ใครยังไม่ควรได้รับวัคซีนโควิด หากจะฉีดต้องทำอย่างไร ?

วัคซีนโควิด

วัคซีนโควิด-19 เป็นเกราะป้องกันการติดเชื้อที่สำคัญ แต่ยังไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถรับวัคซีนได้ในทันที 

จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา สธ.ได้ประกาศว่า ไทยได้เข้าสู่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “ระลอก 5” ตามด้วยมติ ศบค.ที่ตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนเพิ่มเป็น 120 ล้านโดส โดยระดมฉีดเข็ม 3 และ เข็ม 4 เพิ่มอีก 20 ล้านโดส ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 หลังฉีดครบ 100 ล้านโดส เมื่อเดือนธันวาคม 2564 

แต่การฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจจะไม่สามารถฉีดได้ทุกคนขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และเงื่อนไขที่ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ 

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเงื่อนไข และข้อกำหนด ว่ามีใครบ้างที่ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19

ใครยังไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก (24 พ.ค.64) ระบุว่า ใครบ้างผู้ที่ไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

มีอาการแพ้หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 1

ผู้ที่รับวัคซีนแล้วเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ถึงขั้นช็อก โดยจะเห็นผลได้ชัดหลังจากฉีดเข็มแรก และจะไม่สามารถฉีดเข็มที่ 2 ได้อย่างแน่นอน และต้องเปลี่ยนชนิดของวัคซีน อีกทั้งผู้ที่รู้ว่าตนเองแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนก็ไม่สมควรจะฉีดเช่นกัน

ผู้มีอาการป่วย โรคประจำตัว

ผู้ที่ไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้อยู่ในอาการป่วย หรือมีโรคประจำตัว 

  • ผู้ที่เจ็บป่วย มีไข้ หรือเป็นโรคปัจจุบันที่ต้องการการรักษา
  • ผู้ป่วยวิกฤต
  • ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค
  • ผู้ป่วยที่รักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน จนกว่าทุกอย่างจะอยู่ในสภาพคงที่แล้ว หรือหายป่วยจนสามารถกลับบ้านได้

กลุ่มเสี่ยง ควรปรึกษาก่อนฉีดวัคซีน

ด้านกรมควบคุมโรค ระบุว่า วัคซีนแต่ละชนิดอาจมีข้อพิจารณาเฉพาะสำหรับประชากรบางกลุ่ม และผู้ที่มีภาวะทางสุขภาพบางอย่าง โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ได้ระบุข้อควรระวังที่ควรปรึกษาแพทย์ ประกอบด้วย 

  • มีไข้สูงในวันที่นัดฉีดวัคซีน
  • มีประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร อย่างรุนแรงหรือจนเป็นอันตรายต่อชีวิต
  • มีรอยช้ำ หรือจ้ำเลือด หรือเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่ เช่น วาร์ฟาริน 
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น สเตียรอยด์ขนาดสูง ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยากดภูมิคุ้มกัน
  • อาการข้างเคียงทุกชนิดจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก
  • ตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

ติดโควิดแล้ว ฉีดวัคซีนได้หรือไม่

สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ในร่างกาย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ครั้งต่อไปและยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้       

ดังนั้นจึงควรได้รับวัคซีนโควิด 19 เสมอแม้ว่าจะเคยเป็นโรคโควิด 19 มาก่อนก็ตาม โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3-6 เดือน ไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เพราะแม้จะเคยเป็นมาก่อน ก็ไม่ทำให้มีอันตรายจากการฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม

ข้อห้าม-ข้อควรระวังการฉีดวัคซีนโควิด-19 

วัคซีนทุกชนิดมีข้อห้ามคือ แพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีนและเนื่องจากวัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนใหม่จึงอาจไม่มีความรู้ในเรื่องปฏิกิริยาการแพ้ที่พบไม่บ่อย ในช่วงแรกจึงควรฉีดวัคซีนเหล่านี้ในสถานพยาบาลหรือสถานที่ ที่ให้การช่วยเหลือกรณีมีปฏิกิริยารุนแรง และควรเฝ้าระวังอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที ตามการเปิดเผยจากกรมควบคุมโรค 

คำแนะนำก่อนฉีดวัคซีน

  • ไม่ควรดื่มกาแฟในวันที่ฉีดวัคซีน เพราะจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว และบีบเส้นเลือด ความดันจะขึ้นสูง คนที่ทานประจำ ร่างกายปรับตัวได้อยู่แล้ว
  • ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ควรรับประทานอาหารให้เพียงพอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ผ่อนคลาย ไม่เครียด หรือวิตกกังวล

สรุปแล้วควรฉีดวัคซีนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า แพทย์คือผู้ที่ให้คำแนะนำได้ดีที่สุดว่า เราควรรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือไม่ มีภาวะทางสุขภาพเพียงไม่กี่ประการที่ทำให้บุคคลไม่ควรเข้ารับวัคซีน

จากหลักฐานที่มีอยู่ ผู้ที่มีประวัติการแพ้อย่างรุนแรงต่อส่วนประกอบใด ๆ ก็ตามของวัคซีนโควิด-19 ไม่ควรรับวัคซีนเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์