เปิดตำนานวันสงกรานต์ พร้อมที่มานางสงกรานต์ทั้งเจ็ด

รู้จักนางสงกรานต์ทั้ง 7
การแสดง ระบำนางสงกรานต์ เนื่องในสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย เมื่อปี 2559 ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

รู้หรือไม่ “วันสงกรานต์-นางสงกรานต์ทั้ง 7” มาจากไหน? แต่ละคนรูปลักษณ์เป็นอย่างไร 

วันที่ 1 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 วันปีใหม่ไทย ซึ่งตามธรรมเนียมนอกจากการสาดน้ำ ทำบุญไหว้พระ ขอพรญาติผู้ใหญ่แล้ว อีก 1 สิ่งที่กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญคือ การประกาศนางสงกรานต์ประจำปี

ซึ่งในปีนี้ นางสงกรานต์มีนามว่า กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอ พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จยืนมาเหนือหลังกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ วันที่ 16 เมษายน เวลา 13 นาฬิกา 49 นาที 48 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1384 ปีนี้ วันพุธ เป็นธงชัย, วันอังคาร เป็นอธิบดี, วันอังคาร เป็นอุบาทว์, วันพฤหัสบดี เป็นโลกาวินาศ

เนื่องจากท่านเกิดตรงกับวันอาทิตย์ จึงทำนายว่า จะบันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า นาคให้น้ำ 4 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 2 ชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดกิมิชาติ (ด้วงและแมลง) จะได้ผลกึ่งเสียกึ่ง เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีเตโช (ไฟ) น้ำน้อย

นางกิริณีเทวี นางสงกรานต์ประจำปี 2565 ภาพจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

เนื่องในโอกาสใกล้เข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองอย่างชุ่มช่ำของคนไทย “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปสำรวจตำนานนางสงกรานต์และวันสงกรานต์กัน

ปฐมบทสงกรานต์

เว็บไซต์กรมศิลปากร ระบุว่า ตำนานวันสงกรานต์เริ่มต้นในสมัยก่อนพุทธกาล มีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง อายุเลยวัยกลางคนก็ยังไร้ทายาทสืบสกุล ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก พยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึง 3 ปี ก็ไม่ได้บุตรดังที่ตนปรารถนา

จนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ เศรษฐีพาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำที่อาศัยของนกทั้งหลาย เศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง 7 ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร

เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ “ธรรมบาล” ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง 7 ชั้น ถวายเทพต้นไทร

เศรษฐีขอลูกกับพระอินทร์ ภาพจากเว็บไซต์ https://sites.google.com/site/rutanansubsanwathnthrrm/peing-s-ngk-ran

กบิลพรหม ดวลปัญญา 3 ข้อ

ตำนานเล่าต่อไปว่า เมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยขึ้น กิตติศัพท์ลือเลื่องไปทั่วแคว้นว่า เป็นเด็กน้อยที่มีปัญญาเฉียบแหลม รอบรู้ และสามารถสำเร็จคัมภีร์ไตรเวทได้ในวัยเพียง 7 ปีเท่านั้น

กิตติศัพท์ดังกล่าวระบือไปเข้าหู ท้าวกบิลพรหม จึงเกิดแนวคิดท้าประลองปัญญากับเด็กน้อยด้วยคำถาม 3 ข้อ ได้แก่

  1. ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด
  2. ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด
  3. ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด

หากกุลบุตรสามารถตอบทั้ง 3 คำถามนี้ได้ ท้าวกบิลพรหมจะเอาศีรษะเป็นเดิมพันไว้บูชาธรรม แต่หากไม่สามารถตอบคำถามได้ เด็กน้อยต้องถูกกุดหัว ซึ่งหลังจากได้ฟังคำถาม ธรรมบาลกุมารขอผลัดการตอบคำถามไปอีก 7 วัน

เมื่อล่วงเข้าสู่วันที่ 6 เด็กน้อยไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล บนต้นตาลมีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่

นางนกถามสามีว่า “พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน”

นกสามีก็ตอบว่า “พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้”

นางนกถามว่า “ปัญหานั้นว่าอย่างไร”

นกสามีตอบว่า ปัญหามีอยู่ 3 ข้อ และหมายถึง
ข้อหนึ่ง ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า
ข้อสอง ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก
ข้อสาม ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน

กุมารน้อยจึงจดจำคำตอบของนกผัวเมียจนขึ้นใจ แล้วไปตอบท้าวกบิลพรหม จนเป็นผู้ชนะในที่สุด ท้าวกบิลพรหมต้องสละศีรษะตามเดิมพัน

ท้าวกบิลพรหมท้าประลองปัญญากับ ธรรมบาลกุมาร ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Komkid world

ตำนาน 7 นางสงกรานต์

หลังแพ้พนัน ท้าวกบิลพรหมได้เรียกธิดาทั้ง 7 ซึ่งประทับบนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ 1 ในทั้งหมด 6 ชั้น) ลงมาสั่งความ

เนื่องจากท้าวกบิลพรหมเป็นเทพที่มีฤทธิ์มาก หากตัดศีรษะแล้ววางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้ง ฟ้าฝนจะหายไปสิ้น และถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งเหือดหมดสิ้น

จึงสั่งให้ลูกสาวทั้ง 7 เอาพานมารองรับศีรษะก่อน แล้วจึงตัดศีรษะส่งให้นางทุงษธิดาคนโต เอาไปแห่ประทักษิณ (เวียนขวา) รอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ พระเวสสุกรรม (พระวิษณุกรรม) เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว 7 ประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา

จากนั้นเทวดาทั้งปวงก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วก็แจกกันเสวยทุก ๆ องค์ ครั้นครบ 365 วัน โลกสมมุติว่าเป็นหนึ่งปีเป็นสงกรานต์ ธิดา 7 องค์ ของเท้ากบิลพรหมก็ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วจึงกลับไปเทวโลก

โดยเกณฑ์กำหนดว่า วันสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ นางสงกรานต์มีทั้งหมด 7 องค์ แนะนำไปแล้วข้างต้น 1 องค์ อีก 6 องค์ ได้แก่

ธิดาทั้ง 7 ของท้าวกบิลพรหม แห่เศียรพระบิดา จิตรกรรมฝาผนังที่วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย ภาพจากมติชนออนไลน์

1. นางสงกรานต์ทุงษเทวี
ทุงษเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ

เบลล่า ราณี แต่งเป็น ทุงษเทวี ภาพจากมติชน

2. นางสงกรานต์โคราดเทวี
โคราดเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)

จุ๋ย วรัทยา แต่งเป็นโคราดเทวี ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Nongchat

3. นางสงกรานต์รากษสเทวี
รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือโลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)

พิงกี้ สาวิกา แต่งเป็น นางรากษสเทวี ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก พิ้งกี้ สาวิกา ไชยเดช

4. นางสงกรานต์มัณฑาเทวี
มัณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือนมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ว้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)

แพนเค้ก เขมนิจ แต่งเป็น นางมัณฑาเทวี ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก หนูน้อยบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ

5. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี
กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ดัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)

กิมิทาเทวี ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

และ 6. นางสงกรานต์มโหทรเทวี
มโหทรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

แต้ว ณฐพร ในชุดของนางสงกรานต์มโหธรเทวี ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Thailand-beauty pageant

นี่คือตำนานของวันสงกรานต์และ 7 นางสงกรานต์ที่เป็นตำนานเล่าขานกันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล