กินหมูอย่างไรให้ปลอดภัยจาก ASF วิธีสังเกตหมูกลุ่มเสี่ยง

กินหมูอย่างไรให้ปลอดภัยจาก ASF วิธีสังเกตหมูกลุ่มเสี่ยง
ภาพจาก pixabay

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยวิธีกินหมูให้ปลอดภัยจากโรคระบาด ASF วิธีสังเกตหมูกลุ่มเสี่ยง ยันโรคระบาดไม่ติดเชื้อสู่คน

วันที่ 19 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมาว่า หลังจากที่ประเทศไทยประกาศว่า พบเชื้อ ASF กรมปศุสัตว์ระดมกำลังทั่วประเทศ เน้นทำงานเชิงรุกในการควบคุมการระบาดของโรค ASF ไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้าง โดยเน้นหลักปฏิบัติสากล การควบคุมโรคระบาดจึงเริ่มตั้งแต่สุกรมีชีวิตที่ฟาร์ม

หากพบสุกรติดเชื้อ ASF ที่ป่วยตาย หรือสงสัยว่าติดเชื้อ เพราะเลี้ยงด้วยกัน ต้องห้ามเคลื่อนย้ายสุกรทั้งหมดตามรัศมี 5 กิโลเมตรโดยรอบจุดพบโรค อีกทั้งสุกรทั้งหมดในจุดเกิดโรคต้องถูกกำจัดด้วยการเผาหรือฝังกลบตามหลักการเพื่อทำลายเชื้อ ห้ามนำเข้าฆ่าเพื่อบริโภคโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส ASF ที่มีความทนทานอยู่รอดในสิ่งต่างๆ ได้ยาวนาน

ลักษณะหมูกลุ่มเสี่ยง

ทั้งนี้ หลักปฏิบัติดังกล่าวเป็นข้อบังคับตามกฎหมาย ที่ต้องปฏิบัติทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ หากต้องสงสัยการติดเชื้อ ASF ในสุกร เช่น

  • มีการตายเฉียบพลัน
  • มีไข้สูง
  • ผิวหนังแดง
  • มีจุดเลือดออก
  • รอยช้ำโดยเฉพาะหลังใบหู ท้อง ขาหลัง
  • มีอาการทางระบบอื่น เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร
  • การแท้งในช่วงของการตั้งท้อง

ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์ทันทีที่เบอร์ 063-225-6888 เพื่อเข้าควบคุมโรคและดำเนินการชดเชยตามกฎหมายต่อไป รวมทั้งการเคลื่อนย้ายสุกรและซากสุกร ต้องมีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายให้ถูกต้องทุกครั้ง พร้อมทั้งขอความร่วมมือ อย่าปิดบังโรค เพราะจะทำให้คุมโรคไม่ได้ และเชื้อโรควนอยู่ในฟาร์ม สร้างความเสียหายมากกว่าเดิม

ASF ไม่ติดเชื้อสู่คน

อธิบดีกรมปศุสัตว์ยืนยันว่า ด้วยข้อมูลทางวิชาการว่าโรค ASF เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ไม่ก่อโรคในคนหรือสัตว์อื่นแน่นอน และขอผู้บริโภคให้มั่นใจได้ว่า เนื้อและอวัยวะสุกรที่จำหน่ายในไทยยังมีความปลอดภัย รับประทานได้ตามปกติ

เนื้อสุกรส่วนใหญ่ตามสถานที่จำหน่ายมีความปลอดภัยจากเชื้อ ASF เพราะตาม พ.ร.บ.ควบคุมการสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตต้องเข้มงวดตรวจสอบคัดกรองสุขภาพก่อนฆ่า และหลังฆ่า ไม่ให้มีสุกรป่วยด้วยอาการ ASF หรือโรคระบาดอื่น ๆ เข้าผลิตและจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค

วิธีกินเนื้อหมูให้ปลอดภัย

ท้ายสุด ยังแนะนำให้ประชาชนปรุงเนื้อสุกรให้สุกก่อนการบริโภคทุกครั้งด้วยอุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส เวลา 30 นาทีขึ้นไป เพื่อทำลายเชื้อโรค ASF อีกทั้งยังทำลายเชื้ออื่น ๆ ที่อาจจะติดมาด้วย เช่น โรคหูดับ โรคพยาธิ หรือโรคที่ทำให้เกิดท้องเสีย เป็นต้น

และสามารถเลี่ยงความเสี่ยงจากโรคเหล่านี้ได้ด้วยการเลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ มีสุขอนามัยการผลิตที่ดีและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามาจากฟาร์ม GAP และโรงฆ่ามาตรฐาน ดังเช่นสถานที่จำหน่ายที่ได้รับรอง “ปศุสัตว์ OK”.