ถอดบทเรียนเหตุน้ำมันดิบรั่วไหล 2556 เกิดอะไรขึ้นบ้างที่อ่าวพร้าว

ย้อนรอยเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว เมื่อปี 2556 เกิดอะไรขึ้นบ้างที่อ่าวพร้าว จังหวัดระยอง ถอดบทเรียนรับมือเหตุการณ์ล่าสุด 

วันที่ 27 มกราคม 2565 กรณีเกิดเหตุน้ำมันดิบของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง รั่วไหล  20–50 ตัน บริเวณห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จังหวัดระยอง ประมาณ 20 กิโลเมตร ต่อมาทางบริษัทแจ้งว่าสามารถควบคุมปริมาณคราบน้ำมันให้อยู่ในวงจำกัด และยังคงมีปริมาณน้ำมันอยู่ในทะเลประมาณ 5.3 ตัน

ภาพจากเฟซบุ๊ก สาธิต ปิตุเตชะ

ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ตรวจสอบทิศทางลม บริเวณอ่าวมาบตาพุด ด้วยแบบจำลอง Global Forecast System หรือ GFS พบว่าระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2565 ทิศทางลมมีแนวโน้มเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีระดับความเร็วลมเฉลี่ยอยู่ในช่วง 5-15 เมตร/วินาที ลักษณะดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งเมืองระยอง ชายหาดแม่รำพึง และพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง

การดำเนินการของ “สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง”

หลังเกิดเหตุ ทีมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ควบคุมสถานการณ์ตามขั้นตอนการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และได้ทำการหยุดกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมดตามขั้นตอนความปลอดภัย สามารถควบคุมได้และหยุดการรั่วไหลตั้งแต่เวลา 00.18 น.ของวันที่ 26 มกราคม และได้ดำเนินการใช้เรือฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน ต่อมาในช่วงเช้าจึงมีการสำรวจบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อประเมินสถานการณ์

จากนั้นจึงได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมสิ่งแวดล้อม (EMCC), ศูนย์บัญชาการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและกระจายข่าว (EIC), ชุมชนกลุ่มประมงใกล้เคียง, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล. ภาค 1) และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี ซึ่งประกอบด้วยกำลังพล เรือ และน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน เพื่อใช้ในการขจัดคราบน้ำมัน

ทัพเรือเร่งสกัด-ลาดตระเวน

ด้าน พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า กองทัพเรือ ได้สั่งการให้ ทัพเรือภาคที่ 1 ส่งเครื่องบินลาดตระเวน ขึ้นบินสำรวจคราบน้ำมันทางอากาศ และจัด เรือ ต.273 กับเรือ ต.228 ออกตรวจสอบ คราบน้ำมันบนผิวน้ำ นอกจากนั้นได้จัดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ขึ้นบินตรวจสอบทิศทางการรั่วไหลของคราบน้ำมัน รวมถึงนำสารเคมี DASIC international SLICKGONE ขึ้นไปโปรยบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ หน้าท่าเรือมาบตาพุด

นอกจากนั้นยังได้เตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์พร้อมในการสนับสนุนหน่วยต่าง ๆ ในการขจัดคราบน้ำมัน รวมถึงได้จัดตั้ง ศูนย์ควบคุมปฏิบัติในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 แล้ว (ศคปน.ทรภ.1)

ถอดบทเรียนน้ำมันดิบรั่วเข้าฝั่งที่อ่าวพร้าวปี 2556

อย่างไรก็ตาม การรั่วไหลของน้ำมันดิบครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในประเทศไทย เพราะเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลครั้งใหญ่ “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปย้อนรอยเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อถอดบทเรียนให้กับเหตุการณ์ล่าสุด

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เกิดเหตุน้ำมันดิบ 50,000 ลิตร ของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) รั่วไหลจากท่อส่งกลางทะเลอ่าวไทย กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ 9 ตร.กม. ก่อนเคลื่อนตัวเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม-หมู่เกาะเสม็ด โดยอ่าวพร้าว เป็นบริเวณที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด

รายงานจากศาลปกครองระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้หาดทรายมีสีดำกลิ่นเหม็นน้ำมันตลอดแนวชายหาด รวมทั้งน้ำทะเลบริเวณอ่าวพร้าวเต็มไปด้วยคราบน้ำมัน จึงจำเป็นต้องปิดอ่าวพร้าวเป็นการชั่วคราว หน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขสถานการณ์เบื้องต้นได้วางแนวทุ่นซับน้ำมันในทะเลและใช้เรือใหญ่ดึงแนวกั้นทั้งอ่าวเพื่อป้องกันการกระจายตัวก่อนจะทำการดูดคราบน้ำมันใส่แกลลอน แล้วนำขึ้นฝั่ง

พร้อมจัดแผ่นซับมาเก็บคราบน้ำมันทั่วชายหาด รวมทั้งได้ใช้เรือและเครื่องบินฉีดพ่นสารเคมีสลายคราบน้ำมันโดยทัพเรือภาคที่ 1 กรมเจ้าท่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง และหน่วยงานอื่น ๆ ได้เข้าร่วมมือในการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว ต้องใช้ทีมเจ้าหน้าที่เร่งขจัดคราบน้ำมันตลอด 24 ชั่วโมง

การฟ้องร้องของชาวบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์นี้ต้องใช้เวลาพอสมควรในการพลิกฟื้นวิถีชีวิต นำมาสู่การฟ้องร้องของชาวบ้าน มีชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยว ในพื้นที่อ่าวระยองกว่า 400 ราย ยื่นฟ้องแพ่งต่อ PTTGC เรียกค่าเยียวยาจากความเสียหาย

รวมถึงฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ ต่อศาลปกครอง ฐานไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษ บรรเทาผลกระทบที่เกิดแก่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงชดเชยค่าเสียหายให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและความเป็นจริงอย่างเป็นธรรม

การฟ้องร้องทั้ง 2 คดี ในทางแพ่งศาลอุทธรณ์ตัดสินเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 สั่งให้บริษัทชดเชยชาวประมง 150,000 บาท จากเดิม 90,000 บาท และผู้ประกอบการท่องเที่ยว 120,000 บาท

แต่คดีทางปกครอง เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ศาลปกครองระยองยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า หน่วยงานที่ถูกฟ้อง ไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดเหตุ และมีการติดตามแก้ปัญหา และสำรวจในช่วงปี 2556-2557 ซึ่งต้องสู้กันอีกยกในชั้นศาลปกครองสูงสุดต่อไป

น้ำมันดิบอันตรายอย่างไร

เว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ให้ความหมายของน้ำมันดิบว่า เป็นปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง สถานะตามธรรมชาติเป็นของเหลว ประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ แบ่งเป็น 3 ชนิด ตามคุณสมบัติ และชนิดของไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบอยู่ คือ น้ำมันดิบฐานพาราฟิน น้ำมันดิบฐานแนฟทีน และน้ำมันดิบฐานผสม

น้ำมันดิบทั้ง 3 ชนิด เมื่อนํามากลั่นแล้ว จะให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นปิโตรเลียมที่อยู่ในสถานะก๊าซที่สภาพแวดล้อมบรรยากาศ

สำหรับอันตรายจากการสัมผัสน้ำมันดิบที่รั่วไหลในทะเล เว็บไซต์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การสัมผัสโดยตรงทางผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง เป็นผื่นคัน แสบร้อน บางกรณีอาจเกิดเป็นบาดแผลและติดเชื้อได้ และหากซึมเข้าสู่ผิวหนัง มีโอกาสสะสมเป็นโรคมะเร็งผิวหนังในอนาคต

การสูดดม จะทำให้ปอดได้รับสารพิษ เกิดอาการปอดอักเสบ โรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนการดูดซึมทางร่างกายอาจจะทำให้สารพิษไปสะสมในไตจนเกิดภาวะไตเสื่อมและไตวายได้

ความกระทบกระเทือนทางระบบประสาท ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาพร่า หัวใจเต้นผิดปกติ และมีเลือดออกจากอวัยวะต่าง ๆ

หากได้รับสารพิษเป็นระยะเวลานานและในระยะยาวอาจเกิดอันตรายถึงขั้นสารพิษทำลายระบบประสาทการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถทรงตัวและไม่สามารถเดินได้เป็นปกติ และอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งในที่สุด

และหากไปสัมผัสน้ำมันดิบแล้วมีอาการเหล่านี้ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วิงเวียนสั่น มีอาการชัก มีไข้ หรือไอ หายใจลำบาก หายใจสั้นไม่เต็มปอด เหนื่อยหอบ หายใจแล้วเจ็บหน้าอก หรือตาอักเสบ ปวดตา มีขี้ตามาก หรือผิวหนังอักเสบมีเชื้อโรคหนอง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

ภาพจาก กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม-ท่องเที่ยว

ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง รายงานว่าข้อมูลจากฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล เรื่องน้ำมันรั่วไหล (Oil Spill) ของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า น้ำมันที่รั่วไหลสู่แหล่งน้ำจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพ ทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เริ่มจากน้ำมันบางส่วนระเหยไป น้ำมันที่เหลือจะเปลี่ยนสภาพไปตามคุณสมบัติเฉพาะของชนิดน้ำมันนั้น ๆ และปัจจัยต่าง ๆ เช่น แสงแดด กระแสน้ำ อุณหภูมิ ฯลฯ

คราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง และปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชน้ำต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงสภาวะการย่อยสลายของแบคทีเรียในน้ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดล้วนส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น (ปลา สัตว์หน้าดิน ปะการัง ฯลฯ) รวมถึงนกน้ำด้วย เกิดการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหารที่เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิต (แพลงก์ตอนพืช) ผู้บริโภคขั้นต้น (แพลงก์ตอนสัตว์/ปลา) จนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้ายซึ่งก็คือมนุษย์

คราบน้ำมันยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประมงและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เช่น สัตว์น้ำตายจากคราบน้ำมัน ขาดออกซิเจน ชายหาดสกปรกจากคราบน้ำมัน ทำลายทัศนียภาพ มีกลิ่นเหม็น ไม่เหมาะกับการท่องเที่ยวและพักผ่อน ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่นและระดับประเทศ

ความรุนแรงของผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งชนิดของน้ำมัน ปริมาณที่รั่วไหล สภาพภูมิศาสตร์ของบริเวณที่เกิดรั่วไหล กระแสน้ำ กระแสลม การขึ้น-ลงของน้ำทะเล ตลอดจนความหลากหลายและความสมบูรณ์ของทรัพยากรรอบ ๆ บริเวณนั้น