กทม.ปลุกลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเทา เชื่อมต่อ 5 รถไฟฟ้าสายหลัก

รถไฟฟ้าสายสีเทา

กทม.จัด Market Sounding รถไฟฟ้าสายสีเทา เปิดโอกาสภาคเอกชนร่วมลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางไร้รอยต่อ

วันที่ 17 มีนาคม 2565 นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาและการทดสอบความสนใจของภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding Seminar) โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อเพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ ด้านวิศวกรรมเศรษฐศาสตร์การเงินการลงทุน และด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวทางการลงทุนและความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน

พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและจัดทำโครงการ ให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากนักลงทุนภาคเอกชน สถาบันทางการเงิน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการสัมมนา

การสัมมนาในครั้งนี้ ที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาข้อมูลโครงการและรูปแบบการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้

โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ จัดเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

แนวเส้นทางของโครงการ มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับรามอินทรา เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีวัชรพล จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งลงใต้ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรมฝั่งทิศทางขาออก ผ่านถนนอยู่เย็นถนนสุคนธสวัสดิ์ ข้ามถนนเกษตรนวมินทร์ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่สถานีคลองลำเจียก ผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีฉลองรัช และผ่านถนนพระราม 9 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีพระราม 9

จากนั้น แนวเส้นทางจะยกข้ามรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเพชรบุรี และเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีทองหล่อที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสุขุมวิท) ระยะทางรวมทั้งหมด 16.3 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานี 15 สถานี และศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) 1 แห่ง โดยใช้ระยะเวลาในการเดินทางไป – กลับ ประมาณ 62 นาที คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 8,000 – 30,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินการวิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

1. PPP Net Cost รัฐเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด รวมถึงเป็นผู้จัดซื้อขบวนรถและก่อสร้างงานระบบ และเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ และการลงทุนอื่นๆ ที่จำเป็น โดยรัฐให้สิทธิ์แก่เอกชนเป็นผู้รับรายได้และเอกชนจ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งของรายได้แก่รัฐ

2. PPP Gross Cost รัฐเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด รวมถึงเป็น

ผู้จัดซื้อขบวนรถและก่อสร้างงานระบบ และเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ และการลงทุนอื่นที่จำเป็น โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้และนำส่งให้รัฐ และรัฐจะจ่ายผลตอบแทนให้แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้าง ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน

3. PPP Modified Gross Cost รัฐเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมดรวมถึงเป็นผู้จัดซื้อขบวนรถและก่อสร้างงานระบบ และเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ และการลงทุนอื่นที่จำเป็น โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้และนำส่งให้รัฐ และรัฐจะจ่ายผลตอบแทนให้แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้าง ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาณร่วมลงทุน และเอกชนจะได้รับผลตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมภายใต้กลไกการแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ได้ตกลงกัน

ปัจจุบันโครงการมีความพร้อมในการดำเนินการสูง โดยกรุงเทพมหานคร คาดว่าจะสามารถสรุปผลการศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมได้ ภายในปี 2565 พร้อมเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการภายในปี 2566 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้ภาคเอกชนยื่นข้อเสนอประมูลได้ ในช่วงปี 2567 – 2568 ใช้เวลาก่อสร้าง ทั้งสิ้นประมาณ 4 ปี ระหว่าง ปี 2569-2572 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2573

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งต่อผู้โดยสารให้กับระบบขนส่งมวลชนหลัก และช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางระบบรางให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.greyline-ppp.com


รถไฟฟ้าสายสีเทา