เปิด 4 แผนวัคซีนโควิดประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565

แผนบริหารจัดการวัคซีน ก.พ. 2565
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก CVC กลางบางซื่อ

กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ เสนอ 4 แผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

วันที่ 20 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม

ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จำแนกเป็น 4 แผนงาน ดังนี้

1.แผนบริการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี

แผนการรับมอบวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้มจากบริษัทผู้ผลิต 

  • ในทวีปเอเชีย ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ถัดจากประเทศสิงคโปร์ ที่จะได้รับการส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้มในเด็ก 5-11 ขวบ โดยจะเริ่มเข้ามาในช่วงปลายเดือนมกราคม และทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
  • แผนการรับมอบไฟเซอร์ในไตรมาสที่ 1/2565 เป็นวัคซีนผู้ใหญ่ (ฝาสีม่วง) จำนวน 3.5 ล้านโดส

แผนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับเด็ก (ฝาสีส้ม) ในประเทศไทย 

  • ลอตแรก จัดสรรให้สถานพยาบาลสำหรับกลุ่มอายุ 5-11 ปีที่โรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่ไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนผ่านระบบสถานศึกษา โดยให้กุมารแพทย์เป็นผู้พิจารณาฉีด
  • ลอตถัดไป ดำเนินการผ่านระบบสถานศึกษา จัดสรรให้เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในทุกจังหวัดเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจัดสรรให้นักเรียนชั้นปีอื่นถัดไปตามลำดับ
  • การจัดสรรวัคซีนเป็นไปตามสัดส่วนของนักเรียนในแต่ละจังหวัด
  • มีการสำรองวัคซีนในส่วนกลางไว้ใช้กรณีฉุกเฉินหรือมีการระบาดในพื้นที่
  • การจัดสรรวัคซีนสำหรับการฉีดในสถานพยาบาลให้ใช้สำหรับเด็กป่วย หรือเด็กที่เรียนผ่านระบบ Homeschool เท่านั้น

คำแนะนำการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก สูตรฝาส้ม จากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย: เด็กอายุ 5-11 ปี ให้ฉีดวัคซีนชนิดไฟเซอร์ สูตรสำหรับเด็ก ขนาด 10 ไมโครกรัม ปริมาณ 0.2 มล. เข้ากล้าม 2 ครั้ง ห่างกัน 3-12 สัปดาห์ โดยระยะห่าง 8-12 สัปดาห์ จะดีกว่า 3-4 สัปดาห์

2.พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว-พื้นที่ระบาด 10 จังหวัด

แผนการรณรงค์เร่งรัดการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ในจังหวัดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวและพื้นที่ระบาดเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเปิดการเดินทาง วัตถุประสงค์ดังนี้

  1. เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวและพื้นที่ระบาด
  2. เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่
  3. เพื่อให้พื้นที่สามารถเปิดการเดินทาง และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว

ประชากรเป้าหมาย: ประชากรทุกสัญชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

พื้นที่เป้าหมาย แบ่งเป็น 2 กลุ่มจังหวัด จำนวน 10 จังหวัด ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวที่เปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา
  • กลุ่มที่ 2 พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว หรือมีการระบาด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี กาญจนบุรี และปทุมธานี

ระยะเวลาดำเนินการ: วันที่ 17-31 มกราคม 2565 และอาจขยายไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์

ชนิดวัคซีน: วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ สำหรับเข็มกระตุ้น

*ขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมให้ในบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้าและประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง เป็นประชากรทุกคน

จำนวนเป้าหมายในการฉีด: วัคซีนเข็มกระตุ้น ในประชากรจำนวนประมาณ 2.5 ล้านคน

ขั้นตอนการดำเนินงาน: ให้กระจายจุดฉีดให้ทั่วถึงในทุกจังหวัด มีจุดฉีดที่ระดับ รพ.สต./คลินิกเวชกรรม โดยมีวัคซีนพร้อมในทุกพื้นที่ รวมถึง รพ.สต. (ตอนนี้ได้จัดส่งวัคซีนให้พื้นที่แล้วประมาณ 1 ล้านโดส)

3.แผนการส่งคืนวัคซีนแลกเปลี่ยนคืนต่างประเทศ

  • ส่งคืนประเทศสิงคโปร์ และภูฏาน (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

4.แผนการบริจาควัคซีนแก่ต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศนำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

  • ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในทวีปแอฟริกา ผ่านโครงการ African Vaccine Association Trust (AVAT) หรือองค์การอนามัยโลก
  • ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ
  • จำนวนประมาณ 5-10 ล้านโดส

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: