เปิดรายงานแอมเนสตี้ 8 ประเด็น คุกคามสิทธิมนุษยชนไทย

การใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การดำเนินคดี 112 ไปจนถึงคดีถุงคลุมหัว เป็นประเด็นคุกคามสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏในรายงานประจำปีของแอมเนสตี้ฯ

วันที่ 29 มีนาคม 2565 องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2021 พร้อมกันทั่วโลก จากการรวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกว่า 150 ประเทศ รวมถึงไทย

บีบีซีไทยรายงานสรุปรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยของแอมเนสตี้ใน 8 ประเด็น ดังนี้

– กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุม: ปี 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นกว่า 1,500 ครั้ง เพื่อเรียกร้องให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุม ปรับปรุงมาตรการรับมือโควิด-19 ระหว่างการชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ส.ค. 2564 มีเยาวชนชายอายุ 15 ปี ถูกยิงบริเวณลำคอจนเป็นอัมพาตและต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลนาน 3 เดือนก่อนจะเสียชีวิต และมีเยาวชนอีก 2 คน อายุ 14 และ 16 ปี บาดเจ็บจากกระสุนปืนเช่นกัน แม้ตำรวจปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุม แต่แอมเนสตี้ฯ ระบุในรายงานว่า “เจ้าหน้าที่มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมบริเวณสถานีตำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ”

– จับ-ขัง แกนนำ “ราษฎร” : ช่วงปี 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างน้อย 1,460 คน และแกนนำผู้ชุมนุม เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงศ์ จาดนอก อาจต้องเผชิญโทษจำคุกตลอดชีวิตหากศาลเห็นว่ามีความผิด หลายคนถูกควบคุมตัวโดยพลการและไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี

– คดี “อัญชัญ” : ทางการไทยกลับมาใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวางอีกครั้ง โดยระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย. มีผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ต่ำกว่า 116 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 3 คน รวมทั้งวัยรุ่นหญิงอายุ 14 และ 15 ที่ถูกดำเนินคดีจากการเผาพระบรมฉายาลักษณ์

นอกจากนี้ศาลยังตัดสินจำคุก 87 ปี อดีตข้าราชการหญิงที่รู้จักกันในชื่อ “อัญชัญ” จากการแชร์คลิปเสียงในโซเชียลมีเดีย แต่ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่งเพราะจำเลยรับสารภาพ

– คดีผู้กำกับโจ้: นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ เสียชีวิตภายในสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์จากการถูกทรมานโดยกลุ่มตำรวจ นำโดย พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์ มีหลักฐานจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นภาพตำรวจใช้ถุงพลาสติกสีดำคลุมศีรษะนายจิระพงศ์เพื่อทรมานระหว่างถูกซักถามเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด จนนายจิระพงศ์ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564

– ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย: เดือน ก.ย. 2564 รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในไทย แต่แอมเนสตี้ฯ ยังเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น ไม่ครอบคลุมการทรมานและการบังคับให้สูญหายโดยความรู้เห็นเป็นใจของรัฐ

– ส่งกลับนักข่าวเมียนมา-ผลักดันชาวกะเหรี่ยง: ภายหลังเหตุรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 1 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าว 3 คนที่หลบหนีเข้ามาไทยถูกทางการไทยจับกุมในข้อหาลักลอบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังผลักดันชาวกะเหรี่ยงนับพันคนที่หลบหนีการทิ้งระเบิดทางอากาศของกองทัพเมียนมาให้ข้ามฝั่งกลับประเทศ

– โควิดในเรือนจำ: ความแออัดและขาดสุขอนามัยในเรือนจำ ทำให้มีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 มากถึงกว่า 87,000 คน และเสียชีวิตอย่างน้อย 185 คน

– สิทธิการทำแท้ง: รัฐสภาเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ ส่งผลให้การทำแท้งในกรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ถูกกฎหมาย และยังมีการลดโทษจำคุกผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ภายหลังอายุครรภ์ครบไตรมาสแรก แต่การทำแท้งหลังอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ยังคงเป็นความผิดอาญา

ส่วนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระดับโลกในช่วงปี 2564 นายเอร์วิน วาน เดอ บอร์ก รักษาการผู้อำนวยการแอมเนสตี้ สำนักงานเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สรุปประเด็นปัญหาที่สำคัญ ดังนี้

– โควิด-19: ผลกระทบจากการระบาดใหญ่รุนแรงขึ้นเพราะผู้นำทางการเมืองและบรรษัทยักษ์ใหญ่ยังคงเห็นผลกำไรและอำนาจของตนสำคัญกว่าประชาชน รัฐบาลไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่จะฟื้นฟูคุณภาพชีวิตหลังการระบาดใหญ่ทำให้ความไม่เท่าเทียมหยั่งรากลึกมากขึ้น บริษัทยาขนาดใหญ่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐหลายพันล้านเหรียญ แต่ยังคงให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน

– โลกร้อน: การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ปี 2564 ไม่ประสบผลสำเร็จ รัฐต่าง ๆ ไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับพันธกิจที่จะรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศา ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรโลกกว่าครึ่งพันล้านคน ที่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศซีกโลกฝ่ายใต้

– ความขัดแย้งและความรุนแรง: คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติไม่สามารถแก้ไขปัญหาความทารุณโหดร้ายในเมียนมา การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถาน และอาชญากรรมสงครามในซีเรียได้ และการขาดความรับผิดของรัฐมหาอำนาจเป็นสาเหตุสนับสนุนให้เกิดการรุกรานของรัสเซียในยูเครน

– การปราบปรามความเห็นต่าง: รัฐบาลใช้เครื่องมือและยุทธวิธีเพื่อปราบปรามความเห็นต่างอย่างกว้างขวางและรุนแรงมากขึ้น นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ องค์กรสื่อและผู้นำฝ่ายค้าน ต่างตกเป็นเป้าหมายการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การทรมานและการบังคับให้สูญหาย มีอย่างน้อย 67 ประเทศที่ประกาศใช้กฎหมายใหม่ในปี 2564 เพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบและการสมาคม