ยกแรก “วิ่งก่อน จ่ายทีหลัง M-Flow” ศักดิ์สยาม สั่งแก้ค่าปรับแพง

2 คน M-Flow

 

โกลาหลตั้งแต่ 8-9 วันแรกของการเปิดใช้เป็นทางการ ระบบด่านไร้ไม้กั้น หรือ M-Flow

โครงการนี้เปิดทดสอบระบบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ตอนนั้นแทบไม่มีคนสนใจ เหตุผลเพราะไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าผ่านทาง การทดสอบระบบเป็นเรื่องของ “กรมทางหลวง” ในฐานะเจ้าของโครงการ

จนกระทั่งตอนดึกเวลา 22.00 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 รอเทศกาลวาเลนไทน์จบลง เป็นฤกษ์ดีเดย์แกรนด์โอเพนนิ่ง M-FLow อย่างเป็นทางการ

ใหม่ถอดด้าม วิ่งก่อนจ่ายทีหลัง

ทั้งนี้ โครงการด่านไร้ไม้กั้น M-Flow เป็นงานนโยบายที่เป็นลิขสิทธิ์ทางการเมืองของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประเด็นอยู่ที่เปิดบริการ 7 วันแรก เริ่มเห็นเค้าลางของปัญหา โดยมีผู้ผ่านทางจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ลงทะเบียนสมัครสมาชิก M-Flow แต่มีการวิ่งผ่านด่าน 3-4 ช่องขวาสุด ที่กันพื้นที่ไว้เป็นด่าน M-Flow

ในขณะที่ M-Flow มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ระบบวิ่งก่อน จ่ายทีหลัง” หมายความว่าวิ่งผ่านด่านเก็บเงินไปก่อน จากนั้นระบบกำหนดให้จ่ายเงินทีหลังภายใน 2 วัน ถ้าเนิ่นนานกว่านั้นจะมีค่าปรับเกิดขึ้นตามกฎหมาย

ปรากฏว่าการออกแบบ M-Flow มีเป้าประสงค์ป้องกันความเสี่ยงให้ภาครัฐ 2 เรื่องหลัก 1.ต้องการให้ผู้ใช้ทางลงทะเบียนสมัครสมาชิกให้เข้าระบบมากที่สุด เพื่อสามารถตรวจสอบติดตามและมีฐานข้อมูลอย่างถูกต้อง

M-Flow

2.ป้องกันความเสี่ยงในเรื่องการหลีกเลี่ยงชำระหนี้ หรือการเบี้ยวหนี้ ดังนั้นจึงมีมาตรการค่าปรับแพง โดยถ่วงน้ำหนักคนที่เป็นสมาชิก M-Flow มีค่าปรับน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งหากมองอย่างเป็นธรรม มาตรการปรับแพงเป็นโมเดลที่ใช้ทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น การข้ามถนนหรือการจอดรถตามช็อปปิ้งมอลล์ในอเมริกา ถ้าข้ามผิดกฎ จอดรถผิดช่อง โดนค่าปรับ 200 เหรียญสหรัฐ หรือ 6,000 บาท

กรณีโครงการ M-Flow มีการตั้งค่าปรับสูงสุด 10 เท่า และเบี้ยปรับเพิ่มอีก 5,000 บาท โดยอาศัยอำนาจกฎหมาย 2 ฉบับหลัก คือ “พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน 2497” กับ “พ.ร.บ.ทางหลวง 2535”

อย่างไรก็ตาม มาตรการปรับแพง ลงโทษแพง ไม่เป็นที่คุ้นเคยของสังคมไทย ประกอบกับ M-Flow เป็นเรื่องใหม่มาก เพราะใช้เป็นครั้งแรกของประเทศ จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมสร้าง learning curved ไปด้วยกัน

มูลนิธิผู้บริโภคกระทุ้งค่าปรับแพง

ต่อมา 23 กุมภาพันธ์ 2565 “นฤมล เมฆบริสุทธิ์” ผู้บริหารมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกโรงกระทุ้ง M-Flow เพิ่งเปิดระบบใหม่ แต่คิดค่าปรับถึง 10 เท่าหากไม่จ่ายภายใน 2 วัน บีบให้ผู้บริโภคที่ไม่รู้ต้องจ่ายค่าปรับแบบนี้ ไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ

“การที่ผู้บริโภคจ่ายเลยเวลาที่กำหนด ไม่ได้หมายความว่าจะไม่จ่าย ควรจะมีระบบแจ้งเตือนให้จ่ายก่อนจะโดนค่าปรับ ซึ่งมีการแจ้งเตือนเฉพาะคนที่เป็นสมาชิก ส่วนคนที่ไม่เป็นสมาชิกจะทำหนังสือแจ้งส่งให้ทางที่อยู่ตามบัตรประชาชน ซึ่งอาจจะไม่ทันตามเวลาที่กำหนด”

จุดเน้นอยู่ที่การคิดค่าปรับถึง 10 เท่า เป็นภาระและเป็นการคิดค่าปรับที่สูง โดยเบี้ยปรับตามกฎหมายทั่วไป หรือ ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ 2558 กำหนดให้การคิดค่าติดตามทวงถามหนี้ต้องมีหนี้ค้างเกิน 1 งวด

ยืดเวลาจ่ายจาก 2 วันเป็น 7 วัน

ช่วงเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ “ศักดิ์สยาม” รมว.คมนาคม มีข้อสั่งการด่วนไปยังกรมทางหลวง 2 กรณี 1.ยกเว้นการปรับ 1 เดือน มีผลทันทีจนถึง 31 มีนาคม 2565 และ 2.คืนค่าปรับ 10 เท่าที่มีการชำระมาแล้วในกรณีรู้ตัวหลังเดดไลน์ 2 วัน

ดูเหมือนยังไม่พอ ตอนบ่ายวันเดียวกัน “รมว.ศักดิ์สยาม” เล็งเห็นแล้วว่า ข้อกำหนดที่ให้วิ่งผ่านด่านก่อนแล้วจ่ายทีหลังภายใน 2 วัน อาจมีความล่าช้าอยู่บ้างจากการเคลียร์เงินข้ามหน่วยงาน เพราะการจ่ายค่าผ่านทางมีออปชั่นให้เลือกหลากหลายช่องทางมาก

ดังนั้นจึงยืดเวลาจ่ายเงิน จากเดิมกำหนดจ่ายภายใน 2 วัน ขยายเป็นให้จ่ายภายใน 7 วัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนผู้ใช้ทางมีเวลาเพียงพอในการจ่ายเงิน และไม่เกิดปัญหาเบี้ยวหนี้ในภายหลัง

ขณะที่ “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง ฝากประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ใช้ทาง สมัครลงทะเบียนเป็นสมาชิกระบบ M-Flow ผ่านทาง Line OA โดยเพิ่มเพื่อนในไลน์ @mflowthai แล้วกดเลือกช่องสมัครเป็นสมาชิก โดยจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต

ซึ่งวิธีนี้สามารถสมัครได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาทีเท่านั้น รวมทั้งไม่มีเอกสารที่ยุ่งยาก สมาชิกจะได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ส่วนลด และโปรโมชั่นต่าง ๆ ผ่านทาง Line OA นี้

หากสงสัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.ติดต่อได้ที่ call center มอเตอร์เวย์ โทร. 1586 กด 1