สรุปปมไส้กรอกพิษ ทำเด็กป่วยอื้อ พร้อมเปิดชื่อแบรนด์ไร้มาตรฐาน

การผลิตไส้กรอกของโรงงาน จ.ชลบุรี ที่ไม่ได้มาตรฐาน ภาพจากข่าวสดออนไลน์

ไล่เรียงดราม่า ไส้กรอกพิษ จากเคสเด็กป่วยหลายจังหวัด สู่ประกาศเตือนของ รพ.รามาธิบดี รัฐปูพรมตรวจ-ทลายคลังแสง ผงะ! กระบวนการผลิตสุดจะทน พร้อมเปิดชื่อแบรนด์อันตราย

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุการณ์เด็กในหลายจังหวัดรับประทานไส้กรอกแล้วมีอาการตัวซีด หายใจลำบาก และเหนื่อยง่าย ต่อมาพบว่าเป็นภาวะอาการเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) ซึ่งมีต้นตอจากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกไม่มียี่ห้อ ไม่ได้รับการรับรองจาก อย. และไม่ระบุแหล่งที่มาหรือผู้ผลิต

รามาฯโพสต์เตือน

เรื่องราวของไส้กรอกไม่ได้มาตรฐาน เริ่มจากเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้โพสต์ข้อความว่า อย่ากินไส้กรอกจากแหล่งที่ไม่แน่ชัดหรือไม่น่าเชื่อถือ สัปดาห์ที่ผ่านมี เด็กป่วยด้วยภาวะ เมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด เชียงใหม่ 2 ราย, เพชรบุรี 1 ราย, สระบุรี 1 ราย, ตรัง 1 ราย, กาญจนบุรี 1 ราย

ทั้ง 6 รายมีประวัติกินไส้กรอกซึ่งไม่มียี่ห้อ ไม่มีเอกสารกำกับ อาการของผู้ป่วยคือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาจหมดสติได้ เหนื่อย หายใจเร็ว เขียว ระดับออกซิเจนที่วัดปลายนิ้วต่ำ ในขณะนี้ยังไม่มีรายใดที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต

ภาวะ Methemoglobin เป็นภาวะที่ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงถูกออกซิไดช์โดยสารออกซิแดนต์ต่าง ๆ กลายเป็น methemoglobin ทำให้สูญเสียความสามารถในการขนส่งออกซิเจน และสีของเม็ดเลือดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ

ผู้ป่วยจะมีอาการของการขาดออกซิเจน เช่น มึนศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว เขียว หากรุนแรงจะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เลือดเป็นกรด ความดันโลหิตต่ำและเสียชีวิตได้

ADVERTISMENT

โดยสารออกซิแดนต์ที่อาจมีการเติมในไส้กรอกหรืออาหารแปรรูปคือสารตระกูลไนเตรต และไนไตรต ซึ่งเป็นวัตถุกันเสีย

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ. 2547) ได้กำหนดปริมาณที่อนุญาตให้ใช้โซเดียมไนไตรตและโซเดียมไนเตรตในอาหารได้ไม่เกิน 125 และ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ กรณีที่ใช้ทั้งโซเดียมไนไตรต์และโซเดียมไนเตรตให้มีปริมาณรวมกันได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ADVERTISMENT

ในการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานอาจมีการเติมสารไนเตรต-ไนไตรต เยอะกว่าปกติ หรืออาจผสมไม่ดีทำให้มีบางส่วนมีปริมาณสารสูงเกินกว่าที่ควรได้

โปรดเฝ้าระวังการบริโภคไส้กรอกจากแหล่งที่ไม่แน่ชัด/ไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในเด็กเนื่องจากเด็กจะไวต่อสารกลุ่มนี้มากกว่าผู้ใหญ่ หากมีอาการผิดปกติ ควรไปตรวจที่ รพ. หากทาง รพ. สงสัยภาวะ methemoglobinemia สามารถปรึกษา ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีได้ที่ 1367 ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะนี้ทางศูนย์​​ ประสานกองระบาดวิทยา​ กรมควบคุมโรค​ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อดำเนินการสืบค้นแหล่งที่มาของการระบาดเพิ่มเติมแล้ว

เนื้อหาเพิ่มเติม : ปกติร่างกายคนเราได้รับสารออกซิแดนต์ในขนาดน้อย ๆ จากแหล่งต่าง ๆ อยู่แต่ไม่เกิดปัญหาเพราะร่างกายสามารถเปลี่ยน methemoglobin กลับเป็นฮีโมโกลบินปกติได้

แต่หากมีปริมาณ methemoglobin สูงมาก ๆ (ได้รับสารออกซิแดนต์เยอะเกินไป) ร่างกายจะเปลี่ยน methemoglobin คืนเป็นฮีโมโกลบินปกติไม่ทัน นำไปสู่ภาวะขาดออกซิเจน

ในเด็กความสามารถในการเปลี่ยน methemoglobin กลับเป็นฮีโมโกลบินปกติจะน้อยกว่าในผู้ใหญ่ เด็กจึงเกิด methemoglobin ได้ง่ายกว่า การตรวจเบื้องต้นจะพบว่าระดับออกซิเจนที่วัดปลายนิ้วจะต่ำอาจต่ำ 80-85% ได้

แต่เมื่อเจาะตรวจ arterial blood gas จะพบว่าระดับออกซิเจนอยู่ในระดับปกติ เรียกความแตกต่างของการพบระดับออกซิเจนที่ต่างกันจากการตรจทั้งสองวิธีว่า oxygen saturation gap ซึ่งอาจพบในภาวะอื่นได้ด้วย

ในที่ ๆ ตรวจ arterial blood gas ไม่ได้ สามารถทำ bedside test โดยเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำของผู้ป่วยมาพ่นออกซิเจน 2 LPM นาน 2 นาที

ในคนปกติเลือดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อได้รับออกซิเจน แต่หากเป็นผู้มี methemoglobin เลือดจะยังคงเป็นสีดำ

การตรวจยืนยันจำเพาะ สามารถระดับ methemoglobin ด้วย co-oximeter (ในเครื่อง arterial blood gas บางรุ่นจะพัฒนาการตรวจส่วนนี้เข้าไปด้วย)

การรักษาคือหยุดการได้รับสาร ให้ออกซิเจน และในรายที่รุนแรงอาจาพิจารณาใช้ยา methylene blue (มีในระบบยาต้านพิษ) ในผู้ป่วยบางรายอาจมีเม็ดเลือดแดงแตกรุนแรงจากการได้รับสารออกซิแดนต์ร่วมด้วยต้องมีการติดตามระดับเกลือแร่ ให้สารน้ำและเลือดทนแทน

เชียงใหม่-ตรังรุดตรวจ

หลังจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีได้โพสต์ข้อความ แต่ละจังหวัดที่ถูกระบุว่ามีเด็กป่วยจากภาวะข้างต้นก็ลงพื้นที่ตรวจหาไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ข่าวสด รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 นางนฤมล ขันตีกุล เภสัชกรเชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร เขตสุขภาพที่ 1 ศูนย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับกองสาธารณสุขเทศบาลนครเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจเฝ้าระวังไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อ ไม่มีอย. ไม่มีฉลากระบุที่มา ที่ตลาดเมืองใหม่ ต.ช้างม่อย อ.เมืองเชียงใหม่

โดยเก็บตัวอย่างและประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ผู้จำหน่ายในพื้นที่ตลาดเมืองใหม่ เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการนำมาจำหน่าย ผลการตรวจสอบไม่พบการจำหน่ายไส้กรอกดังกล่าว

สาธารณสุขเชียงใหม่ออกตรวจและเฝ้าระวัง หลังพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมตฮีโมโกลบินจากการกินไส้กรอกไม่มียี่ห้อ ไม่มีอย. ไม่มีฉลากระบุที่มา ที่ตลาดเมืองใหม่ ต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ภาพจากข่าวสดออนไลน์

อีกจังหวัดที่มีการลงไปตรวจหาไส้กรอกไม่ได้มาตรฐานคือ จ.ตรัง ข่าวสด รายงานเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตลาดคลองชี อ.วังวิเศษ จ.ตรัง เพื่อตรวจสอบร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลูกชิ้น ไส้กรอกแห่งหนึ่งที่จำหน่ายไส้กรอก แล้วมีเด็กอายุ 12 ปี รับประทานแล้วมีอาการป่วยเฉียบพลัน

เบื้องต้น การสอบสวนทางร้านรับไส้กรอกดังกล่าว 30 แพ็กต่อมาจากร้านค้าใน จ.นครศรีธรรมราช แต่วันที่ลงตรวจ ไส้กรอกส่วนใหญ่จำหน่ายหมดไปค่อนข้างมากแล้ว จึงได้เก็บตัวอย่างไส้กรอกแบบอื่นไปก่อน

สำหรับไส้กรอกยี่ห้อดังกล่าว เข้ามาใน จ.ตรัง ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2565 เป็นต้นมา รวมทั้งหมด 80 แพ็ก โดยพบว่า ร้านค้าใน อ.สิเกา รับมาทั้งหมด 10 แพ็ก จำหน่ายไป 5 แพ็ก เจ้าหน้าที่เก็บ 5 แพ็ก ส่วนร้านค้าใน อ.ห้วยยอด รับมา 40 แพ็ก แต่ทางร้านยังไม่ได้จำหน่าย เจ้าหน้าที่จึงเก็บส่งคืนบริษัท

ขณะที่ร้านค้าใน อ.วังวิเศษ รับมา 30 แพ็ก และจำหน่ายไปทั้งหมดแล้ว ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง จึงได้สั่งเฝ้าระวังเด็กเป็นพิเศษใน 3 อำเภอดังกล่าว ที่เด็กอาจจะป่วยจากการซื้อไปรับประทานก่อนหน้านี้ ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้

สาธารณสุขจังหวัดตรังลงตรวจไส้กรอกไม่ได้มาตรฐาน ภาพจากข่าวสดออนไลน์

อย.-ปคบ.ทลายคลังไส้กรอกไม่มีมาตรฐาน

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สืบทราบว่าแหล่งผลิตของไส้กรอกที่ไม่มีมาตรฐานดังกล่าวมาจาก จ.ชลบุรี จึงมีการนำกำลังลงตรวจเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565

โรงงานดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ชลบุรี พบผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ทั้งไส้กรอก หมูยอ และลูกชิ้น ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารบบอาหาร สถานที่ผลิตก็ไม่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่กำกับการผลิตให้มีคุณภาพ อีกทั้งโรงงานไม่ผ่านมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมอีกต่างหาก

ส่วนไส้กรอกที่ผลิตก็พบว่า มีการใช้สารไนไตรต์แบบไม่มีการชั่ง ตวง วัด ทำให้มีค่ามาตรฐานเกินความปลอดภัยมาก จึงมีการแจ้ง 3 ข้อหา ได้แก่

  1. สถานที่ไม่ผ่านมาตรฐาน GMP ปรับ 10,000 บาท
  2. ใช้ฉลากไม่ถูกต้อง ไม่มี อย. ปรับ 30,000 บาท
  3. หากพบว่าสินค้าที่ส่งไปตรวจมีค่าสารเคมีเกินมาตรฐาน จะมีความผิดฐานอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท รวมถึงต้องสั่งปิดโรงงานและอายัดผลิตภัณฑ์ทั้งหมด

หลังจากนี้ จะมีการขยายผลไปยังโรงงานในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป เนื่องจากโรงงานที่ลงไปตรวจ ไม่ได้ซัดทอดถึงใครอีก

เปิดชื่อแบรนด์ไส้กรอกอันตราย

ต่อมามีการแถลงข่าวผลการตรวจโรงงานดังกล่าวโดย อย.และ ปคบ. ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เปิดเผยชื่อแบรนด์ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกและเนื้อสัตว์อื่น ๆ เช่น ลูกชิ้น และหมูยอ โดยมีชื่อดังนี้

ไส้กรอกเต็งหนึ่ง, หมูยอ บ.อุบล, หมูยอแม่จันตรี, หมูยออู๋ลี่เจี้ยน, หมูยอภูวดล, พรีเมี่ยมหมูยออุบล, พรีเมี่ยมไก่ยออุบล, หมูยอ-ไก่ยอจอมยุทธ, ไก่ยอเศรษฐี, ไก่ยอ ฤทธิ์ รสเด็ด, ลูกชิ้นสวัสดี, ลูกชิ้น บุญปาก, ลูกชิ้นหมูบ้านแหลม และ 888พรีเมี่ยม ยออุบลหนังหมู

หลังจากนี้ คงต้องรอการขยายผลของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า จะสามารถรื้อทิ้งกระบวนการผลิตไส้กรอกเถื่อนี้ได้หรือไม่ แต่เรา ๆ ในฐานะผู้บริโภคคงต้องรอบคอบขึ้นกับการหาซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปเหล่านี้มากขึ้นก่อนเป็นลำดับแรก