โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 พบในไทยแล้ว 14 ราย

โอไมครอน ผู้สร้างวัคซีนโควิด เผย อาจร้ายแรงกว่าที่ผ่านมา
ภาพจาก pixabay

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ในไทยติดแล้ว 14 ราย เสียชีวิต 1 ราย กรมวิทย์ฯ วอนอย่าตื่นตระหนก คาดไม่แตกต่างจาก BA.1 มาก ย้ำเฝ้าระวังเข้มงวด แนะผู้สูงอายุรีบรับบูสเตอร์โดส

วันที่ 26 มกราคม 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ว่า ขณะนี้พบโอมิครอน BA.2 แล้วราว 14 ราย ซึ่งเริ่มเห็นสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ก่อน จนวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแน่ชัดจึงยืนยันใน GISAID

สำหรับความกังวลด้านการแพร่ระบาดเร็วและความรุนแรงนั้น เรียนว่าข้อมูลปัจจุบันยังน้อยเกินไปที่จะสรุป ทว่าหากสัดส่วนเปลี่ยน จากเดิม 2% ขึ้นเป็น 5-10% ในเวลาถัดมาก็ต้องจับตา เพราะอาจแพร่เร็วกว่า ส่วนอาการหนักจากดูข้อมูล 14 ราย พบว่า เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ติดเชื้อในประเทศ 5 ราย โดยติดเชื้อในประเทศมี 1 รายเสียชีวิต เป็นผู้ป่วยติดเตียงและมีโรคประจำตัว

เบื้องต้น หากดูในภาพรวมผู้เสียชีวิตจากโอมิครอนมีทั้งหมด 7 คน จากข้อมูลทั้งหมดกว่า 7 พันเรคคอร์ด คิดเป็น 0.1% ถือว่าการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ส่วนกลุ่มอาการหนักยังมีไม่มาก ซึ่งกรมการแพทย์กำลังทำรายละเอียดอยู่

ขณะที่กรณีเดลต้าซึ่งมีกว่า 127 สายพันธุ์ย่อย ประเทศไทบเคยพบ เดลต้าพลัสที่มีการเปลี่ยนพันธุกรรมจุด K417N ส่งผลให้หลบวัคซีนได้มากขึ้น แต่จำนวนที่ตรวจพบก็ไม่มากมาย ไม่ได้เพิ่มจำนวน ซึ่งไม่ได้มีความน่าห่วงกังวลอะไร ส่วน AY 4.2 ที่มีการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งก็ไม่ได้ทำให้มีอิทธิฤทธิ์อะไร แต่เมื่อปรากฎให้เห็นเราก็เก็บข้อมูล

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า เดลต้าสายพันธุ์ย่อยที่พบมากสุด ได้แก่ AY 85 ในไทยพบถึง 49% จากเดลต้าโดยรวมทั้งหมด แต่เราเจอไม่มากนัก และท้ายสุดจะถูกแทนด้วยโอมิครอน ส่งผลให้การกลายพันธุ์ไม่มีความหมาย เพราะคนติดเชื้อโอมิครอนหมดแล้ว ประกอบกับกรมวิทย์ฯ มีระบบการเฝ้าระวังที่เข้มงวด และไวพอที่จะจับสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวนั่นเอง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. เป็นต้นไปโอมิครอนจะกลายเป็นสายพันธุ์ส่วนใหญ่ในไทย อาจมีการติดเชื้อง่ายขึ้น แต่อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตน้อยลง ดังนั้นการบูสเตอร์โดสฉีดวัคซีนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจาก ภูมิคุ้มกันมีมากพอ โอกาสตายจะน้อยลง ซึ่งต้องขอให้กลุ่มเป้าหมายอย่างผู้สูงอายุเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วที่สุด

ส่วนข้อกังวลด้านโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะทำให้มีการกลายพันธุ์มากขึ้นหรือไม่นั้น เรียนว่าข้อมูลจากทั่วโลกพบติดเชื้อโอมิครอน BA.2 ประมาณ 2.1 หมื่นรายเท่านั้น ส่วนโอมิครอน BA.1 อีก 4.2 แสนราย คิดเป็น 1 ใน 40 ของโอมิครอนทั้งหมดหลายสิบล้านรายทั่วโลก

โดยประเทศไทยพบ 14 ราย ใน 1 หมื่นราย ยังไม่มาก ยังต้องจับตาต่อไป แต่คาดว่าไม่น่าจะเหนือกว่าโอมิครอน BA.1 อย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ สำหรับกรณีการเฝ้าระวังโควิดจากชายแดน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ซึ่งได้รับการระบาดมาจากอินเดีย และมีหลายฝ่ายระบุต้องเฝ้าระวัง ตอนนี้ดรายังเฝ้าระวังอยู่ เนื่องจากการลักลอบข้ามแดนโดยไม่มีการตรวจอะไรเลยเป็นเรื่องที่น่ากลัว และต้องขอความร่วมมือจากทุกคนให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา