ทำความรู้จักโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 หรือสายพันธุ์ล่องหน ติดเชื้อในไทยสะสมต่อเนื่อง กระจายเชื้อเร็วกว่า BA.1 ถึง 1.4 เท่า
วันที่ 24 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์โอมิครอน หรือ BA.2 พบสัดส่วนการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขว่า พบสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย
“ประชาชาติธุรกิจ” พาผู้อ่านทำความรู้จักกับโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 รวมถึงอาการ และประสิทธิภาพความรวดเร็วในการแพร่เชื้อ
โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 คืออะไร
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เมื่อไวรัสเกิดสายพันธุ์หลัก ก็จะมีสายพันธุ์ย่อยตามมา โดยในกรณีของโอมิครอน มีสายพันธุ์ย่อย คือ BA.2 และ BA.3
ในส่วนของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ถูกนำมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วทั้งสิ้น 10,811 ราย (<0.5%) พบในประเทศไทย 2 ราย (1%)
สายพันธุ์ย่อย BA.2 บางครั้งยังถูกเรียกว่า สายพันธุ์ล่องหน (Stealth Variant) เพราะสามารถตรวจ RT-PCR ได้ครบทั้งสามยีนส์ ทำให้แยกไม่ออกระหว่าง “เดลต้า” กับ “BA.2” เพราะเดลต้าก็ตรวจ RT-PCR ได้ครบทั้งสามยีนส์เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังพบว่า BA.2 กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่าง “อู่ฮั่น” มากที่สุดประมาณ 70-80 ตำแหน่ง แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนทางคลินิกว่า มีอาการรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์หลัก BA.1 หรือไม่ แต่คาดคะเนจากข้อมูลทางระบาดวิทยาว่า อาจแพร่ติดต่อได้เร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์หลักอยู่บ้าง
BA.2 อาจกระจายเชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์หลัก
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (24 ม.ค. 65) ถึงโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไว้ว่า ตอนนี้มีรายงานว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยดังกล่าว กำลังพบมากขึ้นในหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก อินเดีย สิงคโปร์ สวีเดน สหราชอาณาจักร
ขณะที่ข้อมูลประสิทธิภาพของสายพันธุ์ดังกล่าว ยังมีไม่มากพอที่จะระบุได้ว่า จะมีความรุนแรง และการดื้อต่อวัคซีน แตกต่างจากสายพันธุ์หลัก BA.1 ที่กำลังระบาดทั่วโลกหรือไม่ แต่อัตราการแพร่เชื้อ เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจไวกว่าสายพันธุ์หลัก BA.1
ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ถึงโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ว่า
โอมิครอนมีความหลากหลายมากกว่าที่คิด ซึ่งข้อมูลที่เริ่มออกมาจะทำให้คาดการณ์ได้จากไวรัสที่กำลังปรับตัว ให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุด ไม่รวมกับสายพันธุ์ BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.1 ที่ดูเหมือนจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วเช่นเดียวกัน
ยังระบุไม่ได้ กระจายเชื้อเร็วแค่ไหน
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ระบุว่า องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า BA.2 สามารถกระจายเชื้อได้เร็วแค่ไหน แต่ประสิทธิภาพความรุนแรง ไม่แตกต่างจาก BA.1 โดยเบื้องต้นจากข้อมูลพบว่า BA.2 จะแพร่เชื้อเร็วกว่า BA.1 ถึง 1.4 เท่า ถอดหน้ากากเมื่อไร สามารถติดเชื้อได้ทันที
BA.2 ดื้อวัคซีนหรือไม่
ส่วนประสิทธิภาพในการต่อต้านวัคซีนของสายพันธุ์ BA.2 นายแพทย์ศุภกิจระบุว่า มีการดื้อวัคซีนขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่สิ่งที่พบคือ ยาโมโนโคนอลแอนติบอดี้ ยารักษาโควิดที่มีราคาแพงมาก สามารถรักษาโควิดสายพันธุ์อื่นได้ รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1
แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถรักษาโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้ แต่ยารักษาอื่น ๆ อย่าง ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจรยังรักษาได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อแนวทางการรักษาอื่น ๆ
ติดเชื้อ BA.2 ในไทยแล้วเท่าไร
สำหรับข้อมูลการพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2 ในประเทศไทย แบ่งตาม 13 เขตสุขภาพ รวมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดังนี้
- เขตสุขภาพที่ 1 พบ 43.18%
- เขตสุขภาพที่ 2 พบ 69.77%
- เขตสุขภาพที่ 3 พบ 36.36%
- เขตสุขภาพที่ 4 พบ 63.79%
- เขตสุขภาพที่ 5 พบ 45%
- เขตสุขภาพที่ 6 พบ 50.54%
- เขตสุขภาพที่ 7 พบ 48.28%
- เขตสุขภาพที่ 8 พบ 40.43%
- เขตสุขภาพที่ 9 ไม่พบข้อมูลส่วนนี้ เนื่องจากต้องส่งตัวอย่างเพิ่มเติม
- เขตสุขภาพที่ 10 พบ BA.2 ที่ 50%
- เขตสุขภาพที่ 11 พบ 53.85%
- เขตสุขภาพที่ 12 พบ 70.59%
- เขตสุขภาพที่ 13 พบ 52.52%