ยาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลน ? สาธารณสุขมีเท่าไร ให้ใครใช้บ้าง

ฟาวิพิราเวียร์

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชมรมแพทย์ชนบท ออกมาสะท้อนปัญหาขาดแคลนยาฟาวิพิราเวียร์ จนร้อนไปถึงหน่วยงานต้นเรื่องทั้งนำเข้าและผลิตอย่าง องค์การเภสัชกรรม ต้องออกมายืนยันว่า “ยามีเพียงพอ”

วันที่ 29 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถือเป็นการตอกย้ำปัญหาระบบสาธารณสุขของไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 อีกครั้ง หลังชมรมแพทย์ชนบท หนึ่งในกลุ่มผู้ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และรับรู้สถานการณ์หน้างานจริง ๆ ได้ออกมาสะท้อนปัญหาการขาดแคลนยาฟาวิพิราเวียร์อีกเป็นครั้งที่สอง หลังก่อนหน้านี้ ได้ออกมาสะท้อนปัญหาดังกล่าวแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ครั้งนี้ ชมรมแพทย์ฯ ได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ออกมาบอกรายละเอียดถึงเหตุผลที่ยาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลนอย่างมากในขณะนี้ ว่าเกิดจากอะไร การนำเข้าเคมีภัณฑ์สะดุดหรือไม่ ผลิตเม็ดยาได้สัปดาห์ละกี่เม็ด มีอัตราคงที่หรือไม่ ราคาผลิตเองเม็ดละเท่าไร

อีกทั้งกระแสข่าวที่ว่าองค์การเภสัชจะเลิกผลิตเอง และจะนำเข้าอย่างเดียวจริงหรือไม่ เพราะอะไร และขณะนี้มีการนำเข้ามาสัปดาห์ละกี่เม็ด ราคาเม็ดละเท่าไร รวมแล้วแต่ละสัปดาห์จะสามารถกระจายฟาวิพิราเวียร์ ได้กี่เม็ด และจะมีวิธีการกระจายอย่างไร

ก่อนทิ้งท้าย ไว้ว่า “รอบนี้อย่าบอกนะว่า ยาฟาวิมีเพียงพอ ปัญหามีไว้แก้ ขอแค่บอกความจริงกับสังคม แล้วแก้ปัญหาไปด้วยกัน”

รพ.รัฐ-เอกชน ยันฟาวิพิราเวียร์ไม่พอ

ล่าสุด โรงพยาบาลศูนย์ในหลายจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน ได้ออกมาสะท้อนปัญหา ยาฟาวิพิราเวียร์ไปในทิศทางเดียวกันกับชมรมแพทย์ฯว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีจำนวนไม่เพียงพอจริง ๆ โดยสังเกตตัวเลขการใช้ยามีจำนวนมากขึ้น หลัง สธ.ปรับแนวทางการ “เจอ แจก จบ” ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ก็ได้รับคำชี้แจงว่า ผลิตไม่ทัน

ขณะเดียวกัน รายงานข่าวจากองค์การเภสัชกรรมให้ข้อมูลว่า ได้สต๊อกวัตถุดิบสำหรับการผลิตฟาวิพิราเวียร์ไว้มากพอระดับหนึ่ง แต่ด้วยสถานการณ์เมื่อช่วงปลายปีที่คลี่คลายลง จึงตัดสินใจชะลอการผลิตไว้ก่อน แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีดกลับขึ้นมาเมื่อช่วงต้นปี 2565 ก็ได้เร่งผลิตให้ทันกับความต้องการมากขึ้น

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ขององค์การเภสัชฯทำได้ประมาณ 15 ล้านเม็ด/สัปดาห์ ขณะที่อัตราการใช้อยู่ที่ประมาณ 15-20 ล้านเม็ด

แผนจัดหา-ผลิต-สำรอง รวม 143.5 ล้านเม็ด

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (วันที่ 28 มี.ค.65) ถึงแผนการจัดหาและผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2565 รวมทั้งสิ้น 120.3 ล้านเม็ด โดยมีรายละเอียดและไทม์ไลน์ ดังนี้

  • วันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 2565 : ผลิตและจัดหารวม 7.6 ล้านเม็ด
  • วันที่ 1-28 มีนาคม 2565 : ผลิตและจัดหารวม 66.1 ล้านเม็ด
  • วันที่ 29 มีนาคม -2 เมษายน 2565 : ผลิตและจัดหารวม 15 ล้านเม็ด
  • วันที่ 3-9 เมษายน 2565 : ผลิตและจัดหารวม 11.6 ล้านเม็ด
  • วันที่ 10-16 เมษายน 2565 : ผลิตและจัดหารวม 20 ล้านเม็ด

ขณะที่จำนวนการสำรองยา รวมทั้งสิ้น 23,282,600 เม็ด ประกอบด้วย องค์การเภสัชกรรม 393,262 เม็ด เขตสุขภาพที่ 1-12 รวม 17,753,301 เม็ด และเขตสุขภาพที่ 13 รวม 5,136,037 เม็ด

ทั้งนี้ หากรวมจำนวนแผนการจัดหาและผลิต รวมกับจำนวนการสำรองยา จะรวมเป็นทั้งสิ้น 143,582,600 เม็ด

“ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนดูไทม์ไลน์การนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์เมื่อช่วงปี 2564 ก่อนที่องค์การเภสัชจะเป็นผู้ผลิตเองคู่ขนานไปกับการนำเข้า เนื่องจากยาจะมีราคาถูกลงกว่านำเข้าจากต่างประเทศ

ไทม์ไลน์นำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์

แผนการจัดหาและส่งมอบยาฟาวิพิราเวียร์ล่าสุด เมื่อช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 20.1 ล้านเม็ด โดยมีไทม์ไลน์การนำเข้าดังนี้

  • วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 : ส่งมอบ 3.5 ล้านเม็ด
  • วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 : ส่งมอบ 3.1 ล้านเม็ด
  • วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 : ส่งมอบ 5.5 ล้านเม็ด
  • วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 : ส่งมอบ 4 ล้านเม็ด
  • ปลายเดือนสิงหาคม 2564 : ส่งมอบ 2 ล้านเม็ด
  • ปลายเดือนกันยายน 2564 : ส่งมอบ 2 ล้านเม็ด

อภ.ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์

แม้จะมีไทม์ไลน์การนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ชัดเจน แต่ด้วยสถานการณ์โควิดเมื่อช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยาเป็นจำนวนมาก

กระทั่ง วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการ วิจัย พัฒนา และผลิต ยาฟาเวียร์ (200 มิลลิกรัมต่อเม็ด) มีชื่อสามัญทางยา คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) โดยได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว

เริ่มผลิตและกระจายให้ผู้ป่วยได้ใช้ในต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยในระยะแรกผลิตได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 2 ล้านเม็ด และจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การผลิตยาดังกล่าวขององค์การเภสัช จะทำให้ราคายาถูกลงกว่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และส่งผลให้รัฐบาลประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ

คาดผลิต 40 ล้านเม็ดต่อเดือน

ต่อมา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า มีการปรับแผนขยายการผลิตเพิ่มเพื่อลดการจัดหาจากต่างประเทศ โดยในเดือนสิงหาคม 2564 จะดำเนินการผลิตแบบบรรจุแผง จำนวน 2.5 ล้านเม็ด และจะเพิ่มการผลิตแบบบรรจุใส่ขวด

นายแพทย์วิฑูรย์ คาดว่าจะได้รับอนุมัติแบบบรรจุขวด จาก อย. ภายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ในเดือนกันยายนจะผลิตยาได้ จำนวน 23 ล้านเม็ด และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้น ไปจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านเม็ดต่อเดือน

ยืนยัน ฟาวิพิราเวียร์ มีเพียงพอ

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ที่ชมรมแพทย์ชนบท ได้ออกมาสะท้อนปัญหาครั้งแรกว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ในขณะนี้ขาดแคลนอย่างหนัก ท่ามกลางการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน หลายโรงพยาบาล แทบจะไม่มียาจ่ายให้ผู้ป่วย หรือต้องจำกัดการจ่ายยา

กระทั่ง องค์การเภสัชกรรม ได้ออกมายืนยันว่า มียาเพียงพอ มีการบริหารจัดการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยในขณะนี้ มีการสำรอง 24 ล้านเม็ด และผลิตเพิ่มเติมอีก 60 ล้านเม็ด รวมการสำรองทั้งสิ้น 84 ล้านเม็ด เพื่อกระจายสู่หน่วยบริการแม่ข่ายอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีสำรองไว้ที่หน่วยบริการต่าง ๆ ทั่วประเทศ อีกจำนวนหนึ่ง

ผู้ป่วยกลุ่มไหน ได้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิดทุกคนจะได้รับการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น โดยแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษา ผู้ป่วยโควิด จากกรมการแพทย์ (ฉบับปรับปรุง 1 มี.ค.65) ได้แบ่งลักษณะอาการ กับการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ไว้ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 : ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี : จ่ายยาฟ้าทะลายโจร
  • กลุ่มที่ 2 : ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ : จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์
  • กลุ่มที่ 3 : ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสามัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบเล็กน้อย ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน : จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์, ยาโมลนูพิราเวียร์, ยาเรมเดซิเวียร์ หรือ ยาเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์
  • กลุ่มที่ 4 : ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบที่มี Hypoxia หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน ของค่าที่วัดได้ขณะออกแรงหรือภาพรังสีทรวงอกมี progression ของ pulmonary infiltrates : จ่ายยาเรมเดซิเวียร์ หรือ ยาโมลนูพิราเวียร์

การออกมาสะท้อนปัญหาการขาดแคลนยาฟาวิพิราเวียร์ ของชมรมแพทย์ชนบทครั้งที่สอง ไม่ใช่การแจ้งปัญหาเพื่อทราบเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความชัดเจนในการสื่อสารข้อมูลกับประชาชน ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อรับทราบ แต่ยังเป็นการวางแผนการช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิด ของหมอ และพยาบาลทั่วประเทศให้ได้ทันเวลา