โอมิครอนระบาดเกือบทั่วประเทศ ศบค.คาดเดือน ก.พ.ติดเชื้อ 3 หมื่นราย

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์
แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์

ศบค.เผยโอมิครอนติดเชื้อแล้ว 5,397 ราย กระจายไป 71 จังหวัด คลัสเตอร์ปีใหม่โผล่เพียบ 11 จังหวัด รวมงานเลี้ยงวัดเกิดด้วยเป็น 12 จังหวัด พื้นที่ระบาดอยู่ในเขตเศรษฐกิจของประเทศ คาดปลายเดือนมกราคมนี้ ยอดติดเชื้อรายใหม่พุ่งแตะ 20,000 ราย เดือนกุมภาพันธ์อาจขึ้นไปถึง 30,000 กว่าราย แต่ผู้เสียชีวิตแนวโน้มลดลง

วันที่ 10 มกราคม 2565 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า

วันนี้สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 7,926 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,248,613 ราย หายป่วยแล้ว 2,170,053 รายและ เสียชีวิตสะสม 21,744 รายส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,277,476 ราย หายป่วยแล้ว 2,197,479 ราย เสียชีวิตสะสม 21,838 ราย

สำหรับผู้มารับการฉีดวัคซีน ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 9 มกราคม 2565 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 106,475,122 โดส เฉพาะวันที่ 9 มกราคม 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 12,766 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 32,977 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 93,142 ราย

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 307,870,543 ราย อาการรุนแรง 93,970 ราย รักษาหายแล้ว 259,527,745 ราย และเสียชีวิต 5,505,839 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 61,263,030 ราย 2. อินเดีย จำนวน 35,708,442 ราย 3.บราซิล จำนวน 22,523,907 ราย 4. สหราชอาณาจักร จำนวน 14,475,192 ราย 5. ฝรั่งเศส จำนวน 12,111,218 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 25 จำนวน 2,277,476 ราย

สธ.ปรับรายงานการระบาดเป็นระลอกที่ 5

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวว่า วันนี้การรายงานจะเป็นการรายงานระลอกมกราคมปี 2565 โดยการนับจะมีหลายแบบ ถ้านับการติดเชื้อจะเป็นระลอกที่ 5 แต่ถ้านับจำนวนการติดเชื้อที่เป็นการเพิ่มขึ้นในแต่ละครั้งจะเป็นระลอกที่ 4 เพราะฉนั้นจะขอเรียกเป็นระลอกมกราคม 2565 จากการเรียกของศูนย์ EOC ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน

สำหรับการรายงานวันนี้ ยอดป่วยใหม่ 7,926 ราย หายป่วย 3,612 ราย มีผู้กำลังรักษาตัวอยู่ 58,159 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนักหรือปอดอักเสบ 495 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 115 ราย ซึ่งทั้งสองยอดนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะเห็นว่ายอดหายป่วยจะน้อยกว่าจำนวนผู้ที่รักษาตัวอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ที่มีการรายงานมาอย่างต่อเนื่อง

“ในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 7,926 ราย เป็นยอดจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามา 412 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

ส่วนผู้เสียชีวิตในวันนี้ 13 รายอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง 100% เป็นผู้ที่อยู่่ในกลุ่มเสี่ยงและมีโรคเรื้อรัง ทั้งความดัน เบาหวาน โรคไขมันในเลือด โดย 10 รายใน 13 รายที่เสียชีวิตไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบโดส

และเมื่อแยกตามพื้นที่จะพบว่า กรุงเทพมหานครวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยผู้เสียชีวิตวันนี้อยู่ที่นครปฐม 2 ราย เลย 1 ราย ภาคเหนือ พิษณุโลก 1 ราย ลำปาง 1 ราย อุตรดิตถ์ 1 ราย ยะลา 2 ราย สตูล 1 ราย ชลบุรี 2 ราย กาญจนบุรี 1 รายและตราด 1 ราย

โอมิครอนระบาดแล้ว 71 จังหวัด

ส่วนผลการตรวจ ATK ในภาพรวมของประเทศ วานนี้ (9 ม.ค.) มีการตรวจไป 52,329 ราย พบผลตรวจเป็นบวก 1,262 ราย คิดเป็น 1.23% ซึ่งผลตรวจจากการตรวจ ATK มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ช่วงก่อนหน้านี้

นอกจากนี้จากการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อแยกการระบาดตามสายพันธุ์ พบว่าขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) พบแล้ว 5,397 ราย กระจายไปแล้ว 71 จังหวัด หรือเกือบจะทั่วประเทศแล้ว และถ้าแยกสัดส่วนตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงวันที่ 9 มกราคม 2565 พบว่าเป็นการระบาดของเชื้อเดลต้า 64.71% เป็นสายพันธุ์โอมิครอน 35.71% ที่เหลือเป็นสายพันธุ์เบลต้ากับอัลฟ่า

“แต่ถ้าแยกเป็นสัปดาห์ที่มีการสุ่มตรวจครั้งล่าสุด จะพบว่าการสุ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 2-8 มกราคม 2565 จะพบว่าเป็นสัดส่วนของโอมิครอนสูงถึง 70.3% เป็นเดลต้า 29.7%” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

ชี้พื้นที่ระบาด ส่วนใหญ่จังหวัดเศรษฐกิจ

ถ้าพิจารณาเป็นรายสัปดาห์การเพิ่มขึ้นของโอมิครอนก็เป็นไปตามการคาดการณ์ ซึ่งสัปดาห์ล่าสุดจากการสุ่มตรวจผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศพบว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 91.3% ส่วนในประเทศพบ 57.9% ส่วนผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศใน 412 คนวันนี้ พบว่า 61% เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ Test & Go 36% เป็นระบบแซนด์บอกซ์ และ 3% มาจากระบบกักกันตัว หรือ quarantine

“จากการวิเคราะห์พบว่า ผู้ที่เดินทางเข้ามาแม้จะมีจำนวนที่ลดลง แต่การติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะการตรวจพบจาก RT PCR ในวันที่ day 4-7 และอยู่ในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะพบที่ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี” 

สำหรับ 10 จังหวัดสูงสุดวันนี้อันดับหนึ่งเป็นชลบุรี จำนวน 767 ราย รองลงมาเป็นสมุทรปราการ 693 ราย กรุงเทพมหานคร 534 ราย ภูเก็ต 513 ราย อุบลราชธานี 383 ราย นนทบุรี 261 ราย นครศรีธรรมราช 227 ราย ขอนแก่น 203 ราย เชียงใหม่ 200 ราย และอุดรธานี 182 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อน้อยสุดวันนี้เป็นจังหวัดลำพูน

“วันนี้จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย มีทั้งสิ้น 18 จังหวัด และส่วนใหญ่จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนี้เป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจ เป็นจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า เพราะฉนั้นทั้ง 18 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยรายก็จะต้องมีการคุมเข้มป้องกันในกิจการต่าง ๆ ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดของท่านตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินในฉบับที่ 41 ที่เพิ่งประกาศออกไป” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

คลัสเตอร์ปีใหม่โผล่เพียบ พบร้านอาหารมากสุด

ส่วนการจำแนกผู้ติดเชื้อตามคลัสเตอร์ พบดังนี้

  • คลัสเตอร์ตลาด พบที่ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ปทุมธานี พิษณุโลก
  • คลัสเตอร์แคมป์คนงาน พบที่ นครราชสีมา
  • คลัสเตอร์โรงเรียน-สถานศึกษา พบที่นครปฐม
  • คลัสเตอร์ค่ายทหาร พบที่ประจวบคีรีขันธ์
  • คลัสเตอร์สถานพยาบาล-บุคลากรทางการแพทย์ พบที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี
  • คลัสเตอร์ร้านอาหาร-ร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิง พบที่ขอนแก่น บุรีรัมย์ นนทบุรี ชลบุรี นครราชสีมา นครปฐม น่าน ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวต่อว่า “คลัสเตอร์ร้านอาหาร-ร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิง” เป็นคลัสเตอร์ที่พบมากที่สุดและมีการรายงานมาอย่างต่อเนื่อง เป็นลักษณะคล้ายกันคือเป็นร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิง คือยังไม่ได้มีการดำเนินงานภายใต้มาตรการความปลอดภัย ทำให้มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปได้มากขึ้น และสามารถที่จะแพร่เชื้อเข้าปในระดับชุมชน และเล็กที่สุดคือในระดับครอบครัว

ส่วน “คลัสเตอร์ปีใหม่” ที่เรามีการเฝ้าระวังก่อนหน้านี้ มีการรายงานมาจากหลายจังหวัด ซึ่งก็เป็นไปตามการคาดการณ์ โดยพบทั้งหมด 11 จังหวัด ได้แก่

  • อุบลราชธานี 33 ราย
  • ขอนแก่น 25 ราย
  • ประจวบคีรีขันธ์ 22 ราย
  • นครศรีธรรมราช 13 ราย
  • ราชบุรี 8 ราย ลพบุรี 7 ราย
  • พะเยา 6 ราย
  • น่าน 8 ราย
  • อำนาจเจริญ 5 ราย
  • ชลบุรี 5 ราย
  • ยโสธร 6 ราย
  • มหาสารคาม 4 ราย

“ที่พูดถึงจังหวัดและจำนวนเป็นคลัสเตอร์ปีใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบคลัสเตอร์งานเลี้ยงวันเกิดอีก 1 รายที่จันทบุรีด้วย โดยปัจจัยการแพร่ระบาดมาจากการดื่มกินในสถานที่ที่มีคนหนาแน่นจำนวนมาก อากาศไหลเวียนไม่ไดี ถ้ามีการดื่มสุราด้วยจะมีการพูดคุนกันเสียงดัง และส่วนใหญ่การกินดื่มจะใช้เวลานานซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

คาดสิ้น ม.ค. ยอดป่วยใหม่พุ่ง 20,000 ราย ก.พ.แตะ 30,000 ราย

สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศในภาพรวม ตอนนี้ผู้ติดเชื้อประจำวัน (เส้นสีน้ำเงิน) จะเห็นว่าในสถานการณ์จริงจะไต่อยู่ในระดับของเส้นสีเทา หรือเส้นที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งถ้าขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามการคาดการณ์ ช่วงประมาณปลายเดือนมกราคม 2565 อาจจะมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยูที่ระดับ 20,000 กว่าราย และถ้ายังเป็นตามนี้ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์อาจจะขึ้นไปแตะที่ 30,000 กว่าราย (ดูกราฟิกประกอบ)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าหากดูการคาดการณ์ที่ ศบค. มีการทำฉากทัศน์ก่อนหน้านี้ และหากสายพันธุ์โอมิครอนมีการระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งล่าสุดกระจายไป 71 จังหวัดตามที่แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์รายงานแล้ว หากดูกราฟสถานการณ์จริงคือเส้นสีน้ำเงิน (กราฟบน) จะเห็นว่าเส้นกราฟกำลังพุ่งขึ้นชัดเจนตามที่มีการคาดการณ์ไว้ ขณะที่กราฟการคาดการณ์ผู้เสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้น (กราฟล่าง) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น

สธ.-ศบค.เร่งยกระดับการรักษาผู้ป่วย

ส่วนการคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังเป็นไปตามสถานการณ์โลก อัตราการการเสียชีวิตในบ้านเราที่รายงานยังต่ำกว่าเส้นคาดการณ์ (สีเขียว) ซึ่งเป็นผลมาจากการคาดการณ์ที่ประเทศเรามีการได้รับวัคซีนในคนส่วนใหญ่ที่ครอบคลุมมากขึ้น แต่การที่มีผู้ป่วยในระลอกเดือนมกราคม 2565 ที่เพิ่มขึ้น ทาง ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข มีการเตรียมการยกระดับการดูแลรักษาไว้พร้อมแล้ว ซึ่งก็จะต่างจากในช่วงระลอกเดือนเมษยน 2564 ที่ผ่านมา ทั้งการรักษาในรูปแบบ Home Isolation หรือระบบ Community Isolation เป็นต้น

จากนี้ไปจังหวัดที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมคือ 10 จังหวัดแรกที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด และจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อในระดับหลักร้อยราย/วัน ซึ่งก็ได้แก่จังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยวที่จะต้องมีการเตรียมพร้อม โดยแนวทางการรักษาพยาบาลมีการแจ้งไปแล้วเมื่อมีผลตรวจ ATK เป็นบวกให้ติดต่อที่เบอร์ 1330 หรือไลน์@ สปสช. ถ้าต่างจังหวัดให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของจังหวัดหรืออำเภอนั้น ๆ เพื่อที่จะได้เข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว

“ส่วนผู้ป่วยอาการหนักให้ติดต่อหรือส่งการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว รวมถึงการดูแลผู้ป่วยที่เป็นเด็กด้วยทั้งใน กทม.และในส่วนภูมิภาค” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวในตอนท้าย