จับตาจุดพีกโควิดใหม่ 30,000 ราย ศบค.ยันเตียงกทม.-ปริมณฑลมีพอ

กทม.ตรวจ ATK
เครดิตภาพ : สำนักอนามัย-กทม.
อัพเดต 16 กุมภาพันธ์ เวลา 17.53 น.

จับตายอดผู้ป่วยโควิดรายใหม่บวกผลตรวจ ATK ขยับใกล้ 30,000 ราย หลังตัวเลขส่งสัญญาแนวโน้มเพิ่ม หวั่นมีปัญหาเตียงรองรับผู้ป่วย ขณะที่ ศบค.เผย กทม.รายงานที่ประชุม ศบค. ระบุอัตราใช้เตียงปัจจุบันอยู่ที่ 40% มีผู้ป่วยในระบบ Home Isolation หมื่นกว่าราย ยันรองรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดงได้ 

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงาน สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ประจำวันว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ 16,462 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 415,627 ราย หายป่วยแล้ว 309,757 รายและ เสียชีวิตสะสม 818 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,639,062 ราย หายป่วยแล้ว 2,478,251 ราย เสียชีวิตสะสม 22,516 ราย

ติดเชื้อรายใหม่ขยับใกล้ 30,000 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ของศบค.ตัวเลขวันนี้อยู่ที่ 16,462 ราย แต่หากรวมตัวเลผลตรวจการ ATK ของกรมควบคุมโรคจำนวน 11,816 ในวันนี้เข้าไปด้วย จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโดยรวมพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 28,278 รายแล้ว

ซึ่งเป็นตัวเลขที่ขยับเข้าไปใกล้เคียงกับตัวเลข ที่กระทรวงสาธารณสุขมีการคาดการณ์ก่อนหน้าว่าในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจพุ่งขึ้นไปแตะที่ระดับ 3 หมื่นรายได้ หากประชาชนย่อหย่อนไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้

“คาดว่าใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นบ้าง ขณะที่ในปลายเดือน ก.พ.-ต้นเดือน มี.ค. การแพร่ระบาดโควิดระลอกดังกล่าวจะเข้าสู่จุดพีก อาจติดถึง 3 หมื่นรายต่อวัน กรณีไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มขึ้น ส่วนตัวเลขนั้นจะอยู่นานเท่าไร ขึ้นอยู่กับการใช้มาตรการควบคุมโรค” นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ตัวเลขส่งสัญญาณ “ป่วยใหม่” พุ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเริ่มพบคลัสเตอร์ใหม่ ๆ หลายแห่ง  และบางแห่งเป็นคลัสเตอร์ค่อนข้างใหญ่ ทั้งคลัสเตอร์ตลาด พีธีกรรม งานบวช งานแต่ง โรงงาน  สถานศึกษา โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครตัวเลขเพิ่มถึงเท่าตัว  พบทั้งในแคมป์ก่อสร้าง สถานประกอบการ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงคลัสเตอร์โรงเรียน สถานศึกษา พบกว่า 13 แห่ง ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม ซึ่งเฉพาะคลัสเตอร์โรงเรียนยังพบอีกหลายจังหวัด เช่นที่นครราชสีมา ทำให้ต้องมีการปิดเรียนแบบออนไซต์ตามมา

นอกจากนี้จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่จัดทำเป็นกราฟออกมา เห็นชัดเจนว่าตั้งแต่ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีจังหวัดที่ต้องจับตามองอย่างน้อย 10 จังหวัด เนื่องจากมีแนวโน้มผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นแบบ double หรือเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว ได้แก่ กทม. จาก 9,434 เพิ่มเป็น 17,852 ราย สมุทรปราการจาก 4,662 เพิ่มเป็น 6,940 ราย ชลบุรีจาก 2,534 ราย เพิ่มเป็น 4,862 ราย นนทบุรี จาก 2,755 เพิ่มเป็น 4,398 ราย

รวมถึงยังมีอีกหลายจังหวัดที่อาจจะเพิ่มไม่ถึงเท่าตัว แต่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น เช่น ภูเก็ต นครราชสีมา ราชบุรี สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช และนครปฐม เป็นต้น (ตามกราฟ)

ทั้งนี้จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้มีข้อกังวลว่าระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องเตียงรองรับผู้ป่วยจะมีเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกของ ศบค. เปิดเผยว่า ในที่ประชุมของ ศบค.ชุดเล็กก็มีความเป็นห่วงเรื่องของเตียงผู้ป่วยที่จะรองรับเช่นกัน

แต่ตัวแทนจาก กทม.รายงานสถานการณ์ในที่ประชุมว่า แม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม แต่ยืนยันว่าศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยยังสามารถรองรับได้ ทั้งระบบ Home Isolation และ Community Isolation โดยตอนนี้ กทม.มีผู้ป่วยที่เข้าระบบ Home Isolation หรือแยกกักตัวที่บ้านรวมทั้งสิ้น 10,940 ราย อยู่ใน Community Isolation หรือศูนย์พักคอยแยกกักในชุมชนที่เปิดให้บริการ 27 แห่ง มีผู้เข้าไปรับบริการรับการรักษาแล้วทั้งสิ้น 1,144 ราย

“ถือได้ว่าศักยภาพในการรองรับทั้ง Home Isolation และ Community Isolation รวมทั้งเตียงผู้ป่วยสีแดง สีเหลืองในกทม.และปริมณฑลถือได้ว่าการใช้งานยังอยู่ที่ 40% ยังคงมีเตียงเหลือ แตสิ่งที่กระทรววสาธารณสุขมีความกังวลและฝากประชาสัมพันธ์คือเรื่องการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ซึ่งจะช่วยให้ทุกท่านลดความเสี่ยงจากอาการการป่วยหนัก รุนแรง และลดการเสียชีวิตลงได้ “ แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

สำหรับผู้มาขอรับวัคซีนล่าสุด ตัวเลข ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 52,842 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 44,312 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 206,430 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 15 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 120,520,771 โดส

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 52,876,077 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 49,300,254 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 18,344,440 ราย

อัพเดต 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด

สำหรับ 10 จังหวัดที่ติดเชื้อโควิดสูงสุดวันนี้ อันดับ 1.ยังเป็น กทม. จำนวน 2,891 ราย ซึ่งลดลงจากวานนี้ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3,000 ราย รวมสะสม 62,954 ราย รองลงมาเป็นสมุทรปราการ 994 ราย ชลบุรี 805 ราย นนทบุรี 661 ราย ภูเก็ต 496 ราย สมุทรสาคร 460 ราย นครราชสีมา 457 ราย นครศรีธรรมราช 402 ราย ปทุมธานี 382 ราย และราชบุรี 371 ราย โดย 5 จังหวัดแรกมียอดผู้ป่วยสะสมเกินกว่า 1.7 หมื่นราย นับตั้งแต่ต้นปี

ส่วนผู้เสียชีวิต 27 รายในวันนี้ เป็นชาย 12 ราย หญิง 15 ราย อยู่ในกรุงเทพมหานคร 8 ราย ภาคอีสานที่ขอนแก่น นครราชสีมา มุกดาหาร อุดรธานี และอุบลราชธานี รวม 7 ราย พิจิตร ลำปาง อุตรดิตถ์ รวม3 ราย ภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี รวม 4 ราย

ภาคกลางกับภาคตะวันออกอยู่ที่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และสระบุรี รวม 5 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงยังมาจากโรคบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงหลักยังคงติดจากคนใกล้ชิด คนรู้จัก และบุคคลในครอบครัว

สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้เดินทางเข้ามาแล้ว 96,344 คน พบติดโควิด 2,670 คน คิดเป็นอัตราส่วน 2.77% โดยระบบแซนด์บอกซ์มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 2,029 ราย จาก 38,521 คน คิดเป็นอัตราส่วน 5.27%

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 415,934,477 ราย อาการรุนแรง 85,227 ราย รักษาหายแล้ว 338,697,761 ราย และเสียชีวิต 5,856,490 ราย

ขณะที่อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับ 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 79,629,064 ราย 2. อินเดีย จำนวน 42,721,845 ราย 3. บราซิล จำนวน 27,664,958 ราย 4. ฝรั่งเศส จำนวน 21,877,555 ราย 5. สหราชอาณาจักร จำนวน 18,393,951 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 31 จำนวน 2,639,062 ราย