉะนั้นถึงเน้นย้ำว่าตอนนี้คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะคนทางภาคอีสาน ฉีดได้ประมาณ 50% หากหนึ่งคนฉีดแต่อีกคนยังไม่ฉีด ท่านรีบชวนอีกคนให้มาฉีดเลย เพราะผู้เชี่ยวชาญบอกว่าวัคซีนยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้”

ขณะที่ระยะฟักตัวที่สั้นมาก ๆ ของเดลตาอยู่ที่ 4.3 วัน แต่ของทางโอไมครอนยังไม่มีข้อมูล และผลต่อภูมิคุ้มกันก็มีความกังวลว่าโอไมครอนอาจจะหลบภูมิคุ้มกันได้อย่างมีนัยสำคัญ พบโอกาสติดเชื้อซ้ำได้สูงขึ้น

นอกเหนือจากประเทศในแอฟริกา ล่าสุดในยุโรปพบสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้นที่โปรตุเกส ออสเตรีย สวีเดน และสเปน ส่วนเอเชียมีเพิ่มที่ญี่ปุ่น

“แต่ละประเทศฟังดูจะมีลักษณะของการนำเชื้อเข้า ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางกลับจากกลุ่ม 8 ประเทศแอฟริกา อย่างเช่นอิสราเอลที่บอกว่าเดินทางกลับมาจากมาลาวี ส่วนอิตาลีมีผู้เดินทางกลับจากโมซัมบิก เดนมาร์กมีผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมาจากแอฟริกาใต้ ส่วนเช็กติดเพราะมีผู้เดินทางมาจากนามิเบีย มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ ที่เราศึกษาจากประเทศที่ติดเชื้อ เลยเกิดมาตรการขึ้นมา”

ข้อมูลผู้เดินทางจากแอฟริกาตั้งแต่ 15-27 พ.ย. 64 จะเห็นว่ากลุ่มเสี่ยงสูง 8 ประเทศ ผ่านเข้ามาทาง Sandbox 255 ราย ออกจากประเทศ 3 ราย คงค้างในไทย 252 ราย ติดตามได้ 11 ราย ซึ่งที่ประชุมเมื่อเช้าได้เน้นย้ำว่า ขอให้ 252 ราย มารายงานตัวเพื่อมารับการตรวจ RT-PCR ฟรี

“ทั้ง 252 ราย ขอประชาสัมพันธ์ให้ตรวจ RT-PCR โดยเร็วที่สุดกับโรงพยาบาลของรัฐ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ให้แสดงตัวกับรัฐเดี๋ยวนี้เลย แล้วส่งผลตรวจกับหมอชนะ รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวด ขอให้ท่านปฏิบัติตามคำแนะนำ การไม่ปฏิบัติตามถือว่าละเมิด พรบ. โรคติดต่อมาตราที่ 34 หากสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ 1422” โฆษก ศบค. กล่าว

สำหรับมาตรการเดินทางเข้าไทย สำหรับผู้เดินทาง/พำนักจากประเทศในทวีปแอฟริกา แบ่งเป็น 2 ข้อใหญ่

1.ประเทศที่พบสายพันธุ์ B 1.1.529 และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด 8 ประเทศ

ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และ ซิมบับเว

สำหรับผู้ที่เดินทางมาถึงไทย ตั้งแต่ 15 พ.ย. 64

  • รูปแบบ Sandbox ให้คุมไว้สังเกตเป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้อ
  • รูปแบบ การกักตัว

– ต้องกักตัวในสถานกักกันจนครบ 14 วัน และตรวจหาเชื้อ

– กรณีออกจากสถานกักกันแล้ว แต่ยังไม่ครบ 14 วัน ให้คุมไว้สังเกตจนครบ 14 วันน และตรวจหาเชื้อ

สำหรับผู้ที่เดินทางถึงไทย ตั้งแต่ 28 พ.ย. 64

ทั้งในรูปแบบ Sandbox และการกักตัว ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง

2.ประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกา

ผู้ที่เดินทางถึงไทย ตั้งแต่ 15 พ.ย. – 5 ธ.ค. 64

  • รูปแบบ Sandbox ให้คุมไว้สังเกตจนครบ 14 วัน หรือตามจำนวนวันที่เข้าพัก กรณมีอาการ ให้ตรวจหาเชื้อ
  • รูปแบบ การกักตัว กักตัวครบตามกำหนดแล้ว ยังต้องติดตามคุมไว้สังเกตจนครบ 14 วัน กรณีมีอาการ ให้ตรวจหาเชื้อ

ผู้ที่เดินทางมาถึงไทย ตั้งแต่ 6 ธ.ค. 64 ในรูปแบบ Sandbox และการกักตัว ให้กักตัวเป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง

“นั่นหมายความว่าต่อไปนี้จะยกระดับ คนที่มาจากกลุ่ม 8 ประเทศนี้ ก็จะต้องอยู่ใน Quanrantine เกือบทั้งหมดเลยตอนนี้”

ในกลุ่ม 8 ประเทศ ทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานไปว่าไม่อนุญาตให้มีการเดินทางเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ขอให้รับทราบถึงความไม่สะดวกนี้ด้วย เพราะเราต้องจัดการเรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่อยู่ในประเทศ

ส่วนคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศจาก 8 ประเทศที่พบว่ามีการระบาดของโอไมครอนที่ต้อกักตัวต่อจนครบ 14 วัน คนใหม่ ๆ ต้องเข้าไปอยู่ใน AQ ต้องจ่ายสตางค์เอง ถือว่าคุณไปในประเทศที่มีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นคุณต้องรับภาระในการจ่ายในการที่จะเข้าไปอยู่ใน AQ

แต่สำหรับคนไทยหากท่านไม่สามารถชำระค่าใช้จ่ายในการกักตัวต่อเองได้ ให้โรงแรมประสานเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อประสานมายังกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค เพื่อนำเข้ากักตวต่อในสถานกักกันของสถาบันบำราศนราดูร

4.เปิดประเทศ

นพ.ทวีศิลป์ ยกตัวอย่างที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีรายงานสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA Plus+ เพิ่มขึ้น 1,679 แห่ง แบ่งเป็น ภัตตาคาร ร้านอาหาร 584 แห่ง, โรงแรม ที่พัก และโฮมสเตย์ 500 แห่ง, นันทนาการ สถานที่ท่องเที่ยว 13 แห่ง, ยานพาหนะ 303 แห่ง, บริษัทนำเที่ยว 102 แห่ง, สุขภาพความงาม 59 แห่ง, ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า 26 แห่ง, กีฬาและการท่องเที่ยว 4 แห่ง, การจัดประชุม โรงมหรสพ 25 แห่ง, ร้านของที่ระลึกและอื่น ๆ 63 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 64 ในกรุงเทพมหานคร  มีสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA รวม 9,196 แห่ง และ SHA Plus+ รวม 1,631 แห่ง

“เพราะฉะนั้นยังมี gap เรื่องเจ้าหน้าที่และพนักงานของท่านอีกหลายอย่างเลยนะครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้ เรียกร้องกันอย่างจะเปิดกิจกรรม กิจการ อยากจะขายอาหารแบบเสรี แบบเต็มที่ รวมถึงการมีช่วงเวลาที่ขยายเพิ่มขึ้น หรือการขยายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฝากท่านช่วยดูแลตัวท่านเอง โดยการปรับมาตรฐานร้านของท่านขึ้นมาให้อยู่ในระดับที่ว่าด้วยนะครับ เพราะเราจะมั่นใจได้ว่าเมื่อท่านเปิดการขายอย่างที่ว่าแล้ว ลูกค้าของท่านรวมถึงตัวท่านเองก็ปลอดภัย นี่คือสิ่งที่อยากจะให้เห็น”

นอกจากนี้ยังเปิดเผยผลการตรวจการควบคุมโควิด-19 ข้อมูลรวม 50 เขตของกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-30 พ.ย. 64 จากสถานประกอบการจำนวนทั้งหมด 15,840 แห่ง ซึ่งพบว่า มี SHA 2,609 แห่ง ไม่มี SHA 5,455 แห่ง

“หากจะขายสุราต้องมี SHA แต่กลับพบว่าจำนวนสถานประกอบการที่ไม่มี SHA เยอะกว่า ประเด็นอยู่ที่มีการตักเตือนเพราะมีการดื่มสุรา แต่สถานที่นั้นไม่มี SHA ถึง 172 แห่ง พูดง่าย ๆ คือ มาตรฐานตัวเองไม่ถึง แต่ก็แอบขายสุรา เมื่อวานนี้มีสั่งปิดไปด้วย 1 ราย”